วันพฤหัสบดี ที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2568 11:17 น.

การเงิน หุ้น

ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 33.24 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่าลง”

วันอังคาร ที่ 22 เมษายน พ.ศ. 2568, 08.32 น.

ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 33.24 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่าลง”

 

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 33.24 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่าลง” จากระดับปิดวันที่ผ่านมา ณ ระดับ 33.09 บาทต่อดอลลาร์

 

โดยนับตั้งแต่ช่วงคืนวันที่ผ่านมา เงินบาท (USDTHB) พลิกกลับมาทยอยอ่อนค่าลงบ้าง ในลักษณะ Sideways Up (แกว่งตัวในกรอบ 33.04-33.26 บาทต่อดอลลาร์) หลังเงินดอลลาร์รีบาวด์สูงขึ้น ตามจังหวะการปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ รวมถึงแรงขายทำกำไรสถานะ Short USD ของผู้เล่นในตลาดบางส่วน ซึ่งกดดันให้ เงินเยนญี่ปุ่น (JPY) และเงินยูโร (EUR) พลิกกลับมาอ่อนค่าลงบ้าง (อย่างไรก็ดี ปริมาณธุรกรรมในตลาดถือว่าน้อยลงจากช่วงปกติ เนื่องจากเป็นวันหยุด Easter ของตลาดการเงินยุโรป) ทั้งนี้ แรงกดดันฝั่งอ่อนค่าต่อเงินบาทก็ถูกชะลอลงบ้าง หลังราคาทองคำทยอยปรับตัวสูงขึ้น ทำจุดสูงสุดใหม่อีกครั้ง ท่ามกลางภาวะปิดรับความเสี่ยงของตลาดการเงินสหรัฐฯ และความเสี่ยงภูมิรัฐศาสตร์สงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่กลับมาร้อนแรงขึ้น

 

บรรยากาศในฝั่งตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังคงอยู่ในภาวะปิดรับความเสี่ยง ท่ามกลางความกังวลนโยบายกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ และแนวโน้มการแทรกแซงการทำงานของเฟด โดยประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ที่ล่าสุดแสดงความต้องการให้เฟดลดดอกเบี้ย ทำให้โดยรวมดัชนี S&P500 ปิดตลาด ดิ่งลง -2.36%

 

ในส่วนตลาดบอนด์ แม้ว่าบรรยากาศในตลาดการเงินยังอยู่ในภาวะปิดรับความเสี่ยง (Risk-Off) แต่ความเชื่อมั่นต่อสินทรัพย์สหรัฐฯ ที่ยังคงถูกสั่นคลอน จากความกังวลผลกระทบจากนโยบายการค้าของสหรัฐฯ และปัจจัยล่าสุด อย่าง ความเสี่ยงการเข้าแทรกแซงเฟด โดยประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ได้เป็นปัจจัยที่กดดันให้ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ มีจังหวะรีบาวด์สูงขึ้น สู่ระดับ 4.40% อนึ่ง เราคงมองว่า บอนด์ยีลด์ระยะยาวของสหรัฐฯ ยังมีความน่าสนใจอยู่ เพียงแต่ผู้เล่นในตลาดควรรอจังหวะบอนด์ยีลด์ปรับตัวสูงขึ้น ในการทยอยเข้าซื้อ

 

ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์ทยอยรีบาวด์แข็งค่าขึ้นบ้าง สอดคล้องกับจังหวะการปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ และการขายทำกำไรสถานะ Short USD ของผู้เล่นในตลาดบางส่วน ซึ่งส่งผลให้ เงินเยนญี่ปุ่น (JPY) และบรรดาสกุลเงินหลักอย่าง เงินยูโร (EUR) ทยอยอ่อนค่าลงบ้าง ทว่า การรีบาวด์ขึ้นของเงินดอลลาร์ก็เป็นไปอย่างจำกัด เนื่องจากผู้เล่นในตลาดยังขาดความเชื่อมั่นต่อสินทรัพย์สหรัฐฯ ทำให้โดยรวมเงินดอลลาร์รีบาวด์ขึ้นสู่โซน 98.4 จุด (แกว่งตัวในกรอบ 97.9-98.5 จุด) ในส่วนของราคาทองคำ บรรยากาศปิดรับความเสี่ยงของตลาดการเงินและความเสี่ยงภูมิรัฐศาสตร์ สงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่กลับมาร้อนแรงขึ้น ได้ช่วยหนุนให้ ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน มิ.ย. 2025) ปรับตัวสูงขึ้น ทำจุดสูงสุดใหม่เป็นประวัติการณ์ (New All-Time High) สู่โซน 3,440 ดอลลาร์ต่อออนซ์

 

สำหรับในช่วง 24 ชั่วโมงหลังจากนี้ บรรดาผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางหลัก ทั้ง เฟด และธนาคารกลางยุโรป (ECB) เพื่อประเมินแนวโน้มการดำเนินนโยบายการเงิน ท่ามกลางความไม่แน่นอนของการดำเนินนโยบายการค้าของสหรัฐฯ และความเสี่ยงที่การดำเนินงานของเฟด อาจถูกแทรกแซงจากการเมืองสหรัฐฯ ทั้งนี้ ผู้เล่นในตลาดล่าสุด ยังคงประเมินว่า เฟดมีโอกาส 73% ที่จะเดินหน้าลดดอกเบี้ยราว 4 ครั้ง ในปีนี้ ส่วน ECB มีโอกาสราว 55% ที่จะลดดอกเบี้ยเพิ่มเติมอีก 3 ครั้ง ในปีนี้

 

และนอกเหนือจากถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางหลักดังกล่าว ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้น รายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียนอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะผลประกอบการของหุ้นเทคฯ ใหญ่ สหรัฐฯ อย่าง Tesla (รับรู้รายงานผลประกอบการช่วง After Close)

 

สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท เราประเมินว่า เงินบาทอาจเผชิญแรงกดดันฝั่งอ่อนค่าเพิ่มเติม และมีแนวโน้มแกว่งตัวในลักษณะ Sideways Up หลังเงินดอลลาร์มีจังหวะรีบาวด์ขึ้นมาบ้าง ตามการปรับสถานะ Short USD ของผู้เล่นในตลาดบางส่วน ขณะเดียวกัน เงินบาทก็อาจเผชิญแรงกดดันเพิ่มเติม หากราคาทองคำเผชิญแรงขายมากขึ้น หลังทำจุดสูงสุดใหม่ โดยเฉพาะในจังหวะที่ตลาดปิดรับความเสี่ยง (Risk-Off0 ทำให้ ผู้เล่นในตลาดบางส่วนอาจต้องการเพิ่มสภาพคล่องและเลือกที่จะขายทำกำไรทองคำออกมาได้ คล้ายกับช่วงตลาดปั่นป่วนจากความกังวลมาตรการภาษีนำเข้าตอบโต้ (Reciprocal Tariffs) ซึ่งราคาทองคำก็ปรับตัวลดลงพอสมควร พร้อมกับตลาดหุ้นทั่วโลก นอกจากนี้ เรามีความกังวลว่า ความสัมพันธ์ระหว่าง ราคาทองคำ กับเงินบาทอาจเปลี่ยนแปลงไป จากพฤติกรรมของผู้เล่นในตลาด เพราะหากผู้เล่นในตลาดเริ่มไล่ราคาซื้อทองคำ อาจจะด้วยสาเหตุที่ทยอยขายทำกำไรไปช่วงก่อนหน้าแล้ว กอปรกับความกังวลว่าราคาทองคำอาจพุ่งสูงขึ้นต่อ (Fear of Missing Out: FOMO) ก็อาจทำให้ ในจังหวะที่ราคาทองคำปรับตัวสูงขึ้น เงินบาทก็อาจเผชิญแรงกดดันฝั่งอ่อนค่าจากโฟลว์ธุรกรรมไล่ราคาซื้อทองคำ (ซึ่งจะต่างจากที่ปกติ ผู้เล่นในตลาด มักจะรอจังหวะราคาทองคำย่อตัวลง ในการทยอยเข้าซื้อ หรือ เน้น Buy on Dip)

 

และนอกเหนือจากปัจจัยดังกล่าว เรามองว่า ในช่วงนี้ เงินบาทอาจเผชิญแรงกดดันฝั่งอ่อนค่าไม่ยาก จากโฟลว์ธุรกรรมจ่ายเงินปันผลให้กับบรรดานักลงทุนต่างชาติ อีกทั้ง บรรยากาศปิดรับความเสี่ยงของตลาดการเงิน ก็อาจยิ่งกดดันให้นักลงทุนต่างชาติบางส่วนทยอยขายสินทรัพย์ไทย อย่าง หุ้นไทย เพิ่มเติมได้

 

ทั้งนี้ เราประเมินว่า การอ่อนค่าของเงินบาทอาจมีลักษณะค่อยเป็นค่อยไป โดยโซนแนวต้านจะติดอยู่แถว 33.30-33.40 บาทต่อดอลลาร์ ขณะที่โซนแนรวรับยังคงอยู่ในช่วง 33.00-33.10 บาทต่อดอลลาร์

 

ท่ามกลางความผันผวนในตลาดการเงินที่ยังอยู่ในระดับสูง โดยเฉพาะในช่วงปีหน้าที่จะเผชิญกับ Trump’s Uncertainty ทำให้เรายังคงแนะนำว่า ผู้เล่นในตลาดควรใช้กลยุทธ์ในการปิดความเสี่ยงที่หลากหลายมากขึ้น ทั้งการใช้เครื่องมือเช่น Options หรือ สกุลเงินท้องถิ่น ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการปิดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนได้

 

มองกรอบเงินบาทในช่วง 24 ชั่วโมง คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 33.10-33.40 บาท/ดอลลาร์