วันอาทิตย์ ที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2568 13:05 น.

เศรษฐกิจ

ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างขยายตัว 8 เดือนต่อเนื่อง มกราคม 68 สูงขึ้นร้อยละ 0.3 จากการเร่งดำเนินการโครงการก่อสร้างของภาครัฐ 

วันพุธ ที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2568, 10.02 น.

เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2568  นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (ผอ.สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างเดือนมกราคม 2568 เท่ากับ 112.3 เมื่อเทียบกับเดือนมกราคม 2567 (YoY) สูงขึ้นร้อยละ 0.3 จากการเร่งดำเนินโครงการก่อสร้างของภาครัฐ โดยเฉพาะโครงการด้านคมนาคมที่ดำเนินการในหลายพื้นที่ รวมทั้งค่าขนส่งที่ปรับสูงขึ้นตามราคาน้ำมันดีเซลที่สูงกว่าปีที่ผ่านมา ส่งผลให้ดัชนีราคาส่วนใหญ่ปรับสูงขึ้น ประกอบด้วย หมวดไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ สูงขึ้นร้อยละ 1.0 จากสินค้าสำคัญ ได้แก่ ไม้แบบ ไม้พื้น และบานประตู หมวดผลิตภัณฑ์คอนกรีต สูงขึ้นร้อยละ 1.2 จากสินค้าสำคัญ เช่น เสาเข็มคอนกรีตอัดแรง เสาเข็มคอนกรีตเสริมเหล็ก และคอนกรีตผสมเสร็จ หมวดอุปกรณ์ไฟฟ้าและประปา สูงขึ้นร้อยละ 2.7 จากการสูงขึ้นของราคาสายเคเบิล THW สายส่งกำลังไฟฟ้า NYY และสายไฟฟ้า VCT ที่มีการปรับราคาสูงขึ้นตามราคาทองแดงซึ่งเป็นวัตถุดิบหลัก หมวดวัสดุฉาบผิว สูงขึ้นร้อยละ 0.8 จากการสูงขึ้นของราคาสีทาถนนชนิดสะท้อนแสง และหมวดวัสดุก่อสร้างอื่น ๆ สูงขึ้นร้อยละ 7.3 จากการสูงขึ้นของราคายางมะตอย 

เนื่องจากความต้องการใช้เพิ่มขึ้นเพื่อก่อสร้างและซ่อมแซมถนนในหลายพื้นที่ สำหรับหมวดสินค้าสำคัญ ที่ดัชนีราคาลดลง ได้แก่ หมวดเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก ลดลงร้อยละ 3.2 จากการลดลงของราคาเหล็กโครงสร้างรูปพรรณ เช่น เหล็กเส้นกลมผิวเรียบ เหล็กเส้นกลมผิวข้ออ้อย เหล็กฉาก เหล็กรางน้ำ เป็นต้น ที่ยังคงได้รับผลกระทบจากปัญหาวิกฤตอสังหาริมทรัพย์ของจีนเป็นสาเหตุทำให้มีปริมาณเหล็กในตลาดจำนวนมากกดดันให้ราคาเหล็กในเอเชียและในประเทศลดลงอย่างต่อเนื่อง หมวดซีเมนต์ ลดลงร้อยละ 1.6 จากการลดลงของปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ ปูนซีเมนต์ผสม และปูนฉาบสำเร็จรูป เนื่องจากต้นทุนการผลิตลดลงจากราคาถ่านหินปรับลดลงโดยมีสาเหตุจากการเปลี่ยนไปใช้พลังงานสะอาดทดแทนมากขึ้น ทำให้ความต้องการใช้ถ่านหินลดลง ประกอบกับมีการแข่งขันในธุรกิจซีเมนต์สูงมาก นอกจากนี้ ผลกระทบจากปัญหาหนี้ครัวเรือนที่ยังสูงและหนี้เสียที่เพิ่มขึ้น ทำให้สถาบันการเงินมีความเข้มงวดในการอนุมัติสินเชื่อ ส่งผลให้การลงทุนโครงการใหม่ ๆ ชะลอตัว จึงเป็นปัจจัยกดดันให้ดัชนีราคาหมวดกระเบื้อง ลดลงร้อยละ 1.3 จากสินค้าสำคัญ เช่น กระเบื้องเคลือบบุผนัง กระเบื้องเคลือบปูพื้น เป็นต้น รวมทั้งหมวดสุขภัณฑ์ ลดลงร้อยละ 0.9 จากสินค้าสำคัญ เช่น กระจกเงา ฝักบัวอาบน้ำ และราวจับแสตนเลส ที่มีความต้องการใช้ลดลงตามการชะลอตัวของภาคอสังหาริมทรัพย์

นายพูนพงษ์ กล่าวเพิ่มเติมว่าดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างปี 2567 เฉลี่ยทั้งปีหดตัวลงเล็กน้อยที่ร้อยละ 0.2 เนื่องจากสถานการณ์การลงทุนในภาคอสังหาริมทรัพย์ชะลอตัวต่อเนื่องจากหลายปัจจัย เช่น อัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับสูง ภาวะหนี้ครัวเรือนสูง รวมทั้งหนี้เสียที่เพิ่มขึ้น ทำให้สถาบันการเงินเข้มงวดในการอนุมัติสินเชื่อ ส่งผลกระทบต่อการจำหน่ายอสังหาริมทรัพย์ ทำให้การลงทุนโครงการใหม่ ๆ ชะลอตัว อย่างไรก็ตาม คาดว่าในปี 2568 ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างจะมีทิศทางที่ขยายตัวจากการเร่งเบิกจ่ายงบประมาณให้เป็นไปตามแผน ทำให้การก่อสร้างที่เกี่ยวกับโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ของภาครัฐเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง อาทิ โครงการรถไฟความเร็วสูง โครงการรถไฟฟ้า โครงการทางด่วนพิเศษ โครงการขยายสนามบิน เป็นต้น รวมทั้งอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยที่ลดลงกว่าปีที่แล้ว ทำให้สถานการณ์อสังหาริมทรัพย์ในประเทศมีแนวโน้มฟื้นตัว จะเป็นปัจจัยส่งผลให้ความต้องการใช้สินค้าวัสดุก่อสร้างเพิ่มมากขึ้น