วันศุกร์ ที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2568 11:22 น.

การเงิน หุ้น

ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 33.63 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่าลงหนัก”

วันพุธ ที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2568, 09.13 น.

ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 33.63 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่าลงหนัก”

 

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 33.63 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่าลงหนัก”จากระดับปิดวันที่ผ่านมา ณ ระดับ 33.23 บาทต่อดอลลาร์

 

โดยนับตั้งแต่ช่วงคืนวันที่ผ่านมา เงินบาท (USDTHB) พลิกกลับมาอ่อนค่าลงต่อเนื่องทะลุโซนแนวต้าน 33.50 บาทต่อดอลลาร์ (แกว่งตัวในกรอบ 33.18-33.70 บาทต่อดอลลาร์) หลังผู้เล่นในตลาดเริ่มคลายกังวลประเด็นความขัดแย้งทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีนลงบ้าง จากคำสัมภาษณ์ของทั้งรัฐมนตรีคลังสหรัฐฯ และประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดยังลดความกังวลต่อประเด็นการเมืองเข้าแทรกแซงการทำงานของเฟด หลังประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ได้ระบุว่า ไม่ได้ต้องการที่จะไล่ประธานเฟด Jerome Powell ออกจากตำแหน่ง ซึ่งภาพดังกล่าว ได้หนุนให้บรรยากาศตลาดการเงินสหรัฐฯ พลิกกลับมาอยู่ในภาวะเปิดรับความเสี่ยง (Risk-On) กดดันให้ ผู้เล่นในตลาดต่างเทขายสินทรัพย์ปลอดภัย ยอดนิยมในช่วงที่ผ่านมา ทั้ง เงินเยนญี่ปุ่น (JPY) และทองคำ ส่วนเงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นเช่นกัน โดยการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ ที่มาพร้อมกับจังหวะการปรับตัวลงแรงของราคาทองคำ ได้กดดันให้ เงินบาทอ่อนค่าลงต่อเนื่องจนทะลุโซนแนวต้าน 33.50 บาทต่อดอลลาร์ 

 

บรรยากาศในฝั่งตลาดหุ้นสหรัฐฯ พลิกกลับมาอยู่ในภาวะเปิดรับความเสี่ยง หลังคำสัมภาษณ์ของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ และรัฐมนตรีคลังล่าสุด ได้ทำให้ผู้เล่นในตลาดเริ่มคลายความกังวลต่อสถานการณ์ความขัดแย้งทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีน นอกจากนี้ ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ยังได้ระบุว่า ไม่ได้มีความต้องการไล่ประธานเฟดออกจากตำแหน่ง ซึ่งภาพดังกล่าว ทำให้ผู้เล่นในตลาดเริ่มกลับมามีความเชื่อมั่นต่อสินทรัพย์สหรัฐฯ อีกครั้ง ส่งให้โดยรวมดัชนี S&P500 ปิดตลาด +2.51%

 

ทางฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 รีบาวด์ขึ้น +0.25% หนุนโดยรายงานผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนที่ออกมาดีกว่าคาด อาทิ L’ Oreal +6.3% ทว่า ตลาดหุ้นยุโรปก็ถูกกดดันโดยแรงขายหุ้น Novo Nordisk -7.4% หลังผลทดลองของยาลดน้ำหนักตัวใหม่ของ Eli Lilly นั้นออกมาดี จนอาจกระทบยอดขายยาลดน้ำหนักยอดนิยมของ Novo Nordisk (Ozempic) อย่างไรก็ดี ภาวะเปิดรับความเสี่ยงของตลาดหุ้นสหรัฐฯ ได้หนุนให้ สัญญาฟิวเจอร์สตลาดหุ้นยุโรป (STOXX50) ล่าสุดปรับตัวขึ้น +1.6%

 

ในส่วนตลาดบอนด์ แม้ว่าบรรยากาศในตลาดการเงินสหรัฐฯ จะพลิกกลับมาอยู่ในภาวะเปิดรับความเสี่ยง (Risk-On) แต่ความเชื่อมั่นต่อสินทรัพย์สหรัฐฯ ที่เริ่มฟื้นตัวดีขึ้น หลังผู้เล่นในตลาดคลายกังวลประเด็นสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีน และประเด็นการแทรกแซงเฟดจากฝั่งการเมืองสหรัฐฯ ก็หนุนให้ผู้เล่นในตลาดบางส่วนอาศัยจังหวะที่บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นในช่วงที่ผ่านมา จนทะลุโซน 4.40% ในการทยอยเข้าซื้อ ทำให้บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ย่อตัวลงบ้างสู่ระดับ 4.35%

 

ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์พลิกกลับมาแข็งค่าขึ้น ตามภาวะเปิดรับความเสี่ยงของตลาดการเงินสหรัฐฯ และความเชื่อมั่นต่อสินทรัพย์สหรัฐฯ ที่ฟื้นตัวขึ้น กดดันให้ผู้เล่นในตลาดทยอยขายสินทรัพย์ปลอดภัย อาทิ เงินเยนญี่ปุ่น (JPY) ที่อ่อนค่าลงทะลุระดับ 142 เยนต่อดอลลาร์ ทยอยรีบาวด์แข็งค่าขึ้นบ้าง ทำให้โดยรวมเงินดอลลาร์ปรับตัวขึ้นสู่โซน 99.3 จุด (แกว่งตัวในกรอบ 98.3-99.4 จุด) ในส่วนของราคาทองคำ บรรยากาศเปิดรับความเสี่ยงของตลาดการเงินสหรัฐฯ ได้กดดันให้ ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน มิ.ย. 2025) ดิ่งลงหนัก สู่โซน 3,350-3,360 ดอลลาร์ต่อออนซ์

 

สำหรับในช่วง 24 ชั่วโมงหลังจากนี้ บรรดาผู้เล่นในตลาดจะรอประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ และบรรดาประเทศเศรษฐกิจหลัก ทั้ง ยูโรโซน อังกฤษ และญี่ปุ่น ผ่านรายงานดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตอุตสาหกรรมและภาคการบริการ (Manufacturing & Services PMIs) ในเดือนเมษายน

 

นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดจะติดตามถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางหลัก (เฟด, BOE และ ECB) เพื่อประกอบการประเมินแนวโน้มการดำเนินนโยบายการเงิน โดยล่าสุด ผู้เล่นในตลาดต่างคาดว่า เฟดมีโอกาสราว 28% ที่จะลดดอกเบี้ย 4 ครั้ง ในปีนี้ (ลดลงจากช่วงก่อนหน้าพอสมควร) หลังผู้เล่นในตลาดเริ่มคลายกังวลประเด็นสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีน และลดความกังวลต่อประเด็นการเข้าแทรกแซงการทำงานของเฟด โดยฝั่งการเมืองสหรัฐฯ

 

และในฝั่งเอเชีย ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้นผลการประชุมธนาคารกลางอินโดนีเซีย (BI) ซึ่งเราประเมินว่า BI จะเลือกคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 5.75% เพื่อรักษาเสถียรภาพของค่าเงินรูเปียะห์ (IDR) แต่ก็มีโอกาสทยอยลดดอกเบี้ยเพิ่มเติมได้ในปีนี้ เพื่อประคองเศรษฐกิจจากผลกระทบของนโยบายกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ

 

นอกเหนือจากปัจจัยข้างต้น ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตาม รายงานสรุปภาวะเศรษฐกิจจากบรรดาเฟดสาขาต่างๆ (Fed Beige Book) และรอลุ้นรายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียน ซึ่งอาจกระทบต่อบรรยากาศในตลาดการเงินได้ 

 

สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท เราประเมินว่า การอ่อนค่าลงเร็วและแรงของเงินบาทในช่วงคืนที่ผ่านมานั้น อาจเริ่มชะลอลงได้บ้าง เนื่องจากผู้เล่นในตลาดบางส่วน อย่าง ฝั่งผู้ส่งออกต่างก็รอทยอยขายเงินดอลลาร์ หากเงินบาทอ่อนค่าทะลุโซน 33.50 บาทต่อดอลลาร์ นอกจากนี้ เรามองว่า บรรยากาศเปิดรับความเสี่ยงของตลาดการเงินสหรัฐฯ หลังผู้เล่นในตลาดเริ่มคลายกังวลประเด็นความขัดแย้งทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีน อาจส่งผลดีต่อทิศทางสินทรัพย์เสี่ยงฝั่งเอเชีย ด้วยเช่นกัน สะท้อนผ่าน การทยอยแข็งค่าขึ้นบ้างของเงินหยวนจีน ในช่วงเช้านี้ (เงินหยวนจีน ยังคงเคลื่อนไหวสอดคล้องกับเงินบาท สูงถึง 80% เมื่อประเมินจาก 30-day correlation) และที่สำคัญ หากราคาทองคำรีบาวด์สูงขึ้นบ้าง หรือแกว่งตัวในกรอบ Sideways เป็นอย่างน้อย ก็อาจช่วยชะลอการอ่อนค่าของเงินบาท หรือกลับมาหนุนการแข็งค่าขึ้นของเงินบาทได้ หากราคาทองคำปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่องอีกครั้ง

 

อย่างไรก็ดี แรงกดดันฝั่งอ่อนค่าต่อเงินบาทก็ยังมีอยู่ โดยเงินดอลลาร์ยังมีโอกาสทยอยแข็งค่าขึ้นต่อได้ หากผู้เล่นในตลาดกลับมามีความเชื่อมั่นต่อสินทรัพย์สหรัฐฯ มากขึ้น ซึ่งต้องรอลุ้น รายงานดัชนี S&P PMI ภาคการผลิตและภาคการบริการ รวมถึงรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ อื่นๆ ในคืนนี้ ว่าจะออกมาดีกว่าคาด หรือ ปรับตัวดีขึ้นจากรายงานครั้งก่อนได้หรือไม่ ส่วนโฟลว์ธุรกรรมจ่ายเงินปันผลให้กับบรรดานักลงทุนต่างชาติก็ยังคงมีอยู่ และจะทยอยเพิ่มสูงขึ้น ทำให้การแข็งค่าขึ้นของเงินบาทก็เป็นไปอย่างจำกัดได้เช่นกัน

 

เราประเมินว่า โซนแนวต้านใหม่ของเงินบาทอาจขยับมาอยู่แถว 33.70-33.80 บาทต่อดอลลาร์ ส่วนโซนแนวรับอาจอยู่ในช่วง 33.30-33.40 บาทต่อดอลลาร์

 

ท่ามกลางความผันผวนในตลาดการเงินที่ยังอยู่ในระดับสูง โดยเฉพาะในช่วงปีหน้าที่จะเผชิญกับ Trump’s Uncertainty ทำให้เรายังคงแนะนำว่า ผู้เล่นในตลาดควรใช้กลยุทธ์ในการปิดความเสี่ยงที่หลากหลายมากขึ้น ทั้งการใช้เครื่องมือเช่น Options หรือ สกุลเงินท้องถิ่น ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการปิดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนได้

 

มองกรอบเงินบาทในช่วง 24 ชั่วโมง คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 33.35-33.75 บาท/ดอลลาร์