วันอังคาร ที่ 01 กรกฎาคม พ.ศ. 2568, 16.16 น.
AOT เดินหน้าพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน รองรับหน้าที่ “ประตูสู่ประเทศ”
นางสาวปวีณา จริยฐิติพงศ์ รักษาการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ในวันที่ 1 กรกฎาคม 2568 นี้ AOT จะดำเนินงานครบรอบ 46 ปี โดยตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา AOT ได้มีภารกิจสำคัญในการขับเคลื่อนโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมทางอากาศ อีกทั้งยังมีบทบาทโดยตรงต่อระบบโลจิสติกส์ของประเทศด้วยการพัฒนาท่าอากาศยานให้มีความทันสมัย เพื่อรองรับหน้าที่ “ประตูสู่ประเทศ” โดยมุ่งมั่นก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางการบินของภูมิภาค Aviation Hub) นอกจากนี้ AOT ยังให้ความสำคัญกับการยกระดับมาตรฐานการให้บริการสู่ระดับสากล ควบคู่กับการส่งเสริมอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและบริการ ซึ่งเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และการพัฒนาธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการบินและไม่เกี่ยวกับการบิน เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศโดยรวม
AOT บริหารท่าอากาศยานหลัก 6 แห่งของประเทศไทย ได้แก่ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ท่าอากาศยานดอนเมือง ท่าอากาศยานเชียงใหม่ ท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวง เชียงราย ท่าอากาศยานภูเก็ต และท่าอากาศยานหาดใหญ่ โดยในช่วง 8 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2568 (เดือนตุลาคม 2567 – พฤษภาคม 2568) มีผู้โดยสารใช้บริการท่าอากาศยานทั้ง 6 แห่งรวม 88.53 ล้านคน เพิ่มขึ้น 9.2% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แบ่งเป็นผู้โดยสารระหว่างประเทศ 54.24 ล้านคน เพิ่มขึ้น 10.8% และผู้โดยสารภายในประเทศ 34.29 ล้านคน เพิ่มขึ้น 6.9% ขณะที่มีเที่ยวบิน 544,590 เที่ยวบิน เพิ่มขึ้น 10.9% แบ่งเป็นเที่ยวบินระหว่างประเทศ 308,777 เที่ยวบิน เพิ่มขึ้น 12.5% และเที่ยวบินภายในประเทศ 235,813 เที่ยวบิน เพิ่มขึ้น 8.9% นอกจากนี้ AOT ได้ประมาณการปริมาณการจราจรทางอากาศในปีงบประมาณ 2569 (เดือนตุลาคม 2568 - กันยายน 2569) คาดว่าจะมีผู้โดยสารรวมกว่า 130 ล้านคน เที่ยวบินรวมกว่า 859,000 เที่ยวบิน และคาดว่าจะมีจำนวนสินค้าและไปรษณียภัณฑ์ (Cargo) ประมาณ 1.64 ล้านตัน

“ท่าอากาศยานทั้ง 6 แห่ง สามารถบริหารจัดการได้อย่างมีประสิทธิภาพ สถิติดีกว่าเกณฑ์ที่กำหนดไว้ โดยที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิมีสถิติผู้โดยสารขาเข้าระหว่างประเทศเฉลี่ย 21 นาทีต่อคน ขาออกระหว่างประเทศ 27 นาทีต่อคน และผู้โดยสารขาเข้าภายในประเทศ 14 นาทีต่อคน ขาออกภายในประเทศ 15 นาทีต่อคน ส่วนท่าอากาศยานดอนเมืองมีสถิติผู้โดยสารขาเข้าระหว่างประเทศเฉลี่ย 21 นาทีต่อคน ขาออกระหว่างประเทศ 22 นาทีต่อคน และผู้โดยสารขาเข้าภายในประเทศ 8 นาทีต่อคน ขาออกภายในประเทศ 10 นาทีต่อคน “
สำหรับท่าอากาศยานสุวรรณภูมิซึ่งมีผู้โดยสารใช้บริการมากสุด AOT มีแผนจะผลักดันให้ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิก้าวเป็นศูนย์กลางการบินแห่งภูมิภาค ยกระดับประสบการณ์และความพึงพอใจของผู้โดยสาร ผ่านโครงการ Suvarnabhumi Airport Experience Enhancement ที่ขณะนี้อยู่ระหว่างปรับปรุงพื้นที่บริเวณอาคารผู้โดยสารขาออก Concourse C เพื่อเพิ่มสิ่งอำนวยความสะดวกให้กับผู้โดยสารทุกเพศทุกวัย เช่น Kids and Gaming Zone สำหรับผู้โดยสารกลุ่มครอบครัว และพื้นที่ Relaxing Co-Working Space Zone และ Digital Park Seats สำหรับกลุ่มวัยทำงาน พร้อมเปิดใช้งานได้ภายในปี 2569 นอกจากนี้ อยู่ระหว่างการปรับปรุงห้องน้ำ และสิ่งอำนวยความสะดวกอื่นๆ ทั้งในส่วนของอาคารผู้โดยสาร และอาคารเทียบเครื่องบิน ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ คาดว่าจะทยอยแล้วเสร็จภายในปี 2571
ด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน AOT จะเร่งดำเนินโครงการพัฒนาท่าอากาศยานทั้ง 6 แห่ง ให้สามารถรองรับผู้โดยสารได้ตามปริมาณการเติบโตของผู้โดยสาร โดยท่าอากาศยานสุวรรณภูมิจะเร่งก่อสร้างส่วนต่อขยายด้านทิศตะวันออก (East Expansion) ให้แล้วเสร็จในปี 2573 เพื่อเพิ่มขีดความสามารถจากปัจจุบัน 65 ล้านคนต่อปี เป็น 80 ล้านคนต่อปี ปัจจุบันอยู่ระหว่างการศึกษาแผนแม่บทท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปีนี้ ควบคู่กับการเริ่มดำเนินโครงการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิด้านทิศใต้ ประกอบด้วย อาคารผู้โดยสารด้านทิศใต้ (South Terminal) และทางวิ่งเส้นที่ 4 (4th Runway) สำหรับท่าอากาศยานดอนเมืองคาดว่าจะเริ่มก่อสร้างอาคารผู้โดยสารอาคาร 3 ได้ภายในปี 2569 และเปิดให้บริการอาคารผู้โดยสารอาคาร 3 เพื่อรองรับผู้โดยสารระหว่างประเทศในปี 2573 และปรับปรุงอาคารผู้โดยสารอาคาร 1 เพื่อรองรับผู้โดยสารภายในประเทศในปี 2575 พร้อมกันนี้ จะดำเนินการปรับปรุงท่าอากาศยานเชียงใหม่ให้แล้วเสร็จในปี 2576 ทำให้สามารถรองรับผู้โดยสารได้ 20 ล้านคนต่อปี ส่วนท่าอากาศยานภูเก็ตจะก่อสร้างส่วนต่อขยายอาคารผู้โดยสารระหว่างประเทศ ซึ่งจะเพิ่มขีดความสสามารถของท่าอากาศยานภูเก็ตเป็น 18 ล้านคนต่อปี คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2573 และท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวง เชียงรายมีแผนจะพัฒนาให้รองรับผู้โดยสารจาก 3 ล้านคนต่อปี เป็น 6 ล้านคนต่อปี คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2576