วันศุกร์ ที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2568 11:23 น.

การเงิน หุ้น

ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 33.40 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้นเล็กน้อย แทบไม่เปลี่ยนแปลง”

วันศุกร์ ที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2568, 08.48 น.

ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 33.40 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้นเล็กน้อย แทบไม่เปลี่ยนแปลง”

 

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 33.40 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้นเล็กน้อย แทบไม่เปลี่ยนแปลง” จากระดับปิดวันที่ผ่านมา ณ ระดับ 33.44 บาทต่อดอลลาร์

 

โดยนับตั้งแต่ช่วงคืนวันที่ผ่านมา เงินบาท (USDTHB) เคลื่อนไหวในกรอบ Sideways (แกว่งตัวในกรอบ 33.38-33.49 บาทต่อดอลลาร์) โดยเงินบาทมีจังหวะอ่อนค่าลงทดสอบโซนแนวต้าน 33.50 บาทต่อดอลลาร์ หลังเงินดอลลาร์ทยอยแข็งค่าขึ้นบ้าง ตามภาวะเปิดรับความเสี่ยงของตลาดการเงินสหรัฐฯ ซึ่งมีส่วนกดดันให้เงินเยนญี่ปุ่น (JPY) ทยอยอ่อนค่าลงเข้าใกล้โซน 143 เยนต่อดอลลาร์ อย่างไรก็ดี เงินดอลลาร์ก็เผชิญแรงกดดันบ้าง ตามการปรับตัวลดลงของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ หลังผู้เล่นในตลาดประเมินว่า เฟดมีโอกาสกลับมาลดดอกเบี้ยได้เร็วกว่าที่เคยประเมินไว้ จากถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด ซึ่งระบุว่า เฟดอาจลดดอกเบี้ยได้ หากนโยบายกีดกันทางการค้า กดดันให้การจ้างงานแย่ลง (Christopher Waller) และเฟดก็อาจปรับนโยบายการเงินได้อย่างเร็วสุดในการประชุมเดือนมิถุนายนนี้ หากเฟดมีความมั่นใจต่อแนวโน้มเศรษฐกิจ (Beth Hammack) โดยการปรับตัวลดลงของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ดังกล่าว ที่มาพร้อมกับการย่อตัวลงของเงินดอลลาร์ ได้หนุนให้ ราคาทองคำทยอยรีบาวด์สูงขึ้น ส่งผลให้เงินบาททยอยกลับมาแข็งค่าขึ้นบ้าง 

 

บรรดาผู้เล่นในฝั่งตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังคงเดินหน้าเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น หนุนให้หุ้นเทคฯ ต่างปรับตัวขึ้นได้ดีนำตลาด ท่ามกลางความหวังว่า รายงานผลประกอบการของบรรดาหุ้นเทคฯ สหรัฐฯ จะออกมาสดใส (รายงานผลประกอบการของ Alphabet +2.5% ที่รายงานช่วง After close ก็ออกมาดีกว่าคาดชัดเจน ส่งผลให้ราคาหุ้น Alphabet ปรับตัวขึ้นอีก +4.6% ในช่วงหลังรับรู้ผลประกอบการ) ทำให้โดยรวมดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq พุ่งขึ้น +2.74% ส่วนดัชนี S&P500 ปิดตลาด +2.03%

 

ทางฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 ปรับตัวขึ้นราว +0.36% หนุนโดยรายงานผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนส่วนใหญ่ที่ออกมาสดใส รวมถึงรายงานดัชนีความเชื่อมั่นภาคธุรกิจของเยอรมนี (IFO Business Climate) เดือนเมษายน ที่ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 86.9 จุด ดีกว่าคาด ทว่า ตลาดหุ้นยุโรปก็เผชิญแรงกดดันบ้าง จากการปรับตัวลงของหุ้นกลุ่มธนาคาร ตามแรงขายทำกำไร อาทิ HSBC -2.1%, BNP -2.2% 

 

ในส่วนตลาดบอนด์ แม้ว่าบรรยากาศในตลาดการเงินสหรัฐฯ จะยังคงอยู่ในภาวะเปิดรับความเสี่ยง ทว่า มุมมองของผู้เล่นในตลาดที่เริ่มมองว่า เฟดอาจปรับลดดอกเบี้ยได้เร็วกว่าคาด หลังรับรู้ถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟดล่าสุด ก็มีส่วนทำให้ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ทยอยปรับตัวลดลงบ้าง เข้าใกล้โซน 4.30% อนึ่ง เราประเมินว่า บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ อาจแกว่งตัวในกรอบ Sideways ไปก่อน เพื่อรอรับรู้ปัจจัยใหม่ๆ เพิ่มเติม ทั้งนี้ เราคงมุมมองเดิมว่า บอนด์ระยะยาวสหรัฐฯ นั้นมีความน่าสนใจอยู่ ในแง่ของ Risk-Reward ของผลตอบแทนรวม (Total Return) ทำให้ เราคงแนะนำว่า ผู้เล่นในตลาดควรใช้จังหวะที่บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวสูงขึ้น ในการทยอยเข้าซื้อ เน้นกลยุทธ์ Buy on Dip เท่านั้น

 

ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์เคลื่อนไหวในกรอบ Sideways แม้จะพอได้แรงหนุนฝั่งแข็งค่าจากภาวะเปิดรับความเสี่ยงของตลาด ที่กดดันให้เงินเยนญี่ปุ่น (JPY) ทยอยอ่อนค่าลงทดสอบโซน 143 เยนต่อดอลลาร์ แต่เงินดอลลาร์ก็เผชิญแรงกดดันบ้าง ตามจังหวะการย่อตัวลงของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ หลังผู้เล่นในตลาดประเมินว่า เฟดอาจขยับจังหวะการลดดอกเบี้ยได้เร็วขึ้นกว่าคาด ทำให้โดยรวมเงินดอลลาร์ปรับตัวขึ้นสู่โซน 99.6 จุด (แกว่งตัวในกรอบ 99.2-99.6 จุด) ในส่วนของราคาทองคำ จังหวะการปรับตัวลงของทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ รวมถึงแรงซื้อ Buy on Dip ทองคำ ได้ช่วยหนุนให้ ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน มิ.ย. 2025) รีบาวด์สูงขึ้น สู่ระดับแถวโซน 3,360 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ทว่า บรรยากาศเปิดรับความเสี่ยงของตลาดการเงินโดยรวมได้จำกัดการปรับตัวขึ้นของราคาทองคำ 

 

สำหรับในช่วง 24 ชั่วโมงหลังจากนี้ บรรดาผู้เล่นในตลาดจะรอประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจอังกฤษ ผ่านรายงานยอดค้าปลีก (Retail Sales) เดือนมีนาคม ซึ่งอาจเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อมุมมองของผู้เล่นในตลาดต่อแนวโน้มการดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) ได้ โดยล่าสุด ผู้เล่นในตลาดประเมินว่า BOE มีโอกาส 85% ที่จะเดินหน้าลดดอกเบี้ย 4 ครั้ง ในปีนี้

 

ส่วนในฝั่งสหรัฐฯ ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้น รายงานดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยมหาวิทยาลัยมิชิแกน (U of Michigan Consumer Sentiment) เดือนเมษายน (Final data) ว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้าง เมื่อเทียบรายงาน Preliminary data ที่ออกมาก่อนหน้า ในวันที่ 11 เมษายน ซึ่งดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคได้ปรับตัวลดลงหนักสู่ระดับ 50.8 จุด จากระดับ 57 จุด ในเดือนมีนาคม

 

และนอกเหนือจากปัจจัยข้างต้น ผู้เล่นในตลาดจะลุ้นรายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียน ซึ่งอาจกระทบต่อบรรยากาศในตลาดการเงินได้ 

 

สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท เรายังคงประเมินว่า เงินบาทอาจเคลื่อนไหวในกรอบ Sideways ไปก่อนเพื่อรอรับรู้ปัจจัยใหม่ๆ เพิ่มเติม โดยเฉพาะในวันนี้ที่ปัจจัยสำคัญในตลาดการเงินมีไม่มากนัก อย่างไรก็ดี อาจยังคงต้องรอลุ้น รายงานยอดค้าปลีก (Retail Sales) ของอังกฤษ ว่าจะออกมาดีกว่าคาด หรือ แย่กว่าคาดชัดเจน เพราะล่าสุด ผู้เล่นในตลาดต่างคาดหวังการเดินหน้าลดดอกเบี้ยของ BOE ไปมากพอสมควร (เกือบ 4 ครั้ง) ทำให้ หากรายงานยอดค้าปลีกของอังกฤษ ปรับตัวดีขึ้นกว่าคาด ก็อาจลดความคาดหวังต่อแนวโน้มการลดดอกเบี้ยของ BOE หนุนให้ เงินปอนด์อังกฤษ (GBP) อาจรีบาวด์แข็งค่าขึ้นบ้าง พร้อมกันนั้น อาจต้องรอลุ้นว่า รายงาน Final data ของดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยมหาวิทยาลัยมิชิแกน ของสหรัฐฯ จะออกมาแตกต่างจากรายงาน Preliminary อย่างไร โดยหากรายงานดัชนีความเชื่อมั่นดังกล่าวปรับตัวลดลงเพิ่มเติมจากรายงานครั้งก่อน ก็อาจยิ่งสร้างความกังวลแนวโน้มการชะลอตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ซึ่งอาจกดดันทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ จนหนุนให้ ราคาทองคำพอมีโอกาสทยอยปรับตัวขึ้นต่อได้บ้าง ส่วนเงินบาทก็มีโอกาสทยอยแข็งค่าขึ้น

 

อย่างไรก็ดี ภาวะเปิดรับความเสี่ยงของตลาดการเงินโดยรวม อาจจำกัดการปรับตัวขึ้นของราคาทองคำได้ ซึ่งต้องรอลุ้นว่า รายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียนจะยังคงออกมาสดใสต่อเนื่องได้หรือไม่ โดยหากราคาทองคำไม่สามารถกลับมาปรับตัวขึ้นต่อเนื่องและยังคงอยู่ในช่วงการพักฐาน เรามองว่า เงินบาทอาจเผชิญแรงกดดันฝั่งอ่อนค่าบ้าง ซึ่งจะช่วยชะลอการแข็งค่าของเงินบาทได้ อีกทั้ง เงินเยนญี่ปุ่น (JPY) ก็เสี่ยงทยอยอ่อนค่าลงต่อได้ ท่ามกลางภาวะเปิดรับความเสี่ยงของตลาดการเงินโดยรวม ทำให้เงินดอลลาร์ยังพอได้แรงหนุนอยู่บ้าง นอกจากนี้ โฟลว์ธุรกรรมจ่ายเงินปันผลให้กับบรรดานักลงทุนต่างชาติก็จะเริ่มทยอยเพิ่มสูงขึ้น และอาจเป็นปัจจัยที่ช่วยชะลอการแข็งค่าขึ้นของเงินบาทได้

 

โดยรวมเรายังคงมองว่า การอ่อนค่าของเงินบาทก็อาจถูกจำกัดแถวโซนแนวต้าน 33.50-33.60 บาทต่อดอลลาร์ (โซนถัดไปจะอยู่แถว 33.80 บาทต่อดอลลาร์) ขณะที่โซนแนวรับยังคงอยู่แถว 33.30-33.40 บาทต่อดอลลาร์

 

ท่ามกลางความผันผวนในตลาดการเงินที่ยังอยู่ในระดับสูง โดยเฉพาะในช่วงปีหน้าที่จะเผชิญกับ Trump’s Uncertainty ทำให้เรายังคงแนะนำว่า ผู้เล่นในตลาดควรใช้กลยุทธ์ในการปิดความเสี่ยงที่หลากหลายมากขึ้น ทั้งการใช้เครื่องมือเช่น Options หรือ สกุลเงินท้องถิ่น ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการปิดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนได้

 

มองกรอบเงินบาทในช่วง 24 ชั่วโมง คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 33.35-33.55 บาท/ดอลลาร์