วันอาทิตย์ ที่ 27 ตุลาคม พ.ศ. 2567 06:23 น.

การศึกษา

มข.เปิดที่มา “ระบบใบรับรองดิจิทัล TUC” ใช้เอกสารอิเล็กทรอนิกส์ระหว่างหน่วยงาน

วันพุธ ที่ 17 มกราคม พ.ศ. 2567, 19.28 น.

มข.เปิดที่มา “ระบบใบรับรองดิจิทัล TUC” ใช้เอกสารอิเล็กทรอนิกส์ระหว่างหน่วยงาน

 

กลายเป็นอีกก้าวหนึ่งของการขับเคลื่อนประเทศไทยด้วยระบบดิจิทัล เมื่อ น.ส.ศุภมาส อิศรภักดี  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม แจ้งข่าวดีว่า อว.ออกประกาศ เรื่องการใช้เอกสารอิเล็กทรอนิกส์และลายมือชื่อดิจิทัลภายใต้ใบรับรองดิจิทัล Thai University Consortium (TUC)   ซึ่งพัฒนาโดยมหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) เพื่อให้หน่วยงานและสถาบันอุดมศึกษาทุกแห่งในสังกัด อว.สามารถปรับใช้ในงานทางธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ระหว่างหน่วยงานภายใน โดยไม่มีค่าใช้จ่าย

 

 

 

กว่าจะมีระบบ TUC ตามประกาศในครั้งนี้ ผศ.ดร.เด่นพงษ์ สุดภักดี รองอธิการบดีฝ่ายดิจิทัล มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวถึงจุดเริ่มต้นการพัฒนาระบบว่า ช่วงสถานการณ์โควิด-19 ทำให้ผู้บริหาร คณาจารย์ และบุคลากรมหาวิทยาลัยขอนแก่นต้อง Work from home จึงจำเป็นต้องหาเครื่องมือบางอย่างมาสนับสนุน ตามนโยบาย Digital Transformation เพื่อลดการรับ-ส่งเอกสารในรูปแบบกระดาษ นำมาสู่การพัฒนาและใช้ระบบเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ (Digital Document) ที่มีความน่าเชื่อถือและพิสูจน์ความเป็นเจ้าของได้ ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ.2544 โดยให้บุคลากรทุกคนใช้และลงนามด้วยลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ หรือลายเซ็นดิจิทัล (Digital Signature) และมีระบบการรับรองลายเซ็นที่มีความน่าเชื่อถือ เรียกว่า Certification Authority : CA

 

“ช่วงเริ่มพัฒนา เรามองไว้แล้วว่าจะสร้างระบบเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ ไม่ใช่เพื่อใช้ในมหาวิทยาลัยขอนแก่นเท่านั้น แต่ต้องการให้ระบบนี้ถูกนำไปใช้อย่างแพร่หลายในระดับหน่วยงาน และระดับประเทศ หลังใช้งานภายในมหาวิทยาลัยขอนแก่นแล้ว ในระยะเริ่มแรกได้ร่วมกับอีก 7-8 มหาวิทยาลัย ขยายการใช้งานภายใต้การรับรองโดยเครือข่ายมหาวิทยาลัยไทย หรือ Thai University Consortium (TUC) ซึ่งได้รับผลตอบรับเป็นอย่างดีจากผู้ใช้งาน”

 

ไม่เพียงความน่าเชื่อถือ ความสะดวกสบาย และความรวดเร็วในการใช้งานเท่านั้น แต่การลงลายเซ็นดิจิทัล ภายใต้ใบรับรองดิจิทัล TUC ยังช่วยลดค่าใช้จ่ายได้ โดยเฉพาะค่าใช้จ่ายในการจัดซื้อลายเซ็นดิจิทัล ที่เป็นที่ยอมรับในระดับสากลและเป็นที่รู้จักทั่วไป ซึ่งจะเสียค่าใช้จ่ายต่อปี 1,500/คน ปัจจุบัน มหาวิทยาลัยขอนแก่นมีการออกลายเซ็นดิจิทัลในมหาวิทยาลัยแล้วกว่า 12,000 คน ซึ่งช่วยลดค่าใช้จ่ายไปได้อย่างน้อย 15 ล้านบาทต่อปี อีกทั้งการใช้ระบบนี้ในการทำงานด้านเอกสารยังช่วยลดการใช้กระดาษในระบบมหาวิทยาลัยขอนแก่นได้มากกว่า 40% ตั้งแต่การใช้งานในปีแรก จึงใช้งานต่อเนื่องเข้าสู่ปีที่ 4 แล้ว

 

เมื่อประสบความสำเร็จทั้งในมหาวิทยาลัยขอนแก่น และในเครือข่ายมหาวิทยาลัยไทยช่วงแรกแล้ว กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ที่เล็งเห็นถึงความสำคัญของระบบนี้จึงได้ขยายผล โดยการจัดตั้ง Thai University Consortium Certification Authority (TUC-CA) ขับเคลื่อนระบบลายมือชื่อดิจิทัล – รองรับธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งมีหน่วยงานและสถาบันอุดมศึกษาเข้าร่วม 114 แห่ง เมื่อเดือนมิถุนายน 2566 และล่าสุดรัฐมนตรีว่าการกระทรวง อว. ก็ได้กำหนดนโยบาย e-Document เป็นเรื่องสำคัญ และชู TUC-CA ออกมาเป็นประกาศกระทรวงเพื่อให้เกิดการใช้งานอย่างแพร่หลายมากยิ่งขึ้น

 

“เป็นเรื่องน่ายินดีที่ระบบที่มหาวิทยาลัยขอนแก่นพัฒนาขึ้นมานี้ ไม่ได้ทำและใช้อยู่ภายในเท่านั้น แต่ยังขยายผลไปยังหน่วยงานอื่น ๆ จนกลายเป็นที่ยอมรับในความเป็นดิจิทัลภาพใหญ่ โดยมีกระทรวง อว.เป็นผู้นำในการใช้งาน”

 

 

 

ด้านดร.กิตติ์ เธียรธโนปจัย ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายดิจิทัล กล่าวเสริมถึงขั้นตอนการพัฒนาระบบ TUC ว่า   โจทย์ที่ได้รับมา คือ การสร้างความน่าเชื่อถือให้กับคนที่ไม่เคยรู้จักกันมาก่อน ดังนั้น จึงมีกรอบความคิดว่า   ควรมีองค์กรที่ทุกคนเชื่อถือมาเป็นตัวกลาง คล้ายกับบัตรประชาชนที่เป็นเอกสารรับรองจากกรมการปกครอง  การสร้าง TUC ก็เปรียบเสมือนองค์กรคล้าย Trusted Third Party ซึ่งเป็นตัวกลางช่วยรับรององค์กรย่อย แล้วองค์กรย่อยก็จะไปรับรองตัวบุคคลที่อยู่ในสังกัดต่อไป โดยระบบนี้ใช้เทคโนโลยีระบบรหัสแบบกุญแจสาธารณะ (Public Key Infrastructure : PKI) ซึ่งเกิดขึ้นมานานและใช้อย่างแพร่หลายในต่างประเทศ แต่ในประเทศไทยยังไม่มีการนำมาใช้อย่างเป็นรูปธรรม

 

“ข้อดีของ TUC คือ ใช้งานได้กับ PDF Reader ทุกตัว ทั้ง Adobe หรือ Foxit เป็นการช่วยยืนยันตัวตน ตรวจสอบที่มาได้ ลดปัญหาการปลอมแปลงลายเซ็น ปลอมแปลงเอกสาร และการจัดการเอกสารต่าง ๆ ในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ ลดขั้นตอนการทำงาน และลดกำลังคนในการส่งเอกสารด้วย ในต่างประเทศมีการใช้งานอย่างแพร่หลาย บางประเทศเริ่มใช้ในการทำสัญญาแล้ว”

 

ทั้งนี้ ในอนาคตหวังว่าระบบ TUC นี้จะขยายการใช้งานไปได้เป็นวงกว้าง แต่ผู้ใช้งานก็ต้องคำนึงถึงข้อมูลส่วนบุคคลของตัวเองด้วย โดยไม่ควรนำ Digital ID ของตัวเองไปแจกจ่ายให้คนอื่น หรือเปิดเผย Password ของตัวเองให้ผู้อื่นทราบ และในอนาคตเร็ว ๆ นี้คาดว่าแอปพลิเคชันสำหรับการใช้งาน TUC ทั้ง Adobe หรือ Foxit จะพัฒนาไปสู่การใช้งานบนไอแพด, แท็บเล็ต หรือสมาร์ตโฟน ได้สะดวกและรวดเร็วมากยิ่งขึ้นในยุคดิจิทัล

 

ส่งข่าวได้ที่  email : saowaporn12345@gmail.com   และ  bat_mamsao@yahoo.com

หน้าแรก » การศึกษา