วันพุธ ที่ 28 พฤษภาคม พ.ศ. 2568 10:52 น.

เศรษฐกิจ

รมว.พาณิชย์เผยส่งออกไทยเดือนเมษายน 2568 โต 10.2% ต่อเนื่องเดือนที่ 10

วันจันทร์ ที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2568, 12.48 น.

รมว.พาณิชย์เผยส่งออกไทยเดือนเมษายน 2568 โต 10.2% ต่อเนื่องเดือนที่ 10 ย้ำ รัฐบาลแพทองธาร 7 เดือน ส่งออกไทยโต 12.5% สะท้อนศักยภาพเศรษฐกิจไทยเข้มแข็ง 

เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2568    นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ แถลงผลการส่งออกของไทยประจำเดือนเมษายน 2568 มีมูลค่ารวม 25,625.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 857,700 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 10.2 ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 10 โดยหากหักสินค้าที่เกี่ยวข้องกับน้ำมัน ทองคำ และยุทธปัจจัย การส่งออกยังขยายตัวร้อยละ 7.1 โดยกลุ่มสินค้าอุตสาหกรรมและอุตสาหกรรมเกษตรเป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญ

ขณะเดียวกัน ตลาดส่งออกสำคัญของไทยยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐอเมริกา จีน ญี่ปุ่น อาเซียน และสหภาพยุโรป ส่งผลให้ภาพรวมการส่งออกในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2568 ขยายตัวร้อยละ 14.0 และหากไม่รวมสินค้าน้ำมัน ทองคำ และยุทธปัจจัย จะมีอัตราการขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 12.1

นายพิชัย กล่าวว่า ตัวเลขการส่งออกที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่องเป็นสิ่งที่สะท้อนถึงความเข้มแข็งของภาคเศรษฐกิจไทย แม้ในช่วงที่ผ่านมา มีความกังวลเกี่ยวกับผลกระทบจากมาตรการภาษีของสหรัฐฯ แต่การส่งออกยังเติบโตได้ถึงร้อยละ 10.2 ในเดือนเมษายน และขยายตัวถึงร้อยละ 14.0 ตลอด 4 เดือนที่ผ่านมา และในช่วง 7 เดือนของท่านนายกรัฐมนตรี นางสาวแพทองธาร ชินวัตร ที่เข้ามาบริหารประเทศ เราขยายตัวได้ถึง 12.5%  ซึ่งไม่เคยเห็นตัวเลขในระดับนี้มาหลายสิบปีแล้ว

“หลายฝ่ายเคยคาดว่าภาษีจากสหรัฐฯ จะทำให้ส่งออกไทยตกฮวบ แต่ตัวเลขพิสูจน์แล้วว่าไม่เป็นความจริง เรายังโตได้ต่อเนื่อง โดยเฉพาะตลาดสหรัฐฯ ขยายตัวถึง 23.8% และโตต่อเนื่องมาแล้ว 19 เดือนติดต่อกัน” นายพิชัยกล่าว

ตลาดสำคัญอื่นๆ ก็มีการขยายตัวเช่นกัน อาเซียนขยายตัว 7.8% ต่อเนื่อง 2 เดือน เอเชียใต้ 8.7% ต่อเนื่อง 7 เดือน สหภาพยุโรป 6.1% ต่อเนื่อง 11 เดือน ญี่ปุ่น 5.5% ต่อเนื่อง 2 เดือน และจีน 3.2% ต่อเนื่อง 7 เดือน

สำหรับตลาดยุโรป นายพิชัยเปิดเผยว่า กระทรวงพาณิชย์เตรียมเจรจาข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) กับสหภาพยุโรปให้แล้วเสร็จภายในสิ้นปีนี้ โดยจะเข้าพบกรรมาธิการยุโรปด้านการค้า นายมารอส เซฟโควิช รวมถึงพบปะกับ OECD เพื่อผลักดันให้การเจรจาสำเร็จเร็วที่สุด ซึ่งจะช่วยเพิ่มศักยภาพการค้าของไทยในตลาดยุโรปได้อย่างมาก

ซึ่งการส่งออกยังคงเป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย โดยแม้ในกรณีที่ในช่วง 8 เดือนที่เหลือของปี 2568 การส่งออกไม่เติบโตเพิ่มเติมเลย ไทยก็ยังจะสามารถรักษาอัตราการเติบโตเฉลี่ยได้มากกว่าร้อยละ 4 ซึ่งมากกว่าที่มีการคาดการณ์ไว้ก่อนหน้า

“หากสามารถเจรจากับสหรัฐฯ ให้ไทยได้รับอัตราภาษีในระดับเดียวกับประเทศอื่น ก็จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของไทยได้อีกมาก” นายพิชัยกล่าว พร้อมระบุว่าการเจรจากับสหรัฐฯ คืบหน้าไปมาก และคาดว่าจะสามารถสรุปผลได้ภายใน 90 วัน ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์มั่นใจว่านโยบายส่งออกในปัจจุบันเป็นไปในทิศทางที่ถูกต้อง และจะสามารถนำพาเศรษฐกิจไทยให้เติบโตได้อย่างยั่งยืนในระยะยาว

นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) โฆษกกระทรวงพาณิชย์กล่าวเพิ่มเติม รายละเอียดดังนี้

มูลค่าการค้ารวม

มูลค่าการค้าในรูปเงินดอลลาร์สหรัฐ เดือนเมษายน 2568 การส่งออก มีมูลค่า 25,625.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 10.2 เทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน การนำเข้า มีมูลค่า 28,946.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 16.1 ดุลการค้า ขาดดุล 3,321.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ภาพรวมการส่งออก 4 เดือนแรกของปี 2568 การส่งออก มีมูลค่า 107,157.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 14.0 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน การนำเข้า มีมูลค่า 109,397.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 9.6 ดุลการค้า ขาดดุล 2,240.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

มูลค่าการค้าในรูปเงินบาท เดือนเมษายน 2568 การส่งออก มีมูลค่า 857,700 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 2.9 เทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน การนำเข้า มีมูลค่า 980,655 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 8.5 ดุลการค้า ขาดดุล 122,956 ล้านบาท ภาพรวมการส่งออก 4 เดือนแรกของปี 2568 การส่งออก มีมูลค่า 3,614,949 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 8.6 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน การนำเข้า มีมูลค่า 3,735,199 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 4.5 ดุลการค้า ขาดดุล 120,251 ล้านบาท

การส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร
มูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร หดตัวร้อยละ 8.4 (YoY) หดตัวต่อเนื่อง 2 เดือน โดยสินค้าเกษตร หดตัวร้อยละ 19.6 หดตัวต่อเนื่อง 4 เดือน และสินค้าอุตสาหกรรมเกษตร ขยายตัวร้อยละ 9.1 กลับมาขยายตัวหลังจากหดตัวในเดือนก่อนหน้า โดยมีสินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ ยางพารา ขยายตัวร้อยละ 22.5 ขยายตัวต่อเนื่อง 18 เดือน (ขยายตัวในตลาดจีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ บราซิล และอินเดีย) ไก่สด แช่เย็น แช่แข็ง และแปรรูป ขยายตัวร้อยละ 8.6 ขยายตัวต่อเนื่อง 7 เดือน (ขยายตัวในตลาดญี่ปุ่น สหราชอาณาจักร จีน มาเลเซีย และเนเธอร์แลนด์) น้ำตาลทราย ขยายตัวร้อยละ 36.0 กลับมาขยายตัวหลังจากหดตัวในเดือนก่อนหน้า (ขยายตัวในตลาดอินโดนีเซีย เกาหลีใต้ จีน นิวซีแลนด์ และแทนซาเนีย) อาหารสัตว์เลี้ยง ขยายตัวร้อยละ 10.1 ขยายตัวต่อเนื่อง 19 เดือน (ขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ อิตาลี ฟิลิปปินส์ อินเดีย และเวียดนาม) ผลิตภัณฑ์ข้าวสาลีและอาหารสำเร็จรูปอื่น ๆ ขยายตัวร้อยละ 24.6 ขยายตัวต่อเนื่อง 16 เดือน (ขยายตัวในตลาดจีน เมียนมา ออสเตรเลีย กัมพูชา และลาว) ไขมันและน้ำมันจากพืชและสัตว์ ขยายตัวร้อยละ 17.1 กลับมาขยายตัวหลังจากหดตัวในเดือนก่อนหน้า (ขยายตัวในตลาดอินเดีย มาเลเซีย เมียนมา เวียดนาม และจีน) และผลไม้กระป๋องและแปรรูป ขยายตัวร้อยละ 21.9 ขยายตัวต่อเนื่อง 19 เดือน (ขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ จีน ออสเตรเลีย เนเธอร์แลนด์ และแคนาดา)

ขณะที่สินค้าสำคัญที่หดตัว อาทิ ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็งและแห้ง หดตัวร้อยละ 38.5 กลับมาหดตัวหลังจากขยายตัวในเดือนก่อนหน้า (หดตัวในตลาดจีน เกาหลีใต้ ฮ่องกง สหรัฐฯ และไต้หวัน แต่ขยายตัวในตลาดมาเลเซีย เวียดนาม กัมพูชา อินโดนีเซีย และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์) ข้าว หดตัวร้อยละ 44.1 หดตัวต่อเนื่อง 6 เดือน (หดตัวในตลาดอิรัก แอฟริกาใต้ เซเนกัล เบนิน และสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก แต่ขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ จีน ฟิลิปปินส์ ฮ่องกง และสิงคโปร์) อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป หดตัวร้อยละ 1.4 หดตัวต่อเนื่อง 2 เดือน (หดตัวในตลาดสหรัฐฯ ออสเตรเลีย อิสราเอล อียิปต์ และแอฟริกาใต้ แต่ขยายตัวในตลาดญี่ปุ่น ลิเบีย แคนาดา ซาอุดีอาระเบีย และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์) และผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง หดตัวร้อยละ 5.8 หดตัวต่อเนื่อง 4 เดือน (หดตัวในตลาดญี่ปุ่น ไต้หวัน มาเลเซีย อินโดนีเซีย และสหรัฐฯ แต่ขยายตัวในตลาดจีน เกาหลีใต้ สิงคโปร์ ลาว และบังกลาเทศ) ทั้งนี้ 4 เดือนแรกของปี 2568 การส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร หดตัวร้อยละ 2.3

การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม

มูลค่าการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม ขยายตัวร้อยละ 16.6 (YoY) ขยายตัวต่อเนื่อง 13 เดือน โดยมีสินค้าสำคัญที่ขยายตัว อาทิ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ขยายตัวร้อยละ 75.1 ขยายตัวต่อเนื่อง 13 เดือน (ขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ จีน ฮ่องกง เนเธอร์แลนด์ และเยอรมนี) ผลิตภัณฑ์ยาง ขยายตัวร้อยละ 15.9 ขยายตัวต่อเนื่อง 10 เดือน (ขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ จีน ญี่ปุ่น อินเดีย และมาเลเซีย) แผงวงจรไฟฟ้า ขยายตัวร้อยละ 39.0 ขยายตัวต่อเนื่อง 4 เดือน (ขยายตัวในตลาดฮ่องกง ไต้หวัน จีน สิงคโปร์ และมาเลเซีย)  อัญมณีและเครื่องประดับ (ไม่รวมทองคำ) ขยายตัวร้อยละ 42.1 ขยายตัวต่อเนื่อง 6 เดือน (ขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ ฮ่องกง อินเดีย เยอรมนี และสหราชอาณาจักร) แผงสวิทซ์และแผงควบคุมกระแสไฟฟ้า ขยายตัวร้อยละ 38.3 ขยายตัวต่อเนื่อง 16 เดือน (ขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ สิงคโปร์ ญี่ปุ่น เวียดนาม และมาเลเซีย)

ขณะที่สินค้าสำคัญที่หดตัว อาทิ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ หดตัวร้อยละ 13.8 กลับมาหดตัวในรอบ 3 เดือน (หดตัวในตลาดออสเตรเลีย ฟิลิปปินส์ สหรัฐฯ ญี่ปุ่น และมาเลเซีย แต่ขยายตัวในตลาดเวียดนาม แอฟริกาใต้ อาร์เจนตินา ชิลี และจีน) เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ หดตัวร้อยละ 13.1 หดตัวในรอบ 14 เดือน (หดตัวในตลาดจีน เยอรมนี มาเลเซีย เวียดนาม และอาร์เจนตินา แต่ขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ ญี่ปุ่น อินโดนีเซีย อินเดีย และสิงคโปร์) เครื่องโทรสาร โทรศัพท์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ หดตัวร้อยละ 15.5 กลับมาหดตัวหลังจากขยายตัวในเดือนก่อนหน้า (หดตัวในตลาดสหรัฐฯ เนเธอร์แลนด์ ฮ่องกง เมียนมา และสาธารณรัฐเช็ก แต่ขยายตัวในตลาดเม็กซิโก สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ญี่ปุ่น ไอร์แลนด์ และสิงคโปร์) เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ หดตัวร้อยละ 7.6 กลับมาหดตัวหลังจากขยายตัวในเดือนก่อนหน้า (หดตัวในตลาดมาเลเซีย อินโดนีเซีย สิงคโปร์ ออสเตรเลีย และแอฟริกาใต้ แต่ขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ อินเดีย ญี่ปุ่น จีน และแคนาดา) อุปกรณ์กึ่งตัวนำ ทรานซิสเตอร์ และไดโอด หดตัวร้อยละ 33.1 หดตัวต่อเนื่อง 14 เดือน (หดตัวในตลาดสหรัฐฯ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินเดีย และสาธารณรัฐเช็ก แต่ขยายตัวในตลาดฮ่องกง จีน ไต้หวัน อินโดนีเซีย และสิงคโปร์) ทั้งนี้ 4 เดือนแรกของปี 2568 การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม ขยายตัวร้อยละ 18.7

ตลาดส่งออกสำคัญ

การส่งออกไปตลาดสำคัญส่วนใหญ่ขยายตัวต่อเนื่อง โดยยังคงมีปัจจัยหนุนต่อเนื่องจากการเร่งส่งออกท่ามกลางความไม่แน่นอนของนโยบายภาษีของสหรัฐฯ โดยเฉพาะการส่งออกไปตลาดหลักอย่างสหรัฐฯ ที่ขยายตัวสูง หลังการเลื่อนเก็บภาษีศุลกากรต่างตอบแทนออกไปอีก 90 วัน (จนถึง 9 ก.ค. 68) ภาพรวมการส่งออกไปยังกลุ่มตลาดต่าง ๆ สรุปได้ดังนี้ 
(1) ตลาดหลัก ขยายตัวร้อยละ 12.7 โดยขยายตัวต่อเนื่องในตลาดสหรัฐฯ ร้อยละ 23.8 จีน ร้อยละ 3.2 ญี่ปุ่น ร้อยละ 5.5 สหภาพยุโรป (27) ร้อยละ 6.1 อาเซียน (5) ร้อยละ 7.8 และ CLMV ร้อยละ 25.2 (2) ตลาดรอง ขยายตัวร้อยละ 1.4 โดยขยายตัวในตลาดเอเชียใต้ ร้อยละ 8.7 รัสเซียและกลุ่ม CIS ร้อยละ 8.1 และสหราชอาณาจักร ร้อยละ 16.2 แต่หดตัว ในตลาดทวีปออสเตรเลีย ร้อยละ 4.0 และ ตะวันออกกลาง ร้อยละ 15.7 แอฟริกา ร้อยละ 9.5 ลาตินอเมริกา ร้อยละ 3.4 (3) ตลาดอื่น ๆ ขยายตัวร้อยละ 125.5 

ตลาดสหรัฐฯ ขยายตัวร้อยละ 23.8 (ขยายตัวต่อเนื่อง 19 เดือน) สินค้าสำคัญที่ขยายตัว เช่น เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ แผงสวิทซ์และแผงควบคุมกระแสไฟฟ้า และอัญมณีและเครื่องประดับ สินค้าสำคัญที่หดตัว เช่น อุปกรณ์กึ่งตัวนำ ทรานซิสเตอร์ และไดโอด เครื่องโทรสาร โทรศัพท์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ และรถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ทั้งนี้ 4 เดือนแรกของปี 2568 ขยายตัวร้อยละ 25.0 

ตลาดจีน ขยายตัวร้อยละ 3.2 (ขยายตัวต่อเนื่อง 7 เดือน) สินค้าสำคัญที่ขยายตัว เช่น เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์ยาง และยางพารา สินค้าสำคัญที่หดตัว เช่น ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็งและแห้ง เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ และเม็ดพลาสติก ทั้งนี้ 4 เดือนแรกของปี 2568 ขยายตัวร้อยละ 14.3 

ตลาดญี่ปุ่น ขยายตัวร้อยละ 5.5 (ขยายตัวต่อเนื่อง 2 เดือน) สินค้าสำคัญที่ขยายตัว เช่น ยางพารา สินค้าอุตสาหกรรมอื่น ๆ และอัญมณีและเครื่องประดับ สินค้าสำคัญที่หดตัว เช่น รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ และเครื่องรับวิทยุ โทรทัศน์ และส่วนประกอบ ทั้งนี้ 4 เดือนแรกของปี 2568 ขยายตัวร้อยละ 1.3

ตลาดสหภาพยุโรป (27) ขยายตัวร้อยละ 6.1 (ขยายตัวต่อเนื่อง 11 เดือน) สินค้าสำคัญที่ขยายตัว เช่น เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ อากาศยาน ยานอวกาศ และส่วนประกอบ และเลนซ์ สินค้าสำคัญที่หดตัว เช่น เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ และรถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ทั้งนี้ 4 เดือนแรกของปี 2568 ขยายตัว
ร้อยละ 7.0

ตลาดอาเซียน (5) ขยายตัวร้อยละ 7.8 (ขยายตัวต่อเนื่อง 2 เดือน) สินค้าสำคัญที่ขยายตัว เช่น อัญมณีและเครื่องประดับ น้ำตาลทราย และน้ำมันสำเร็จรูป สินค้าสำคัญที่หดตัว เช่น เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ และยางพารา ทั้งนี้ 4 เดือนแรกของปี 2568 ขยายตัวร้อยละ 6.2

ตลาด CLMV ขยายตัวร้อยละ 25.2 (ขยายตัวต่อเนื่อง 2 เดือน) สินค้าสำคัญที่ขยายตัว เช่น อัญมณีและเครื่องประดับ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ และเคมีภัณฑ์ สินค้าสำคัญที่หดตัว เช่น น้ำมันสำเร็จรูป น้ำตาลทราย และเม็ดพลาสติก 

ทั้งนี้ 4 เดือนแรกของปี 2568 ขยายตัวร้อยละ 9.3 

ตลาดเอเชียใต้ ขยายตัวร้อยละ 8.7 (ขยายตัวต่อเนื่อง 7 เดือน) สินค้าสำคัญที่ขยายตัว เช่น อัญมณีและเครื่องประดับ ไขมันและน้ำมันจากพืชและสัตว์ และรถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ สินค้าสำคัญที่หดตัว เช่น เคมีภัณฑ์ เส้นใยประดิษฐ์ และเครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ ทั้งนี้ 4 เดือนแรกของปี 2568 ขยายตัวร้อยละ 60.5 

ตลาดทวีปออสเตรเลีย หดตัวร้อยละ 4.0 (หดตัวต่อเนื่อง 5 เดือน) สินค้าสำคัญที่หดตัว เช่น รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เม็ดพลาสติก และเครื่องสำอาง สบู่ และผลิตภัณฑ์รักษาผิว สินค้าสำคัญที่ขยายตัว เช่น น้ำมันสำเร็จรูป น้ำตาลทราย และเครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ ทั้งนี้ 4 เดือนแรกของปี 2568 หดตัวร้อยละ 12.9 

ตลาดตะวันออกกลาง หดตัวร้อยละ 15.7 (กลับมาหดตัวในรอบ 3 เดือน) สินค้าสำคัญที่หดตัว เช่น รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ข้าว และอาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป สินค้าสำคัญที่ขยายตัว เช่น เครื่องโทรสาร โทรศัพท์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์ยาง และเส้นใยประดิษฐ์ ทั้งนี้ 4 เดือนแรกของปี 2568 ขยายตัวร้อยละ 4.4 

ตลาดทวีปแอฟริกา หดตัวร้อยละ 9.5 (กลับมาหดตัวในรอบ 6 เดือน) สินค้าสำคัญที่หดตัว เช่น ข้าว น้ำตาลทราย และ
เม็ดพลาสติก สินค้าสำคัญที่ขยายตัว เช่น ไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ และเครื่องยนต์สันดาปภายใน ทั้งนี้ 4 เดือนแรกของปี 2568 ขยายตัวร้อยละ 2.9 

ตลาดลาตินอเมริกา หดตัวร้อยละ 3.4 (กลับมาหดตัวในรอบ 13 เดือน) สินค้าสำคัญที่หดตัว เช่น รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบของเครื่องจักรกล และผลิตภัณฑ์ยาง สินค้าสำคัญที่ขยายตัว เช่น หม้อแปลงไฟฟ้าและส่วนประกอบ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ และแผงวงจรไฟฟ้า ทั้งนี้ 4 เดือนแรกของปี 2568 ขยายตัวร้อยละ 11.2 

ตลาดรัสเซียและกลุ่มประเทศ CIS ขยายตัวร้อยละ 8.1 (กลับมาหดตัวในรอบ 3 เดือน) สินค้าสำคัญที่ขยายตัว เช่น อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ และเครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ สินค้าสำคัญที่หดตัว เช่น รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ อากาศยาน ยานอวกาศ และส่วนประกอบ และเม็ดพลาสติก ทั้งนี้ 4 เดือนแรกของปี 2568 ขยายตัวร้อยละ 23.0 

ตลาดสหราชอาณาจักร ขยายตัวร้อยละ 16.2 (ขยายตัวต่อเนื่อง 10 เดือน) สินค้าสำคัญที่ขยายตัว เช่น อัญมณีและเครื่องประดับ เครื่องโทรสาร โทรศัพท์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ และไก่แปรรูป สินค้าสำคัญที่หดตัว เช่น รถจักรยานยนต์และส่วนประกอบ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ และผลิตภัณฑ์ยาง ทั้งนี้ 4 เดือนแรกของปี 2568 ขยายตัวร้อยละ 9.2
แนวโน้มการส่งออกในระยะถัดไป

แนวโน้มการส่งออกในปี 2568 ในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ คาดว่าไทยจะยังต้องเผชิญกับความเสี่ยงจากภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ ที่อาจถูกเรียกเก็บภายหลังพ้นจากช่วงเวลาที่ได้รับการยกเว้น 90 วัน ทั้งนี้ ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา กระทรวงพาณิชย์และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน ได้ประชุมหารือกันอย่างต่อเนื่องในการเตรียมพร้อมแนวทางการเจรจาการค้ากับสหรัฐฯ และวางแผนออกมาตรการเยียวยาเพื่อลดผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับผู้ประกอบการ ตลอดจนทำงานเชิงรุกผ่านการเจรจา FTA ในระดับต่าง ๆ อาทิ การพัฒนาสินค้าให้มีมูลค่าสูง เร่งรัดการเปิดตลาดใหม่ ควบคู่กับการใช้มาตรการเชิงรับ อาทิ การป้องกันการสวมสิทธิ์ส่งออก การป้องกันการลักลอบนำเข้า การบังคับใช้กฎระเบียบด้านคุณภาพและมาตรฐานสินค้า และการติดตามเฝ้าระวังการเบี่ยงเบนทางการค้า สะท้อนถึงความมุ่งมั่นในการสร้างเครื่องมือและกลไกต่าง ๆ เพื่อป้องกันและบรรเทาผลกระทบจากความไม่แน่นอนทางการค้าของโลก ด้วยเป้าหมายที่จะพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาส และรักษาระดับการเติบโตของการส่งออกไทยให้บรรลุตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ในปี 2568 
แม้ต้องเผชิญกับความท้าทายรอบด้าน