วันพฤหัสบดี ที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2567, 12.29 น.
รถไฟ เดินหน้ารถไฟไฮสปีดเชื่อม 3 สนามบิน
นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยถึงกรณีที่สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) ว่าหากโครงการลงทุนรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินซึ่งล่าช้ามาหลายปีไม่สามารถเดินหน้าต่อกับเอกชนผู้รับงานได้ ก็มีแผนจะเสนอรัฐบาลพิจารณาให้ รฟท.เป็นผู้รับผิดชอบลงทุนในโครงการนี้แทนว่า รฟท.มีความพร้อมรับงานหากเป็นนโยบายจากภาครัฐที่สั่งการให้ รฟท.เป็นผู้รับผิดชอบ ซึ่งขณะนี้ต้องรอดูความชัดเจนจาก สกพอ.ว่าจะดำเนินการอย่างไร ก่อนเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาตัดสินใจในขั้นสุดท้าย คาดว่าจะมีความชัดเจนภายในเดือนมกราคม 2568
ส่วนวงเงินลงทุนก่อสร้างที่สูงถึง 1.2 แสนล้านบาทนั้น เชื่อว่ามิใช่อุปสรรคสำคัญ เพราะหากรัฐบาลพิจารณามอบหมายให้ รฟท.เป็นผู้รับผิดชอบโครงการแล้ว ก็จะต้องพิจารณาในเรื่องของแหล่งเงินลงทุนด้วยว่าจะใช้จากแหล่งใด เช่น งบประมาณ การกู้เงิน เป็นต้น
สำหรับการก่อสร้างนั้น เชื่อว่า รฟท.สามารถใช้การออกแบบเดิมดำเนินการก่อสร้างได้ทันที ไม่ต้องออกแบบใหม่ โดย รฟท.จะเปิดประกวดราคาเพื่อหาผู้รับงานก่อสร้าง เช่นเดียวกับการลงทุนโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน , รถไฟทางคู่ ส่วนเรื่องงานเดินรถนั้นมีความเป็นไปได้ทั้งการใช้รูปแบบรัฐและเอกชนร่วมลงทุน (PPP) หรือให้ รฟท.เดินรถเอง โดยบริษัท รถไฟฟ้า รฟท. จำกัด หรือ รฟฟท. บริษัทลูกที่ รฟท.ถือหุ้น 100% ซึ่งปัจจุบันเป็นผู้ให้บริการเดินรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง
นายวีริศ กล่าวว่า หากรฟท.เป็นผู้ลงทุนโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินเอง ก็ยังจะช่วยปลดล็อคกรณีโครงสร้างร่วมช่วงบางซื่อ-ดอนเมือง ระหว่างรถไฟความเร็วสูง 3 สนามบิน กับรถไฟไทย-จีน เฟสที่ 1 กรุงเทพฯ-นครราชสีมา ซึ่งอยู่ในสัญญาที่ 4-1 ช่วงสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์-ดอนเมืองด้วย หลังจากที่ผ่านมายังไม่สามารถหาข้อยุติได้ว่าฝ่ายใดจะเป็นผู้รับงานก่อสร้างในส่วนนี้
ด้านโครงการรถไฟไทย-จีน เฟสที่ 1 สัญญาที่ 4-5 ช่วงบ้านโพ-พระแก้ว วงเงิน 9,600 ล้านบาท ที่ยังติดประเด็นมรดกโลกนั้น มั่นใจว่าจะมีความชัดเจนภายในเดือนมกราคม 2568 ซึ่งองค์การเพื่อการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) จะส่งผู้เชี่ยวชาญเข้ามาดูพื้นที่ก่อสร้างสถานีอยุธยาในระหว่างวันที่ 18-22 มกราคม 2568 เพื่อประกอบการพิจารณารายงานการประเมินผลกระทบด้านทรัพย์สินทางวัฒนธรรม (HIA) ที่ รฟท.ได้นำส่งให้ยูเนสโกไปก่อนหน้านี้ ขณะที่ผู้รับงาน คือ บริษัท บุญชัยพาณิชย์ (1979) จำกัด ในเครือ บริษัท ซีวิลเอนจิเนียริง จำกัด (มหาชน) หรือ CIVIL นั้น ได้ทำหนังสือยืนยันราคามาเป็นระยะตามกำหนด โดยล่าสุดได้แจ้งยืนราคาจนถึงเดือนมกราคม 2568 ซึ่งรฟท.ประเมินเบื้องต้นว่าน่าจะได้ลงนามในสัญญากับ บริษัท บุญชัยพาณิชย์ฯ ประมาณเดือนกุมภาพันธ์ 2568