วันพฤหัสบดี ที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2567 15:54 น.

เศรษฐกิจ

ลุ้นรัฐชี้ชะตาโรงไฟฟ้าถ่านหิน

วันจันทร์ ที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2559, 06.22 น.

ลุ้นรัฐชี้ชะตาโรงไฟฟ้าถ่านหิน กฟผ.พร้อมจัดหาความมั่นคงของชาติ

         

เมื่อเร็วๆ นี้ คณะผู้บริหารการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ได้นำทีมคณะสื่อมวลชนเหินลัดฟ้า ไปดูงานโรงไฟฟ้าถ่านหินฮิตาชินากะและโรงไฟฟ้าชีวมวลโกโนะอิเคะ ณ ประเทศญี่ปุ่น ซึ่ง กฟผ.มั่นใจพร้อมพัฒนาโรงไฟฟ้าถ่านหินด้วยเทคโนโลยีทันสมัยระดับสากล ควบคู่พลังงานหมุนเวียนเพื่อความยั่งยืนและสอดคล้องกับกระแสโลกในปัจจุบัน

 

กฟผ. ยันโรงไฟฟ้าถ่านหินทันสมัยระดับสากล

           

นายวิวัฒน์ ชาญเชิงพานิช รองผู้ว่าการพัฒนาโรงไฟฟ้า การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยว่า การมาดูงานครั้งนี้ ทำให้สื่อมวลชนได้เห็นการพัฒนาเทคโนโลยีโรงไฟฟ้าในระดับสากล ที่ประเทศไทยจะนำมาใช้ในโรงไฟฟ้าของ กฟผ. ได้แก่โรงไฟฟ้าแม่เมาะทดแทนเครื่องที่ 4-7 กระบี่ และเทพา ซึ่งเป็นเทคโนโลยีเดียวกับโรงไฟฟ้าฮิตาชินากะ ที่นับว่า ทันสมัยมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก โดยจะสามารถควบคุมมลภาวะทั้งก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ออกไซด์ของไนโตรเจน และฝุ่น ในระดับที่ใกล้เคียงกันกับโรงไฟฟ้า ฮิตาชินากะ ซึ่งโรงไฟฟ้ากระบี่ และเทพา ยังได้ติดตั้งเครื่องกำจัดปรอท หรือ ACI เพิ่มเติม เพื่อคลายความวิตกกังวลของชุมชนในพื้นที่ แม้ว่าถ่านหินจะนำมาจากแหล่งเดียวกับโรงไฟฟ้าฮิตาชินากะ คืออินโดนีเซียและออสเตรเลียก็ตาม

         

สำหรับการดำเนินการด้านชุมชน ถือว่าประเทศไทยดีกว่า เพราะเรามีกองทุนพัฒนาไฟฟ้า ที่ชุมชนมีรายได้สามารถนำไปพัฒนาท้องถิ่นหรือใช้ตามวัตถุประสงค์ของ กองทุนตลอดอายุของโรงไฟฟ้า ซึ่งจะทำให้เกิดการพัฒนาในท้องถิ่นอย่างต่อเนื่อง ส่วนโรงไฟฟ้าพลังงานชีวมวล กระทรวงพลังงาน ให้การสนับสนุน เนื่องจากสามารถสร้างมูลค่าเพิ่ม ช่วยลดการนำเข้าเชื้อเพลิงได้อีกบางส่วน และสอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาพลังงานของโลกในปัจจุบัน แต่หากมองในด้านความมั่นคงของระบบไฟฟ้าจะพบว่า โรงไฟฟ้าชีวมวลส่วนใหญ่จะไม่มีความมั่นคง เนื่องจากแหล่งเชื้อเพลิงมีตามฤดูกาล การขายไฟฟ้าส่วนใหญ่ยังคงเป็นแบบ Non-firm เนื่องจากมีปัจจัยเกี่ยวกับฤดูกาลเข้ามาเกี่ยวข้อง เช่นในหน้าแล้งจะมีเปลือกไม้น้อยลง ทำให้คุณสมบัติไม่เป็นไปตามสเปกของโรงไฟฟ้า ตลอดจนปริมาณขี้เลื่อย ยังขึ้นอยู่กับปริมาณการผลิตของโรงงานแปรรูปไม้ ซึ่งขึ้นลงตามภาวะธุรกิจของโรงงานแปรรูปไม้

         

ด้านนายบุญญนิตย์ วงศ์รักมิตร รองผู้ว่าการกิจการสังคม กล่าวว่า ประเทศญี่ปุ่นมีสัดส่วนการใช้ถ่านหินผลิตไฟฟ้าในปัจจุบันถึงประมาณ 34% มีโรงไฟฟ้าถ่านหินกำลังดำเนินการอยู่ประมาณ 90 โรง กำลังการผลิตกว่าประมาณ 46,000 เมกะวัตต์ และมีแผนก่อสร้างอีก 20 โรง จำนวน กว่าประมาณ 20,000 เมกะวัตต์ ในช่วง 12 ปีข้างหน้า การนำสื่อมวลชน มาเยี่ยมชมโรงไฟฟ้าในครั้งนี้ นอกจากจะมาดูในเรื่องของเทคนิคแล้ว ยังต้องการให้สื่อมวลชนได้พิสูจน์ด้วยตนเองว่า ทำไมชาวญี่ปุ่นจึงมีความเชื่อถือต่อโรงไฟฟ้า ถ่านหิน โดยสื่อมวลชนได้ซักถามผู้บริหารโรงไฟฟ้าในทุกแง่มุม รวมทั้งพูดคุยกับชุมชนในพื้นที่ใกล้เคียง เช่น ตลาดปลานาคามินาโตะ ซึ่งอยู่ห่างโรงไฟฟ้าถ่านหินประมาณ 20 กิโลเมตร ซึ่งผู้ค้าปลาและประชาชนหลายคน ได้กล่าวแสดงความคิดเห็นว่า โรงไฟฟ้าไม่มีผลกระทบต่ออาหารปลาและอากาศในพื้นที่ และยังช่วยให้เมืองมีรายได้เพียงพอต่อการสร้างสาธารณประโยชน์ต่างๆ เช่น ถนน โรงพยาบาล เป็นต้น

         

โดยการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินในประเทศ จึงอยากขอฝากถึงพี่น้องประชาชนว่า การตัดสินใจในการมีโรงไฟฟ้า เช่นโรงไฟฟ้ากระบี่นั้น รัฐบาลและ กฟผ.รับฟังทั้งคนในพื้นที่และนอกพื้นที่ แต่ในท้ายที่สุดแล้ว ควรฟังเสียงที่แท้จริงของประชาชนในพื้นที่ ว่าต้องการมีโครงการโรงไฟฟ้าหรือไม่

           

จากการดูงานเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศไทยยังมีความจำเป็นที่ต้องมีโรงไฟฟ้าสำรองไว้ในอนาคตเพื่อความมั่นคงของระบบไฟฟ้าในประเทศ ดังนั้นการที่จะมีการผลักดันให้เกิดโรงไฟฟ้ากระบี่และโรงไฟฟ้าเทพา ซึ่งไทยมีสัดส่วนกำลังการผลิตจากเชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติ สูงถึงประมาณ 67% การพึ่งพาดังกล่าวทำให้เกิดโอกาสเสี่ยง สูงมากที่เกิดขึ้น หากระบบก๊าซธรรมชาติมีปัญหา จึงจำเป็นต้องมีการกระจายความเสี่ยงไปใช้เชื้อเพลิงที่มีหลากหลายขึ้น ขณะที่ต้นทุนการผลิตไฟฟ้าในแต่ละประเภทมีต้นทุนค่าเชื้อเพลิงที่แตกต่างกัน มีประสิทธิภาพที่แตกต่างกัน

         

สำหรับโรงไฟฟ้าถ่านหิน มีต้นทุนราคาค่าเชื้อเพลิงถูกกว่า LNG ดังนั้น ถ้ามีสัดส่วนโรงไฟฟ้าถ่านหินในปริมาณที่มากพอ ก็จะทำให้ต้นทุนราคาค่าไฟฟ้าในภาพรวมถูกลง เช่น ในกรณีของโรงไฟฟ้ากระบี่ และโรงไฟฟ้าเทพาเนื่องจากใช้เชื้อเพลิงถ่านหินที่มีราคาถูกกว่า LNG เมื่อก่อสร้างเสร็จและเดินเครื่องผลิตไฟฟ้าได้ จะทำให้ลดปริมาณการใช้ LNG ที่ต้องนำเข้าและมีราคาแพง ซึ่งจะทำให้ราคาค่าไฟฟ้าในภาพรวมลดลง

         

ทั้งนี้ เป็นที่น่าสังเกตว่านโยบายการก่อสร้างโรงไฟฟ้ากระบี่ และโรงไฟฟ้าเทพาจะเกิดขึ้นได้หรือไม่ขึ้นอยู่กับรัฐบาลว่าจะกล้าตัดสินใจหรือไม่ เมื่อเปรียบเทียบข้อมูลของ กฟผ.มีความชัดเจนหลายด้าน เพียงแต่กระทรวงพลังงานและรัฐบาลมีความกังวลกับกลุ่มผู้คัดค้านอย่างเอ็นจีโอที่ออกมาค้านการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน ซึ่งทาง กฟผ.เองก็ได้เคลียร์ปัญหาความไม่ชัดเจนและแสดงให้เห็นถึงผลดี-ผลเสียให้เห็นแล้ว

         

อย่างไรก็ตาม หากรัฐบาลไม่รีบตัดสินใจก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินก็จะทำให้เกิดความเสียหายในแง่เศรษฐกิจในภาคใต้ และต้นทุนการก่อสร้างในอนาคตที่จะเพิ่มขึ้นเพราะความล่าช้าอย่างน้อย 2-3 ปี ความเสียหายที่เกิดขึ้นกับพื้นที่เศรษฐกิจการท่องเที่ยวของภาคใต้อย่างแน่นอน

 

โรงไฟฟ้าถ่านหิน-ชีวมวลญี่ปุ่นรอบชุมชน

         

นายสึเนะโยชิ คาซามิ ผู้จัดการโรงไฟฟ้าพลังความร้อนฮิตาชินากะ เปิดถึงบรรยายการดำเนินงานโรงไฟฟ้าฮิตาชินากะ (Hitachinaka) ว่า บริษัทเทปโก้เป็นเจ้าของ ดูแลการผลิตและจ่ายไฟฟ้าในเขตคันโต ซึ่งรวมถึงกรุงโตเกียว โรงไฟฟ้าตั้งอยู่ในจังหวัดอิบารากิห่างกรุงโตเกียวประมาณ 130 กิโลเมตร พื้นที่โรงไฟฟ้าเกิดจากการถมทะเล ซึ่งเพียงพอสำหรับโรงไฟฟ้า 2 โรง กำลังผลิตโรงละ 1,000 เมกะวัตต์ รวมกันประมาณ 2,000 เมกะวัตต์ โดยโรงไฟฟ้า เครื่องที่ 1 และ 2 เริ่มจ่ายกระแสไฟฟ้าได้ในปี 2546 และ 2556 ตามลำดับ กระบวนการผลิตใช้เทคโนโลยี Ultra Super Critical และใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิงวันละ 16,000ตัน ขนส่งถ่านหินจากอินโดนีเซีย ออสเตรเลีย และรัสเซีย ลานกองถ่านหินสามารถสำรองถ่านได้ถึง 800,000 ตัน สำหรับขี้เถ้าจากโรงไฟฟ้าจะนำไปถมทะเลเพื่อขยายพื้นที่ทำเป็นท่าเทียบเรือและได้เตรียมก่อสร้างโรงไฟฟ้าเครื่องที่ 3 ขนาดกำลังผลิต 650 เมกะวัตต์ ซึ่งอยู่ในระหว่างปรับพื้นที่ก่อสร้างและมีกำหนดจ่ายไฟฟ้าในปี 2564

         

ในด้านการดูแลสิ่งแวดล้อม โรงไฟฟ้าแห่งนี้มีการควบคุมมลภาวะตามที่ได้ตกลงกับชุมชน ทั้งก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ออกไซด์ของไนโตรเจน และฝุ่น ซึ่งดีกว่าค่ามาตรฐานตามกฎหมาย 3-5 เท่า ทำให้ไม่มีปัญหากับชุมชนตลอดระยะเวลา 14 ปีที่เปิดดำเนินการมา สำหรับประโยชน์ที่ท้องถิ่นได้รับ จะเป็นงบประมาณที่โรงไฟฟ้ามอบให้ประมาณ 1.4% ของเงินลงทุนโครงการ รวมทั้งจ่ายภาษีให้แก่เมืองและรัฐบาลตามปกติ โรงไฟฟ้ายังรับคนในพื้นที่เข้ามาทำงานในเวลาดำเนินงานปกติประมาณ 200 อัตรา แต่ในช่วงก่อสร้างจะมีคนทำงานถึงกว่าพันคนโรงไฟฟ้ายังดำเนินงานด้วยความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม โดยเตรียมนำเศษไม้มาผสมใช้เป็นเชื้อเพลิงบางส่วน เพื่อ ช่วยให้เกิดการใช้เชื้อเพลิงในประเทศ และลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์อีกทางหนึ่ง

         

สำหรับราคาไฟฟ้าที่ขายให้ระบบไฟฟ้า เป็นราคาที่ได้รับการอุดหนุนในรูปแบบของ Feed in Tariff ในราคา 24 เยนต่อหน่วย หรือประมาณ 8 บาทต่อหน่วย ซึ่งทำสัญญาขายไฟฟ้าแบบ Non-firm ทำให้บริษัทมีรายได้เพิ่มเติมจากการผลิตไฟฟ้า สามารถคืนทุนได้ในระยะเวลา 7-8 ปี ส่วนการคุมมลภาวะของโรงไฟฟ้าชีวมวลจะเป็นไปตามมาตรฐานทางกฎหมาย โดยจะมีบริษัทเข้ามาตรวจสอบทุกเดือน เพื่อจัดทำรายงานต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

 

ลุ้นประชามติถ่านหินรอบสุดท้ายก่อนถก กพช.

         

นายวิวัฒน์ กล่าวต่อว่า การสำรวจความเห็นประชาชนต่อโรงไฟฟ้าถ่านหิน จ.กระบี่ ทางกระทรวงพลังงานหรือคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (เรกูเลเตอร์) จะเป็นผู้จัดหาสถาบันการศึกษามาทำหน้าที่สำรวจครั้งนี้ โดย กฟผ.จะไม่เข้าไปดำเนินการใดๆ เพื่อเปิดทางให้มีบุคคลภายนอกหรือบุคคลที่ 3 เป็นผู้สำรวจความเห็นเพื่อให้เกิดความเป็นกลาง ประกอบกับรัฐบาลได้มีแนวทางให้ กฟผ.หยุดการดำเนินการใดๆ ที่เกี่ยวข้องกับโรงไฟฟ้าถ่านหินในช่วงนี้

         

ทั้งนี้การสำรวจความเห็นหรือการทำประชามติรอบนี้ควรให้ประชาชนในพื้นที่ จ.กระบี่ เป็นผู้ตอบแบบสอบถามจริงๆ ไม่ใช่คนนอกพื้นที่ เพื่อที่จะต้องการทราบชัดเจนว่าคนพื้นที่มีความเห็นอย่างไรกับโรงไฟฟ้าถ่านหิน หลังจากนั้นจะนำไปหารือในที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.)ในเดือน ม.ค.60 ซึ่งน่าจะเป็นการตัดสินใจของรัฐบาลว่าจะเดินหน้าโรงไฟฟ้าถ่านหินต่อหรือจะให้หยุดโครงการ