วันพฤหัสบดี ที่ 8 พฤษภาคม พ.ศ. 2568 10:48 น.

เศรษฐกิจ

ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ  33.66 บาทต่อดอลลาร์ “ทรงตัว ไม่เปลี่ยนแปลง”

วันพุธ ที่ 07 พฤษภาคม พ.ศ. 2568, 09.58 น.

ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ  33.66 บาทต่อดอลลาร์ “ทรงตัว ไม่เปลี่ยนแปลง”

 

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ  33.66 บาทต่อดอลลาร์ “ทรงตัว ไม่เปลี่ยนแปลง”จากระดับปิดวันที่ผ่านมา

 

โดยนับตั้งแต่ช่วงคืนที่ผ่านมา เงินบาท (USDTHB) เคลื่อนไหวในกรอบ Sideways (แกว่งตัวในกรอบ 32.56-32.71 บาทต่อดอลลาร์) หลังจากที่ทยอยแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องในช่วงวันที่ผ่านมา โดยการแข็งค่าของเงินบาทก็ถูกชะลอลงบ้าง จากโฟลว์ธุรกรรมซื้อเงินดอลลาร์ของผู้เล่นในตลาดบางส่วน อาทิ ฝั่งผู้นำเข้า หลังเงินบาทได้แข็งค่าเข้าใกล้โซนแนวรับ 32.50 บาทต่อดอลลาร์ ขณะเดียวกันโฟลว์ธุรกรรมที่เกี่ยวกับสินค้าโภคภัณฑ์ก็มีส่วนช่วยลดทอนการแข็งค่าของเงินบาท ทั้งในส่วนของโฟลว์ธุรกรรมน้ำมัน และราคาทองคำ โดยเฉพาะในส่วนของราคาทองคำนั้น จังหวะการย่อตัวลงของราคาทองคำในช่วงคืนที่ผ่านมา ก็มีส่วนกดดันให้เงินบาททยอยอ่อนค่าลงบ้าง แม้ว่าโดยรวมเงินดอลลาร์จะเคลื่อนไหวในกรอบ Sideways หลังผู้เล่นในตลาดต่างยังไม่รีบปรับสถานะถือครองเพิ่มเติม เพื่อรอจับตาผลการประชุม FOMC ของเฟดที่จะถึงนี้

 

บรรยากาศในฝั่งตลาดหุ้นสหรัฐฯ เผชิญแรงกดดันบ้าง จากความไม่แน่นอนของการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับประเทศคู่ค้า โดยเฉพาะจีน ทำให้ผู้เล่นในตลาดเลือกที่จะทยอยขายทำกำไรการรีบาวด์ขึ้นแรงกว่า +17% ของตลาดหุ้นสหรัฐฯ จากช่วงที่เผชิญแรงขายหนักก่อนหน้า ทำให้โดยรวมดัชนี S&P500 ปิดตลาด -0.77%

 

ทางฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 ย่อตัวลงบ้าง -0.18% หลังผู้เล่นในตลาดต่างรอลุ้นผลการประชุมธนาคารกลางหลัก (Fed และ BOE) ขณะเดียวกัน ความไม่แน่นอนของการดำเนินนโยบายการค้าของสหรัฐฯ ก็มีส่วนทำให้ ผู้เล่นในตลาดเลือกจะทยอยขายทำกำไรการรีบาวด์ของตลาดหุ้นยุโรปในช่วงก่อนหน้าออกมาบ้าง

 

ในส่วนตลาดบอนด์ ภาวะระมัดระวังตัวของตลาดการเงินได้ ท่ามกลางความไม่แน่นอนของนโยบายการค้าของสหรัฐฯ ได้กดดันให้ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ทยอยปรับตัวลงสู่ระดับ 4.32% ทั้งนี้ การปรับตัวลงของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ก็เป็นไปอย่างจำกัด เนื่องจากผู้เล่นในตลาดต่างรอติดตามผลการประชุม FOMC ของเฟด โดยล่าสุด ผู้เล่นในตลาดต่างประเมินว่า เฟดมีโอกาสลดดอกเบี้ยราว 3 ครั้ง ในปีนี้

 

ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์โดยรวมเคลื่อนไหว Sideways แม้ว่าจะมีจังหวะอ่อนค่าลงบ้าง หลังผู้เล่นในตลาดเลือกจะถือทองคำ และเงินเยนญี่ปุ่น (JPY) เป็นสินทรัพย์ปลอดภัย ท่ามกลางความไม่แน่นอนของการดำเนินนโยบายการค้าของสหรัฐฯ ทว่า การอ่อนค่าของเงินดอลลาร์ก็เป็นไปอย่างจำกัด หลังผู้เล่นในตลาดต่างรอลุ้น ผลการประชุม FOMC ของเฟดที่จะถึงนี้ ทำให้โดยรวมดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ยังคงแกว่งตัวแถวโซน 99.6 จุด (แกว่งตัวในกรอบ 99.1-99.8 จุด) ในส่วนของราคาทองคำ  ภาวะระมัดระวังตัวของตลาดการเงิน ท่ามกลางความไม่แน่นอนของการดำเนินนโยบายการค้าของสหรัฐฯ รวมถึงสถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลางที่ร้อนแรงขึ้นในช่วงนี้ ได้หนุนให้ ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน มิ.ย. 2025) ปรับตัวขึ้นต่อเนื่องสู่โซน 3,440 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ก่อนที่จะเผชิญแรงขายทำกำไรจากบรรดาผู้เล่นในตลาดกดดันให้ราคาทองคำย่อตัวลงสู่ระดับ 3,393 ดอลลาร์ต่อออนซ์

 

สำหรับในช่วง 24 ชั่วโมงหลังจากนี้ ไฮไลท์สำคัญจะอยู่ที่ผลการประชุม FOMC ของเฟด ที่จะทยอยรับรู้ในช่วง 1.00 น. ตามเวลาประเทศไทย ของเช้าวันที่ 8 พฤษภาคม นี้ โดยเรามองว่า เฟดจะยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 4.25-4.50% เพื่อรอประเมินแนวโน้มนโยบายการค้าของสหรัฐฯ และผลกระทบต่อแนวโน้มเศรษฐกิจให้ชัดเจนเสียก่อน ทั้งนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตาถ้อยแถลงของประธานเฟด Jerome Powell ในช่วง Press Conference อย่างใกล้ชิด เพื่อประเมินมุมมองของเฟดต่อแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ และทิศทางนโยบายการเงินของเฟด หลังผู้เล่นในตลาดยังคงมองว่า เฟดอาจลดดอกเบี้ยได้ราว 3 ครั้ง ในปีนี้ ซึ่งเป็นการลดดอกเบี้ยที่มากกว่าการคาดการณ์ของเฟดใน Dot Plot ล่าสุด ในการประชุมเดือนมีนาคม

 

ส่วนในฝั่งยุโรป ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้นรายงานยอดค้าปลีก (Retail Sales) เดือนมีนาคม เพื่อประกอบการประเมินภาพเศรษฐกิจยูโรโซน

 

และนอกเหนือจากปัจจัยข้างต้น ผู้เล่นในตลาดจะลุ้นรายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียน รวมถึงพัฒนาการของนโยบายการค้าของสหรัฐฯ โดยเฉพาะความคืบหน้าของการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับบรรดาประเทศคู่ค้า

 

สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท เรายอมรับว่า การแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องของเงินบาท จนทะลุโซนแนวรับ 32.75 บาทต่อดอลลาร์ ที่เราประเมินไว้เป็นแนวรับทั้งสัปดาห์นี้ นั้น เหนือความคาดหมายของเราไปมาก โดยเรามองว่า ปัจจัยที่หนุนการแข็งค่าขึ้นของเงินบาทดังกล่าวนั้น มาจากทั้ง การอ่อนค่าของเงินดอลลาร์ ที่ยังหนุนการรีบาวด์ขึ้นแรงของราคาทองคำ ซึ่งได้แรงหนุนจากความไม่แน่นอนของการดำเนินนโยบายการค้าของสหรัฐฯ ในช่วงนี้ ขณะเดียวกัน การแข็งค่าขึ้นเร็ว แรง ของเงินบาท ก็ทำให้ผู้เล่นในตลาดบางส่วนจำเป็นต้องปรับสถานะถือครอง โดยเฉพาะฝั่งที่มีสถานะ Long USDTHB (มองเงินบาทอ่อนค่าลง) อาจเจอการ Stop Loss ได้ ซึ่งภาพดังกล่าวก็ดูจะสอดคล้องกับแรงซื้อบอนด์ระยะสั้นจากบรรดานักลงทุนต่างชาติในวันก่อนหน้าที่สูงเกือบ 1.5 หมื่นล้านบาท

 

อย่างไรก็ดี เรามองว่า ในช่วงก่อนตลาดรับรู้ผลการประชุมเฟดนั้น การเคลื่อนไหวของตลาดการเงินอาจมีทิศทาง Sideways ซึ่งก็สอดคล้องกับรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญในวันนี้ ที่มีไม่มากนัก (มีเพียงยอดค้าปลีกของยูโรโซนที่น่าสนใจ) ทว่า เงินบาทอาจเผชิญแรงกดดันฝั่งอ่อนค่าได้บ้าง หากราคาทองคำเผชิญแรงขายทำกำไรเพิ่มเติม จนย่อตัวลงต่อเนื่อง โดยเราคงมองว่า เงินบาทยังมีความอ่อนไหว (Beta) กับการเปลี่ยนแปลงของราคาทองคำ ราว 0.3-0.5 (หากราคาทองคำย่อตัวลง -1% อาจกดดันให้เงินบาทอ่อนค่าลงได้ราว -0.3% ถึง -0.5%) ทว่า การย่อตัวลงของราคาทองคำก็อาจเป็นไปอย่างจำกัด หลังบรรยากาศในตลาดการเงินก็ยังอยู่ในภาวะระมัดระวังตัว จากความไม่แน่นอนของนโยบายการค้าของสหรัฐฯ ซึ่งจะช่วยหนุนให้ผู้เล่นในตลาดต่างรอทยอยซื้อทองคำในจังหวะย่อตัว เข้ากับธีม Because of You (Trade Uncertainty) Gold Shines (BUGS) นอกจากนี้ เงินบาทอาจเผชิญแรงกดดันเพิ่มเติมบ้าง จากโฟลว์ธุรกรรมจ่ายเงินปันผลให้กับบรรดานักลงทุนต่างชาติ ซึ่งเรามองว่า ผู้เล่นในตลาดอาจใช้จังหวะที่เงินบาทแข็งค่าขึ้น ในการทยอยเข้าซื้อเงินดอลลาร์ได้

 

ทั้งนี้ เราขอเน้นย้ำว่า ควรระวังความผันผวนในช่วงตลาดทยอยรับรู้ผลการประชุม FOMC ของเฟด โดยสถิติในช่วง 1 ปี ที่ผ่านมาสะท้อนว่า  เงินบาท (USDTHB) อาจมีกรอบการแกว่งตัว +/-1 SD ราว +0.33%/-0.18% ในช่วงหลังตลาดรับรู้การประชุมดังกล่าว 30 นาที อย่างไรก็ตาม เรามองว่า ช่วง Press Conference ของประธานเฟด ก็อาจเป็นอีกช่วงเวลาที่ตลาดการเงินอาจผันผวนสูงขึ้นได้เช่นกัน โดยในกรณีที่ ประธานเฟดไม่ได้แสดงความกังวลต่อแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ มากนัก และย้ำจุดยืนไม่เร่งรีบลดดอกเบี้ย ก็อาจช่วยหนุนเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ได้บ้าง แต่หากประธานเฟดยังคงมีความกังวลต่อแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ บ้าง และไม่ปิดโอกาสที่เฟดจำเป็นต้องลดดอกเบี้ย เพื่อช่วยประคองเศรษฐกิจ ผู้เล่นในตลาดอาจตีความว่า เฟดยังมีโอกาสลดดอกเบี้ยได้มากกว่าที่ระบุไว้ใน Dot Plot ล่าสุด ซึ่งภาพดังกล่าว อาจกดดันเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ให้ย่อตัวลงได้

 

ท่ามกลางความผันผวนในตลาดการเงินที่ยังอยู่ในระดับสูง โดยเฉพาะในช่วงปีหน้าที่จะเผชิญกับ Trump’s Uncertainty ทำให้เรายังคงแนะนำว่า ผู้เล่นในตลาดควรใช้กลยุทธ์ในการปิดความเสี่ยงที่หลากหลายมากขึ้น ทั้งการใช้เครื่องมือเช่น Options หรือ สกุลเงินท้องถิ่น ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการปิดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนได้

 

มองกรอบเงินบาทในช่วง 24 ชั่วโมง คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 32.55-32.90 บาท/ดอลลาร์ (ระวังความผันผวนในช่วงตลาดทยอยรับรู้ผลการประชุม FOMC)