วันพฤหัสบดี ที่ 8 พฤษภาคม พ.ศ. 2568 12:07 น.

เศรษฐกิจ

กขค. เปิด OECD Peer Review ดันแข่งขันไทย สู่มาตรฐานสากล

วันพุธ ที่ 07 พฤษภาคม พ.ศ. 2568, 07.01 น.

กขค. เปิด OECD Peer Review ดันแข่งขันไทย สู่มาตรฐานสากล

 

 

 

 สำนักงานคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า (สำนักงาน กขค.) จัดประชุมระหว่างประเทศในหัวข้อ “OECD Competition Peer Review พัฒนาเศรษฐกิจผ่านแนวคิดการแข่งขัน” เพื่อเผยแพร่ผลงานการประเมินผลสัมฤทธิ์และประสิทธิผลของกฎหมายการแข่งขันทางการค้าฉบับปัจจุบัน ผลักดันการแข่งขันทางการค้าของไทยสู่มาตรฐาน 

 

 

นายไมตรี สุเทพากุล ประธานกรรมการการแข่งขันทางการค้า เปิดเผยถึงความเป็นมาและวัตถุประสงค์การจัดงาน รวมทั้งต้อนรับแขกผู้มีเกียรติที่เข้าร่วมงาน และ Mr. Mathias Cormann เลขาธิการองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา กล่าวปาฐกถาสำคัญเกี่ยวกับนโยบายการแข่งขันทางการค้า ที่จะช่วยทำให้การบังคับใช้กฎหมายมีประสิทธิภาพ สร้างความเป็นธรรมในการแข่งขัน ส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจและยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน 

 

 

 

 

นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวเปิดงานและปาฐกถาพิเศษหัวข้อ “ปรับการแข่งขัน ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ พลิกชีวิตคนไทย” ว่าการแข่งขันเป็นหัวใจของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ การปฏิรูปกฎหมายและบังคับใช้อย่างมีประสิทธิภาพจะช่วยส่งเสริมนวัตกรรมการเติบโตทางเศรษฐกิจและความเป็นธรรม โดยประเทศไทยมุ่งมั่นที่จะเข้าสู่การเป็นสมาชิก OECD และปรับปรุงมาตรฐานกฎ ระเบียบให้เป็นสากล เพื่อพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน ซึ่งงานนี้มีผู้แทนจากหลากหลายภาคส่วนทั้งจากภาครัฐและเอกชน ผู้เชี่ยวชาญด้านการแข่งขันทางการค้า นักธุรกิจ และที่ปรึกษากฎหมาย ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและผลักดันให้เกิดประสิทธิภาพในการบังคับใช้กฎหมาย 

 

โดยภายในงานมีการอภิปรายกันอย่างกว้างขวางเกี่ยวกับการดำเนินการที่จะต่อยอดจากข้อแนะนำของ OECD ประกอบด้วย การอภิปรายพิเศษ โดย Mr. Peter Crone กรรมการคุ้มครองผู้บริโภคและการแข่งขันทางธุรกิจของออสเตรเลีย โดยได้แบ่งปันประสบการณ์ของประเทศออสเตรเลียที่ได้เป็นสมาชิก OECD 

 

ในปี พ.ศ. 2514 รวมถึงประสบการณ์การพิชญพิจารณ์ (Peer Review) ที่ทำให้สามารถทราบถึงจุดแข็งจุดอ่อนของกฎหมายแข่งขันเพื่อนำไปสู่การปฏิรูปกฎหมายในอนาคต ซึ่งเป็นหัวใจในการสร้างเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งและยั่งยืน โดยมีเป้าหมายเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนผ่านตลาดที่มีการแข่งขันอย่างเป็นธรรม และช่วงการอภิปราย “ผลการศึกษาและข้อเสนอแนะจากรายงานกระบวนการพิชญพิจารณ์ (Peer Review) ต่อ พ.ร.บ. การแข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2560” ที่ชี้ให้เห็นถึงประเด็นท้าทายในการพัฒนากฎหมายแข่งขันทางการค้าหลายประการ เช่น ขอบเขตและกระบวนการบังคับใช้กฎหมาย การควบรวมธุรกิจ และมาตรการ

 

ผ่อนผันโทษ (Leniency Program) รวมถึงข้อจำกัดด้านทรัพยากร เป็นต้น และช่วงต่อมาเป็นการอภิปรายเกี่ยวกับ “Competition Efficiency, Quality of Life” ที่ชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของการบังคับใช้กฎหมายแข่งขัน

 

 

 

ซึ่งจะช่วยเสริมสร้างสภาพแวดล้อมการแข่งขันที่เป็นธรรม อันส่งผลต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ และยกระดับความเป็นอยู่ที่ดีของสังคมโดยรวม และช่วงสุดท้ายเป็นการอภิปรายเกี่ยวกับ “โอกาสและความท้าทายของภาคธุรกิจ” ซึ่งชี้ให้เห็นถึงกฎหมายการแข่งขันทางการค้าที่ส่งผลต่อการเพิ่มโอกาสและความท้าทายของภาคธุรกิจ อันเป็นรากฐานสำคัญต่อโครงสร้างเศรษฐกิจไทยให้มีการเติบโตอย่างยั่งยืน 

 

ทั้งนี้ ผลจากการจัดงานดังกล่าวจะนำไปสู่การปรับปรุงกฎหมาย กฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง

 

กับการแข่งขันทางการค้า พัฒนาองค์ความรู้ กระบวนการทำงานในการกำกับการแข่งขันทางการค้าและทักษะของบุคลากรของสำนักงาน กขค. เพื่อให้สอดคล้องกับแนวปฏิบัติที่ดีของสากล และรองรับนโยบายรัฐบาลในการขับเคลื่อนไทยเข้าสู่การเป็นสมาชิก OECD ต่อไป 

 

 นายพิชัย กล่าวต่อว่า การที่ไทยจะเข้าสู่การเป็นสมาชิก OECD นั้น จะต้องมีการปรับปรุงและพัฒนากลไกต่าง ๆ ให้ได้มาตรฐาน ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการแข่งขันของไทย 

 

โดยปัจจุบันเศรษฐกิจไทยมีทิศทางที่ดี การส่งออกในไตรมาสสุดท้ายของปีที่แล้วขยายตัว 12.9% ก่อนที่จะได้รับผลกระทบจากนโยบายภาษีทรัมป์ก็โตขึ้น 10.5% ทั้งนี้ ขอให้เชื่อมั่นว่า รัฐบาลจะสามารถเจรจาทางการค้า เพื่อปรับลดภาษีได้อย่างแน่นอน ซึ่งจะทำให้การส่งออกขยายตัวได้ดีขึ้น

 

สำหรับกรอบการแข่งขันทางการค้า และ พ.ร.บ. การแข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2560 นั้น ทางรัฐบาลอยู่ระหว่างดำเนินการปรับแก้ไขก่อนเสนอร่างให้สภาฯ และตามที่ เลขาธิการ OECD ได้กล่าวไว้ว่า ไทยมีการแข่งขันที่ไม่สมบูรณ์นัก อาจมีการผูกขาดในธุรกิจใหญ่ ๆ ทำให้เกิดการกระจายรายได้ไม่ดี ซึ่งกระทรวงพาณิชย์

 

ได้มีการหารือกับสำนักงาน กขค. ให้เร่งดำเนินการแก้ไขอย่างเป็นรูปธรรมและชัดเจนมากขึ้น เนื่องจากมีบทบาทสำคัญต่อการแข่งขันที่เป็นธรรมและส่งผลต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ เพื่อให้ผู้ประกอบธุรกิจ SMEs เกิดโอกาสทางการแข่งขัน และผู้เล่นรายใหม่สามารถเข้าสู่ตลาดได้อย่างทัดเทียมกัน

 

นอกจากนี้สินค้าด้อยคุณภาพ เป็นเรื่องที่รัฐบาลมีข้อกังวลตั้งแต่ปีที่แล้ว จึงเกิดการแต่งตั้งคณะกรรมการบริหารจัดการแก้ไขปัญหาสินค้าและธุรกิจต่างประเทศที่ฝ่าฝืนกฎหมาย ประกอบด้วยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกว่า 17 หน่วยงาน ซึ่งได้ดำเนินคดีกับสินค้าด้อยคุณภาพแล้ว 29,000 กว่าคดี มีมูลค่ารวมกว่า 1,700 ล้านบาท และมีการจับกุมบริษัทที่เป็นนอมินี 852 บริษัท มีมูลค่าในทุนจดทะเบียนรวม 15,188 ล้านบาท จึงต้องการให้เชื่อมั่นว่า รัฐบาลมุ่งมั่นกำหนดมาตรฐานสินค้า และเร่งแก้ไขปัญหาการไหลทะลักของสินค้าด้อยคุณภาพและนอมินีอย่างเข้มข้นและจริงจัง เพื่อดูแลผู้ประกอบธุรกิจไทยให้สามารถแข่งขันได้อย่างเป็นธรรม

 

 ดร.ปัทมา เธียรวิศิษฎ์สกุล กรรมการการแข่งขันทางการค้า กล่าวว่า ประโยชน์ที่ประเทศไทยจะได้รับจากการพิชญพิจารณ์ (Peer Review) ของ OECD ในครั้งนี้คือ เป็นการทบทวนหรือตรวจสอบการบังคับใช้กฎหมายการแข่งขันทางการค้าของไทยเทียบกับแนวปฏิบัติที่ดีของสากล 

 

ซึ่งมี 2 ประเด็นหลัก ที่สำคัญ ประเด็นแรกคือ “การแปลความและการสื่อสาร” ตัวบทกฎหมายให้ผู้มีส่วนได้เสียเข้าใจ ตัวอย่างเช่น ต้องสร้างความเข้าใจให้ได้ว่ากรณีที่กฎหมายฉบับนี้ยกเว้นมิให้ใช้บังคับกับรัฐวิสาหกิจตามมาตรา 4 นั้น เป็นการยกเว้นเจาะจงเฉพาะในส่วนที่ดำเนินการตามกฎหมายหรือมติของคณะรัฐมนตรีที่มีความจำเป็นในการรักษาความมั่นคงของรัฐและประโยชน์สาธารณะ เช่นเดียวกับสาขาเศรษฐกิจที่มีหน่วยงานกำกับเฉพาะด้านที่ยกเว้นเฉพาะในกรณีที่กฎเกณฑ์ที่ใช้พิจารณาการแข่งขันนั้นเปรียบเทียบได้เท่ากันในกรณีของ พ.ร.บ. การแข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2560 อีกทั้งผู้บังคับใช้กฎหมายจะต้องมีความมั่นใจในการตีความและการบังคับใช้ด้วย ประเด็นที่สองคือ “ความโปร่งใส” โดย กขค. ตัดสินคดีด้วยเหตุและผล บนพื้นฐานของข้อมูล ข้อเท็จจริงที่ปรากฏ และพิจารณาตามหลักที่กฎหมายกำหนดไว้  จึงต้องการให้ทุกคนมีความเชื่อมั่นในการบังคับใช้กฎหมายการแข่งขันทางการค้าของไทย ทั้งนี้ ตามข้อแนะนำของ OECD จะนำไปสู่การปรับปรุงกฎหมาย

 

และกระบวนการทำงานในการกำกับดูแลการแข่งขันทางการค้าของไทยอย่างเป็นรูปธรรม โดยปรับปรุงกฎหมาย และกฎ ระเบียบที่เกี่ยวข้อง พัฒนาองค์ความรู้และทักษะของบุคลากร การสนับสนุนข้อมูลและข้อเสนอแนะเชิงนโยบายจาก OECD ซึ่งจะช่วยเสริมสร้างบรรยากาศทางการแข่งขันที่เป็นธรรม เพิ่มโอกาสทางธุรกิจและการเข้าสู่ตลาด ดึงดูดการค้าการลงทุนจากต่างประเทศ อีกทั้งยังสอดคล้องกับการขับเคลื่อนไทยเข้าสู่การเป็นสมาชิก OECD ต่อไป