วันพฤหัสบดี ที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2568 12:17 น.

เศรษฐกิจ

อินฟอร์มา มาร์เก็ตส์ นำสื่อทั้งไทย-เทศ บุกภาคเหนือโชว์ศักยภาพการใช้เทคโนโลยี พัฒนาสินค้าเกตร

วันอังคาร ที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2568, 17.11 น.

อินฟอร์มา มาร์เก็ตส์ นำสื่อทั้งไทย-เทศ บุกภาคเหนือโชว์ศักยภาพการใช้เทคโนโลยี พัฒนาสินค้าเกตร

สร้างมูลค่าสูง พร้อมจัด2 งานแฟร์ยักษ์ดันสินค้าไทยก้าวสู่ฐานผลิตฟู้ด – ฟังก์ชันนอลฟู้ดระดับโลก

 

 

 

 

อินฟอร์มา มาร์เก็ตส์ นำโดย นางสาวรุ้งเพชร ชิตานุวัตร์ ผู้อำนวยการกลุ่มโครงการภูมิภาคอาเซียน อินฟอร์มา มาร์เก็ตส์ นำคณะสื่อมวลชนจากประเทศ ไทย มาเลยเซีย , ฟิลิปปินส์, อินโดยนีเชีย, เวียดนาม, สิงคโปร์ และ จีน กว่า 50 คน ขึ้นเหนือ เพื่อไปเยี่ยมชม ศักยภาพผู้ประกอบการภาคเหนือ ครบวงจรการผลิต วิจัย พัฒนา เพื่อยกระดับผลิตภัณฑ์ภาคเกษตรไทยให้มูลค่าสูง พร้อมให้ไทยก้าวสู่ฐานผลิตฟู้ด – ฟังก์ชันนอลฟู้ดระดับโลก ซึ่งการเดินทางไปเยี่ยมชมครั้งนี้ ประกอบด้วย 4 หน่วยงาน ระดับเล็ก กลาง และใหญ่ ทั้งภาครัฐบาลและเอกชน ประกอบด้วย

 


บริษัท นพดาซุปเปอร์ฟู้ดส์ จำกัด และกลุ่มบริษัทนพดา ก่อตั้งขึ้นในปีพ.ศ. 2559 โดยคุณนพดา อธิกากัมพู และครอบครัว คุณนพดาเป็นทายาทรุ่นที่ 3 ในธุรกิจค้าขายกระเทียมที่มีประวัติยาวนานถึง 40 ปี และเป็นผู้บุกเบิกการค้นคว้าเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่เหมาะสมเพื่อใช้ในการผลิตกระเทียมดำจากกระเทียมไทย ปัจจุบัน นพดาซุปเปอร์ฟู้ดส์ ดำเนินธุรกิจ ภายใต้วิสัยทัศน์และให้ความสำคัญต่อการสร้างสุขภาวะองค์รวม ทั้งสุขภาพกายเเละใจให้กับผู้คน โดยมุ่งเน้นการใช้นวัตกรรมเพื่อต่อยอดซูเปอร์ฟู้ดส์ เเละสร้างประสบการณ์พิเศษให้ผู้คนได้อยู่ร่วมกันกับคนที่รักได้ยาวนานยิ่งขึ้น นพดาซุปเปอร์ฟู้ดส์ จึงไม่ใช่ผู้พัฒนานวัตกรรมกระเทียมดำไทยเพียงอย่างเดียว หากแต่เป็นองค์กรที่มุ่งเน้นการคิดค้น พัฒนา และต่อยอด “ซูเปอร์ฟู้ดส์” เพื่อเสริมสร้างความสัมพันธ์และประสบการณ์ชีวิตที่มีความหมาย

 

 


บริษัทต่อมาคือ บริษัท เชียงใหม่ เฮลตี้ โปรดักส์ จำกัด มีการบริหารงานในรูปแบบธุรกิจครอบครัว ภายใต้การนำของ คุณสงวน เรืองศิริ ด้วยประสบการณ์มากกว่า 40 ปี ปัจจุบัน เชียงใหม่ เฮลตี้ โปรดักส์ คือหนึ่งในผู้นำในอุตสาหกรรมน้ำผึ้งและการเลี้ยงผึ้งในประเทศไทยแบบครบวงจร เป็นบริษัทที่มีจำหน่ายอุปกรณ์การเลี้ยงผึ้งแก่เกษตรกรผู้เลี้ยงผึ้งทั่วประเทศ มีการรับซื้อวัตถุดิบและแปรรูปสินค้าจากผึ้งทุกชนิด รวมไปถึงการรับจ้างพัฒนาและผลิตสินค้า OEM และจำหน่ายสินค้าภายใต้แบรนด์ “ฟอร่า บี” (Fora Bee) ทั้งในและต่างประเทศ

 


สำหรับธุรกิจขนาดใหญ่คือบริษัท ซันสวีท จำกัด (มหาชน) ดำเนินธุรกิจผลิตและจำหน่ายข้าวโพดหวานแปรรูป และผลิตภัณฑ์แปรรูปสินค้าเกษตรอื่น ๆ ครบวงจร ด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัยและมีความเป็นสากล ภายใต้ตราสินค้าของบริษัท “KC” และผลิตตามคำสั่งลูกค้า รองรับการส่งออกตลาดต่างประเทศ และตลาดในประเทศ รวมทั้งธุรกิจจัดหาและซื้อมาจำหน่ายไปซึ่งผลิตภัณฑ์อาหารและผลผลิตทางการเกษตร ปัจจุบัน ซันสวีท และบริษัทย่อยจำหน่ายผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ให้แก่กลุ่มลูกค้า ซึ่งกระจายอยู่มากกว่า 50 ประเทศ เช่น ญี่ปุ่น เกาหลี ไต้หวัน รัสเซีย ซาอุดิอาระเบีย สวิสเซอร์แลนด์ เยอรมนี เลบานอน ตุรกี อิหร่าน เป็นต้น

 

 

 


จากนั้นนำสื่อมวลชนไปดูเทคโนโลยี ในการวิจัยและพัฒนาที่ ศูนย์ทดสอบดัชนีน้ำตาล (Glycemic Index Center – GIC) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยความร่วมมือระหว่างศูนย์นวัตกรรมอาหารและบรรจุภัณฑ์ (Food Innovation and Packaging Center) และสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สุขภาพ จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนงานวิจัยและพัฒนานวัตกรรมอาหาร เพื่อสุขภาพที่ได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติ

 


ศูนย์ GIC มุ่งเน้นการเป็นศูนย์กลางในการให้บริการวิเคราะห์ค่าดัชนีน้ำตาล (Glycemic Index – GI) อย่างครบวงจร ด้วยกระบวนการที่ได้มาตรฐานสากล ทั้งในรูปแบบ In vitro: การย่อยในหลอดทดลอง และ In vivo: การทดลองในอาสาสมัคร เพื่อประเมินผลกระทบของผลิตภัณฑ์ต่อระดับน้ำตาลในเลือดอย่างแม่นยำ สำหรับการพัฒนาอาหารสุขภาพที่เหมาะสมกับผู้ป่วย โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) เช่น โรคเบาหวาน

 


บริการหลักของศูนย์ GIC ประกอบด้วย: 1. การทดสอบค่า GI ในผลิตภัณฑ์อาหาร 2. การทดสอบทางคลินิกเพื่อการกล่าวอ้างเชิงสุขภาพ 3. การให้คำปรึกษาและสนับสนุนงานวิจัยด้านอาหารเชิงนวัตกรรม ทั้งนี้ ศูนย์ GIC อยู่ระหว่างการดำเนินการขอรับรองมาตรฐาน ISO 26642:2010 ซึ่งเป็นระบบคุณภาพสำหรับการวิเคราะห์ค่าดัชนีน้ำตาล โดยมีเพียงไม่กี่แห่งในโลกที่ได้รับการรับรอง และยังได้จับมือกับ Clinical Nutrition Research Centre (CNRC) ประเทศสิงคโปร์ เพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และเสริมสร้างเครือข่ายการพัฒนาร่วมกัน

 


นางสาวรุ้งเพชร กล่าวเพิ่มเติมว่า ข้อมูลจากสถาบันด้านสุขภาพสากล หรือ Global Wellness Institute (GWI) ทำการประเมินภาพรวมของเศรษฐกิจด้านการดูแลสุขภาพทั่วโลก มีแนวโน้มขยายตัวอย่างสูงถึง 8.6% ต่อปี จนถึงปี 2570 โดยมูลค่าตลาดที่ GWI ประเมินนั้นสูงกว่า 8.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือ คิดเป็นเงินไทยประมาณ 306 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นเกือบ 2 เท่าเมื่อเทียบกับปี 2562 ซึ่งเป็นการขยายตัวที่สูงกว่าการเติบโตของเศรษฐกิจโลก ขณะที่ประเทศไทย ภาครัฐตั้งเป้าหมายที่จะเป็นฮับสุขภาพนานาชาติ คาดว่ารายได้จากธุรกิจ Health & Wellness จะมีไม่ต่ำกว่า 8 แสนล้านบาท ในปี 2570

 

 

 


อย่างไรก็ตาม แม้ว่าประเทศไทยจะเผชิญกับปัญหาการตั้งกำแพงภาษีกีดกันของสหรัฐอเมริกาเช่นกันกับทุกประเทศที่กำลังมีการเจรจาอยู่ในขณะนี้ เชื่อว่าหากทุกภาคส่วนไม่ว่าจะเป็นผู้ประกอบการ หน่วยงานวิจัยและพัฒนา หน่วยงานต่าง ๆ จากภาครัฐที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ได้เตรียมตัวให้พร้อมในการผลิตแปรรูปสินค้าจากภาคเกษตรของไทย ซึ่งถือเป็นแหล่งผลิตชั้นดี ให้มีมูลค่าเพิ่มที่สูงขึ้นจากการแปรรูปด้วยนวัตกรรมเทคโนโลยีใหม่ ๆ เชื่อว่าวัตถุดิบในธุรกิจเสริมอาหารหลายอย่างจากประเทศไทยจะมีโอกาสทางการค้ากับประเทศอื่น ๆ ได้ด้วย เช่น ประเทศทางฝั่งยุโรป เอเชีย และภูมิภาคอื่น ๆ ทั่วโลก โดยที่ไม่ได้พึ่งพิงในตลาดใดตลาดหนึ่ง

 


ทั้งนี้ เพื่อแสดงให้เห็นศักยภาพผู้ประกอบการ โดยเฉพาะในภูมิภาคต่าง ๆ ของประเทศไทย ซึ่งเป็นแหล่งผลิตสินค้าการเกษตร เกษตรแปรรูป ที่สามารถนำไปทำสารสกัดที่มีมูลค่าสูงได้ ซึ่งในปัจจุบันภาครัฐ และสถาบันการศึกษาในภูมิภาคต่างมีความพร้อมให้การสนับสนุน และพร้อมในการเป็นศูนย์กลางการวิจัยและพัฒนาร่วมกันไปกับผู้ประกอบการ หากทุกภาคส่วนจับมือไปด้วยกันทำให้สินค้าไทย จากภูมิปัญญาของคนไทยในแต่ละภูมิภาคสามารถต่อยอดไปสู่ระดับสากลได้ สำหรับโชว์เคสในภาคเหนือของประเทศไทยก็เช่นกัน เป็นกลุ่มผู้ประกอบการในลักษณะของ Processing Food ที่สามารถผลิตและส่งออกได้เลย อินฟอร์มา มาร์เก็ตส์ ได้เล็งเห็นศักยภาพของผู้ประกอบการจึงได้จัดงาน ‘Northern Food Ingredients and Nutrition Expo’ เพื่อยกระดับธุรกิจส่วนผสมอาหารและผลิตภัณฑ์เสริมอาหารจากภาคเหนือของไทยสู่เวทีโลก พร้อมกับการแสดงผลงาน พบปะกับผู้ลงทุนและผู้ประกอบการ ทั้งจากในประเทศไทยและทั่วโลกกับงาน ‘Fi Asia Thailand 2025’ และ ‘Vitafoods Asia 2025’ ซึ่งทั้ง 2 งานนี้จัดร่วมกันในพื้นที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ (QSNCC) ระหว่างวันที่ 17 – 19 กันยายน 2568 นี้