วันพุธ ที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2568 03:03 น.

เศรษฐกิจ

บวท.เร่งเพิ่มศักยภาพรับนักท่องเที่ยว ดันขยายตลาดการบิน ไทย-ญี่ปุ่น

วันศุกร์ ที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2568, 07.21 น.

บวท.เร่งเพิ่มศักยภาพรับนักท่องเที่ยว ดันขยายตลาดการบิน ไทย-ญี่ปุ่น

      

นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ได้มอบหมายให้ บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด (บวท.) เร่งขยายความสามารถในการรองรับปริมาณเที่ยวบิน เพื่อให้สามารถรองรับปริมาณการจราจรทางอากาศที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดย บวท. ศึกษาแนวทางเกี่ยวกับการเพิ่มประสิทธิภาพและขีดความสามารถในการรองรับเที่ยวบินของสนามบินภูเก็ต ซึ่งเป็นสนามบินที่มีเที่ยวบินหนาแน่นเป็นอันดับที่ 3 ของประเทศ รองจากสนามบินสุวรรณภูมิ และสนามบินดอนเมือง มีความสามารถในการรองรับของทางวิ่ง 25 เที่ยวบิน/ชั่วโมง และได้เลือกสนามบินฟูกูโอกะ ซึ่งเป็นสนามบินหลักของภูมิภาคคิวชู ประเทศญี่ปุ่น เป็นคู่เทียบและแบบอย่าง เนื่องจากมีลักษณะทางกายภาพใกล้เคียงกับสนามบินภูเก็ตและสนามบินหลักของภูมิภาคอื่น ๆ ในประเทศไทย 

 

 

         

อย่างไรก็ตาม สนามบินฟูกูโอกะ เดิมเป็นสนามบินที่มีทางวิ่งเส้นเดียว (Single Runway) ที่มีความสามารถในการรองรับเที่ยวบินได้สูงที่สุดของญี่ปุ่น โดยรองรับได้ถึง 38 เที่ยวบิน/ชั่วโมง และขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการก่อสร้างทางวิ่งเส้นที่ 2 และปรับปรุงอาคารผู้โดยสาร ปัจจุบันปริมาณเที่ยวบินจากฟูกูโอกะมายังสนามบินในประเทศไทยเติบโตอย่างต่อเนื่อง ประกอบด้วย สนามบินสุวรรณภูมิ และสนามบินดอนเมือง โดยมี 3 สายการบิน ซึ่งมีตารางการบินล่วงหน้า 

          

ด้านนายพิเชฐ คุณาธรรมรักษ์  อธิบดีกรมขนส่งทางราง (ขร.)  ในฐานะประธานคณะกรรมการ  บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด (บวท.) กล่าวว่า การศึกษาดูงานสนามบินฟูกูโอกะ ซึ่งมีปริมาณเที่ยวบินหนาแน่นเป็นอันดับที่ 4 ของประเทศญี่ปุ่น ในครั้งนี้ บวท.จะนำรูปแบบและแนวทางการบริหารจัดการการจราจรทางอากาศ ทั้งลักษณะการบริหารจัดการห้วงอากาศ การบริหารจัดการลักษณะทางกายภาพของสนามบิน อาทิ ทางวิ่ง ทางขับ ลานจอดอากาศยาน อาคารผู้โดยสาร อาคารผู้โดยสาร และการบริหารจัดการการใช้งานทางวิ่งของสนามบินฟูกูโอกะ เพื่อเป็นแนวทางในการปรับปรุง แก้ไขรูปแบบ และแนวทางการบริหารจัดการการจราจรทางอากาศของสนามบินภูเก็ต และสนามบินภูมิภาคอื่น ๆ รวมถึงการวิเคราะห์หาค่าขีดความสามารถในการรองรับเที่ยวบิน เพื่อให้สนามบินภูเก็ต และสนามบินภูมิภาคอื่น ๆ สามารถเพิ่มความสามารถในการรองรับของเที่ยวบินได้มากขึ้นอย่างมีประสิทธิภาพและปลอดภัยสูงสุด

          

นายณพศิษฏ์ จักรพิทักษ์  กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย (บวท.)  กล่าวถึงเที่ยวบินขนส่งสินค้าและเที่ยวบินรับ-ส่งผู้โดยสาร ได้แก่ การบินไทย ไทยแอร์เอเชีย และไทยเวียตเจ็ท ทั้งนี้ ประเทศไทยได้เตรียมขยายตลาดทางการบินรองรับนักท่องเที่ยวจากญี่ปุ่น ซึ่งบวท. จำเป็นต้องศึกษาแนวทางที่เหมาะสมที่สุดในการเพิ่มศักยภาพและยกระดับการให้บริการการเดินอากาศ เพื่อเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญในการสร้างประโยชน์และสร้างความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจให้ประเทศชาติ มุ่งสู่การเป็นศูนย์กลางการบินในภูมิภาคต่อไป

           

สำหรับปริมาณเที่ยวบินระหว่างประเทศ ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2567 – มกราคม 2568 (4 เดือน) มีปริมาณเที่ยวบินรวม 165,474 เที่ยวบิน เพิ่มขึ้น 23% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเที่ยวบินระหว่างประเทศไทย-ญี่ปุ่น มีปริมาณเที่ยวบินรวม 7,588 เที่ยวบิน คิดเป็น 5 % ของเที่ยวบินระหว่างประเทศทั้งหมด โดยประเทศญี่ปุ่น อยู่อันดับที่ 7  ที่ทำการบินเข้า/ออกประเทศไทยสูงสุด ณ ปัจจุบัน ทำการบินเฉลี่ยประมาณวันละ 62 เที่ยวบิน สำหรับสถิติปริมาณเที่ยวบินระหว่างไทย – ฟูกูโอกะ ทำการบินเฉลี่ยวันละ 6 เที่ยวบิน คิดเป็นร้อยละ 10 ของเที่ยวบินระหว่างประเทศไทย – ญี่ปุ่น ทั้งหมด และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในขณะนี้มีหลายสายการบินขอเพิ่มเที่ยวบินไปยังเมืองฟูกูโอกะ ซึ่งมีชื่อเสียงด้านการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจ