วันเสาร์ ที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2567 09:58 น.

การเงิน หุ้น

CKP พร้อม COD “เขื่อนไซยะบุรี” ปั้มรายได้ 1.4 หมื่นล้าน/ปี

วันจันทร์ ที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2562, 11.49 น.

พร้อมแล้ว 100 % CKP เตรียม COD “เขื่อนไซยะบุรี” เข้าระบบจ่ายไฟฟ้าพลังน้ำไทย-ลาวเป็นทางการ 29 ตุลาฯนี้ รับทรัพย์อู้ฟู้ 1.2-1.4 หมื่นล้านต่อปี กินยาวอายุสัมปทาน 31 ปี หลังใช้เวลาสร้าง 12 ปีทุ่มงบฯกว่า 1.35 แสนล้าน ยันสร้างความสมดุลทางธุรกิจควบคู่สิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน

วันที่ 21 ต.ค.62 นายธนวัฒน์ ตรีวิศวเวทย์ กรรมการผู้จัดการบริษัท ซีเค พาวเวอร์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่าบริษัท ซีเค พาวเวอร์ ในฐานะผู้พัฒนาและบริหารโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำไซยะบุรี มีความพร้อม 100 เปอร์เซ็นต์แล้ว ที่จะต่อไฟฟ้าโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำไซยะบุรีเข้าระบบการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เพื่อจำหน่ายไฟเชิงพาณิชย์ (COD) ในวันที่ 29 ตุลาคม 2562 นี้ หลังได้ทำการทดสอบเครื่องผลิตไฟฟ้าทั้ง 8 ชุดของ กฟผ.ตามเงื่อนไขสัญญาซื้อขายไฟฟ้าแล้ว มีกำลังการผลิตรวม 1,285 เมกะวัตต์ มีสัญญาซื้อขายพลังงานไฟฟ้ากับ กฟผ. 95 เปอร์เซ็นต์ และ รัฐวิสาหกิจไฟฟ้าลาว 5 เปอร์เซ็นต์ อัตราเฉลี่ย 2 บาท/กิโลวัตต์ เป็นสัญญาสัมปทานระหว่าง รัฐบาล สปป.ลาว กับ บริษัท ไซยะบุรี พาวเวอร์ จำกัด ระยะเวลาสัญญาสัมปทาน 31 ปี สามารถผลิตพลังงานไฟฟ้าได้สูงสุด 7,600 ล้านหน่วย/ปี อย่างไรก็ตามโรงไฟฟ้าพลังน้ำไซยะบุรีจะดำเนินการเต็มรูปแบบในปี พ.ศ.2563 ประมาณการรับรู้รายได้ 12,000-14,000 ล้านบาทต่อปี

ทั้งนี้โรงไฟฟ้าพลังน้ำไซยะบุรี เป็นโรงไฟฟ้าพลังน้ำแบบฝายทดน้ำขนาดใหญ่แห่งแรกบนแม่น้ำโขงตอนล่าง อยู่ห่างจากหลวงพระบางไปทางทิศใต้ประมาณ 80 กิโลเมตร และห่างจากปากแม่น้ำโขงประมาณ 1,900 กิโลเมตร  (อยู่ทางทิศตะวันออกของประเทศไทย ติดกับจังหวัดน่าน อุตรดิตถ์และจังหวัดเลย) ใช้เวลาในการศึกษา 4 ปีและก่อสร้าง 8 ปี เริ่มก่อสร้างอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน พ.ศ.2555 งบลงทุน 135,000 ล้านบาท (รวมงบลงทุนเพิ่มเติมด้านสิ่งแวดล้อม 19,400ล้านบาท) ถือเป็นโรงไฟฟ้าพลังน้ำที่ใหญ่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

“ภายในโรงไฟฟ้าจะมีกังหันน้ำผลิตไฟฟ้ารวมทั้งหมด 8 เครื่อง ประกอบด้วย ชุดแรกจำนวน 7 เครื่องแต่ละเครื่องมีกำลังการผลิต 175 เมกะวัตต์ ผลิตไฟฟ้าส่งผ่านระบบส่งไฟฟ้าขนาด 500 กิโลโวลต์ เพื่อเชื่อมโยงกับระบบสายส่งของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย และชุดกังหันน้ำผลิตไฟฟ้าชุดที่สองอีก 1 เครื่อง กำลังการผลิต 60 เมกะวัตต์ ที่จะผลิตและจ่ายไฟฟ้าเข้าสู่ระบบส่งไฟฟ้าขนาด 115 กิโลโวลต์ใน สปป. ลาว”

นายธนวัฒน์ กล่าวว่าโรงไฟฟ้าพลังน้ำไซยะบุรีออกแบบก่อสร้างในรูปแบบฝายทดน้ำ (Run-of-River) ซึ่งมีปริมาณน้ำที่ไหลเข้าเท่ากับปริมาณน้ำที่ไหลออกจากโครงการ ไม่มีการกักเก็บน้ำ หรือเบี่ยงน้ำออกจากแม่น้ำโขง ดังนั้น ปริมาณน้ำที่ไหลผ่านโครงการจะเป็นไปตามปริมาณน้ำที่มีตามธรรมชาติ เพราะไม่มีอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่เหมือนเขื่อน ประเภทกักเก็บน้ำทั่วๆไป หลังจากก่อสร้างเสร็จและเริ่มผลิตไฟฟ้าจะทำให้ระดับน้ำในแม่น้ำโขงสูงขึ้นเฉพาะบริเวณด้านเหนือน้ำจากที่ตั้งโครงการฯ ไปถึงตอนใต้ของเมืองหลวงพระบาง โดยมีระดับน้ำใกล้เคียงกับระดับน้ำสูงสุดในฤดูน้ำหลากตามธรรมชาติ ส่วนตอนล่างหรือท้ายน้ำของโครงการ แม่น้ำโขงจะมีระดับน้ำปกติตามธรรมชาติ

“ซีเคพาวเวอร์เรายึดมั่นในการสร้างสมดุลระหว่างธุรกิจและความยั่งยืน โรงไฟฟ้าพลังน้ำไซยะบุรีจึงมิได้เป็นโรงไฟฟ้าที่แสวงหาแต่ผลกำไรเป็นที่ตั้ง มีแนวคิดและความจริงใจในการบริหารโครงการที่เลือกการผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดควบคู่ไปกับการดูแลสิ่งแวดล้อมเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน”นายธนวัฒน์กล่าวทิ้งท้าย