วันเสาร์ ที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2568, 09.22 น.
ทช.ติดตามโครงการก่อสร้างสะพานข้ามอ่างเก็บน้ำลำปาว จ.กาฬสินธุ์
นายมนตรี เดชาสกุลสม อธิบดีกรมทางหลวงชนบท (ทช.) ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานโครงการก่อสร้างสะพานข้ามอ่างเก็บน้ำลำปาว ช่วงท่าเรือบ้านดงน้อย ตำบลภูสิงห์ อำเภอสหัสขันธ์ ไปยังท่าเรือบ้านโนนทัน ตำบลสำราญใต้ อำเภอสามชัย จังหวัดกาฬสินธุ์ ซึ่งปัจจุบัน กรมทางหลวงชนบท ได้เริ่มเข้าพื้นที่ดำเนินการก่อสร้างเป็นที่เรียบร้อย คาดว่าจะสามารถทำการเปิดให้ประชาชนใช้สัญจรอย่างเต็มรูปแบบได้ภายในปี 2570 โอกาสนี้ อธิบดีฯ ได้ติดตามความคืบหน้าในการดำเนินงาน พร้อมรับฟังแผนการก่อสร้าง ขั้นตอนดำเนินการ ตลอดจนรูปแบบของงานอย่างครบถ้วน รวมทั้งมอบนโยบายและแนวทางการปฏิบัติงานให้แก่วิศวกรผู้ควบคุมงานให้ดำเนินการก่อสร้างทุกขั้นตอนตามรูปแบบและแผนที่กำหนดไว้ เพื่อให้คุณภาพของงานได้มาตรฐาน มีประสิทธิภาพอย่างสูงสุดตามหลักวิศวกรรม และแนวทางที่กรมกำหนด

สำหรับโครงการก่อสร้างสะพานข้ามอ่างเก็บน้ำลำปาว จังหวัดกาฬสินธุ์ เริ่มต้นดำเนินการก่อสร้างบริเวณหมู่บ้านดงน้อย ตำบลภูสิงห์ อำเภอสหัสขันธุ์ บนถนนสาย กส.5047 และสิ้นสุดโครงการที่หมู่บ้านโนนทัน ตำบลสำราญใต้ อำเภอสามชัย บริเวณถนนทางหลวงชนบทสาย กส.4070 เป็นสะพานระบบพื้นสะพานคานคอนกรีตอัดแรงรูปกล่องสำเร็จรูป (Segment box girder) ขนาด 2 ช่องจราจร ความกว้างผิวจราจร 12.00 เมตร ช่องจราจรกว้างช่องละ 3.50 เมตร ไหล่ทางกว้างข้างละ 2.50 เมตร ระยะทาง 1,760.00 เมตร พร้อมถนนต่อเชื่อมผิวจราจรแอสฟัลต์คอนกรีต ขนาด 2 ช่องจราจร กว้างช่องละ 3.50 เมตร ไหล่ทางกว้างข้างละ 0.00 - 2.50 เมตร ปรับเข้าหาถนนเดิม สาย กส.5047 และ ถนนสาย กส.4070 ระยะทาง 1,595.00 เมตร รวมทั้งก่อสร้างจุดกลับรถผิวจราจรแอสฟัลต์คอนกรีต ขนาด 1 ช่องจราจร ใต้สะพานทั้งสองฝั่ง ก่อสร้างระบบระบายน้ำ ติดตั้งระบบไฟฟ้าแสงสว่าง อุปกรณ์อำนวยความปลอดภัย ดำเนินการปรับปรุงสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ ศาลพ่อปู่เชียงแสน ฝั่งอำเภอสหัสขันธุ์ และจัดพื้นที่สวนสาธารณะ ฝั่งอำเภอสามชัย โดยใช้งบประมาณทั้งสิ้นรวม 836 ล้านบาท
ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวยังได้ออกแบบการก่อสร้างที่คำนึงถึงศิลปวัฒนธรรมประเพณีของชาวอีสาน โดยนำ “ตุง” หรือ ธง มาใช้เป็นแนวคิดหลักในการก่อสร้างเสาไฟฟ้าส่องสว่าง ในส่วนของราวสะพานได้นำลวดลายที่ปรากฏบนผ้าไหมแพรวามาประยุกต์ให้ดูเข้าใจง่ายด้วยการสลักลงบนแผงคอนกรีตของราวสะพาน รวมทั้งออกแบบเสาประติมากรรมบนสะพานให้มีรูปแบบเป็น “พระมหาเจดีย์พุทธนิมิตร” ซึ่งเป็นเจดีย์ที่โดดเด่นด้วยศิลปะจากช่างชาวเขมร ที่ตั้งอยู่ภายในวัดพุทธนิมิต (ภูค่าว) อันเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญแห่งหนึ่งของจังหวัดกาฬสินธุ์อีกด้วย