วันเสาร์ ที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2568 09:39 น.

การเงิน หุ้น

ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 32.87 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่าลง”

วันพฤหัสบดี ที่ 08 พฤษภาคม พ.ศ. 2568, 09.02 น.

ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 32.87 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่าลง”

 

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 32.87 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่าลง” จากระดับปิดวันที่ผ่านมา ณ ระดับ 32.70 บาทต่อดอลลาร์

 

โดยนับตั้งแต่ช่วงคืนที่ผ่านมา เงินบาท (USDTHB) ทยอยอ่อนค่าลงทะลุโซนแนวต้าน 32.75-32.85 บาทต่อดอลลาร์ (แกว่งตัวในกรอบ 32.66-32.93 บาทต่อดอลลาร์) ตามการรีบาวด์แข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ หลังเฟดคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 4.25-4.50% ตามคาด และประเมินความเสี่ยงของการเกิดภาวะ Stagflation (เศรษฐกิจชะลอตัว ส่วนอัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับสูง) เพิ่มสูงขึ้น ขณะเดียวกันประธานเฟด Jerome Powell ก็ย้ำจุดยืน Wait and See ไม่เร่งรีบปรับลดดอกเบี้ย เพื่อรอประเมินแนวโน้มนโยบายการค้าของสหรัฐฯ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อทิศทางเศรษฐกิจและเงินเฟ้อสหรัฐฯ อย่างมีนัยสำคัญ ให้ชัดเจนก่อน นอกจากนี้ เงินดอลลาร์ยังพอได้แรงหนุนบ้างจากภาวะเปิดรับความเสี่ยงของตลาดการเงินสหรัฐฯ ท่ามกลางความหวังการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีน ซึ่งทั้งภาวะเปิดรับความเสี่ยงของตลาดและแนวโน้มเฟดไม่เร่งรีบปรับลดดอกเบี้ยตามที่ตลาดคาดหวัง ก็มีส่วนกดดันให้ ราคาทองคำมีจังหวะย่อตัวลงบ้าง และเป็นอีกปัจจัยที่กดดันให้เงินบาทอ่อนค่าลง ทว่า การอ่อนค่าของเงินบาทก็เป็นไปอย่างจำกัด หลังราคาทองคำก็สามารถทยอยรีบาวด์สูงขึ้นใกล้ระดับก่อนรับรู้ผลการประชุมเฟด ในช่วงเช้าของวันนี้

 

บรรดาผู้เล่นในฝั่งตลาดหุ้นสหรัฐฯ เริ่มทยอยเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น ท่ามกลางความหวังต่อแนวโน้มการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีน นอกจากนี้ ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังได้แรงหนุนจากความหวังว่า ทางการสหรัฐฯ อาจผ่อนปรนมาตรการ ควบคุมการส่งออก Semiconductor ส่งผลให้บรรดาหุ้นในธีม AI/Semiconductor ต่างปรับตัวสูงขึ้น อาทิ Nvidia +3.1% ทำให้โดยรวมดัชนี S&P500 ปิดตลาด +0.43%

 

ทางฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 ปรับตัวลดลงต่อเนื่อง -0.54% กดดันโดยแรงขายหุ้นกลุ่ม Healthcare อาทิ Sanofi -4.3% จากความกังวลต่อแนวโน้มการดำเนินนโยบายของ FDA สหรัฐฯ ทว่า รายงานผลประกอบการของ Novo Nordisk +1.3% ที่ออกมาดีกว่าคาด ก็พอช่วยหนุนหุ้นกลุ่มดังกล่าวและตลาดหุ้นยุโรปบ้าง นอกจากนี้ รายงานยอดค้าปลีกของยูโรโซนล่าสุดที่ พลิกกลับมาหดตัว -0.1%m/m ก็มีส่วนกดดันบรรดาหุ้นกลุ่มค้าปลีกของยุโรป

 

ในส่วนตลาดบอนด์ แม้ว่าบรรยากาศของตลาดการเงินจะเริ่มกลับมาเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น ทว่า ผู้เล่นในตลาดต่างยังคงกังวลต่อแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ บ้าง หลังในการประชุมเฟดล่าสุด เฟดได้ระบุว่า ความเสี่ยงของการเกิดภาวะ Stagflation ได้เพิ่มสูงขึ้น แม้ว่าภาพรวมเศรษฐกิจปัจจุบันยังคงสดใสอยู่ และแม้ว่า ประธานเฟดจะย้ำจุดยืนไม่เร่งรีบปรับลดดอกเบี้ยนโยบาย แต่ผู้เล่นในตลาดต่างคงคาดหวังว่า เฟดจะสามารถลดดอกเบี้ยได้ราว 3 ครั้ง ซึ่งภาพดังกล่าวก็ทำให้ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ทยอยปรับตัวลงสู่ระดับ 4.27%

 

ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์พลิกกลับมาแข็งค่าขึ้น หนุนโดยภาวะเปิดรับความเสี่ยงของตลาดการเงิน และท่าทีของประธานเฟดที่ย้ำจุดยืนไม่เร่งรีบปรับลดดอกเบี้ย เพื่อรอประเมินแนวโน้มนโยบายการค้าของสหรัฐฯ ทำให้โดยรวมดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ปรับตัวสูงขึ้นสู่โซน 99.8 จุด (แกว่งตัวในกรอบ 99.3-99.9 จุด) ในส่วนของราคาทองคำ จังหวะปรับตัวขึ้นของเงินดอลลาร์ และภาวะเปิดรับความเสี่ยงของตลาดการเงิน ได้กดดันให้ ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน มิ.ย. 2025) มีจังหวะย่อตัวลงบ้าง ทว่าราคาทองคำยังคงได้แรงหนุนจากการทยอยเข้าซื้อของผู้เล่นในตลาดที่ต่างรอจังหวะ Buy on Dip หนุนให้ราคาทองคำรีบาวด์ขึ้นสู่ระดับ 3,391 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ใกล้เคียงระดับก่อนรับรู้ผลการประชุม FOMC ของเฟด

 

สำหรับในช่วง 24 ชั่วโมงหลังจากนี้ ไฮไลท์สำคัญจะอยู่ที่ผลการประชุมธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) ที่จะทยอยรับรู้ในช่วงราว 18.00 น. ตามเวลาประเทศไทย โดยเราประเมินว่า BOE อาจเดินหน้าลดดอกเบี้ยลง 25bps สู่ระดับ 4.25% ตามที่ตลาดและบรรดานักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ได้ประเมินไว้ ท่ามกลางความเสี่ยงต่อแนวโน้มเศรษฐกิจจากผลกระทบของนโยบายการค้าของสหรัฐฯ ขณะเดียวกัน เศรษฐกิจอังกฤษและอัตราเงินเฟ้อก็มีแนวโน้มชะลอตัวลงต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมา

 

ส่วนในฝั่งสหรัฐฯ ผู้เล่นในตลาดจะรอประเมินภาวะตลาดแรงงาน ผ่านรายงานยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงาน (Jobless Claims)

 

และในฝั่งเอเชีย ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้นผลการประชุมธนาคารกลางมาเลเซีย (BNM) โดยเรามองว่า BNM อาจเลือกที่จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 3.00% ก่อนได้ เพื่อรอประเมินผลกระทบจากนโยบายการค้าของสหรัฐฯ ให้ชัดเจนก่อน เหมือนกับการตัดสินใจของเฟดล่าสุด ส่วนในฝั่งญี่ปุ่น ช่วงราว 6.30 น. ของเช้าวันศุกร์ที่ 9 พฤษภาคม นี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามรายงานอัตราการเติบโตของค่าจ้าง (Wage Growth) เพื่อประเมินถึงแนวโน้มการดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) โดยหากอัตราการเติบโตของค่าจ้างยังคงสอดคล้องกับแนวโน้มอัตราเงินเฟ้ออยู่แถวระดับเป้าหมาย 2% ก็จะทำให้ผู้เล่นในตลาดยังมีความหวังว่า BOJ จะสามารถทยอยเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อได้

 

และนอกเหนือจากปัจจัยข้างต้น ผู้เล่นในตลาดจะลุ้นรายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียน รวมถึงพัฒนาการของนโยบายการค้าของสหรัฐฯ โดยเฉพาะความคืบหน้าของการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับบรรดาประเทศคู่ค้า

 

สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท เรามองว่า เงินบาทมีแนวโน้มชะลอการอ่อนค่าลงบ้าง หลังจากที่ทยอยอ่อนค่าในช่วงคืนที่ผ่านมา หากราคาทองคำสามารถทยอยปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่องได้ อย่างไรก็ดี การแข็งค่าของเงินบาท อาจชะลอลงแถวโซนแนวรับ 32.75 บาทต่อดอลลาร์ เนื่องจากเงินดอลลาร์ยังมีแนวโน้มทรงตัวในกรอบ Sideways หรือแข็งค่าขึ้นได้บ้าง จากทั้งภาวะเปิดรับความเสี่ยงของตลาดการเงิน รวมถึง ธีมเฟดไม่เร่งรีบลดดอกเบี้ย (Higher for Longer) ที่อาจเริ่มกลับเข้ามา ทำให้ผู้เล่นในตลาดบางส่วนอาจเลือกที่จะทยอยขายทำกำไรและลดสถานะ Short USD (มองเงินดอลลาร์อ่อนค่าลง) ทว่า การแข็งค่าของเงินดอลลาร์ก็จะเป็นไปอย่างจำกัด จนกว่าตลาดจะรับรู้รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ (ทั้ง Soft & Hard Data) ที่ออกมาสดใสและดีกว่าคาด นอกจากนี้ เงินบาทยังคงเผชิญแรงกดดันบ้าง จากโฟลว์ธุรกรรมจ่ายเงินปันผลให้กับบรรดานักลงทุนต่างชาติ

 

อนึ่ง ภาวะเปิดรับความเสี่ยงของตลาดการเงินและการตอบรับต่อการเปิดกอง Thai ESGX อาจช่วยหนุนเงินบาทบ้าง ผ่านแรงซื้อสินทรัพย์ไทย โดยเฉพาะหุ้นไทย อย่างไรก็ดี เราประเมินว่า แรงซื้อบอนด์ไทยจากบรรดานักลงทุนต่างชาติอาจชะลอลงบ้าง และมีโอกาสที่จะเริ่มเห็นแรงขายทำกำไรสถานะถือครองบอนด์ รวมถึงสถานะ Long THB (มองเงินบาทแข็งค่าขึ้น) ออกมาบ้าง

 

โดยรวมเราประเมินว่า เงินบาทอาจแกว่งตัวในกรอบ Sideways โดยโซนแนวต้านจะยังอยู่แถว 33.00 บาทต่อดอลลาร์ ขณะที่โซนแนวรับอาจขยับขึ้นมาบ้างสู่ระดับ 32.75 บาทต่อดอลลาร์ (แนวรับถัดไป 32.50 บาทต่อดอลลาร์)

 

ท่ามกลางความผันผวนในตลาดการเงินที่ยังอยู่ในระดับสูง โดยเฉพาะในช่วงปีหน้าที่จะเผชิญกับ Trump’s Uncertainty ทำให้เรายังคงแนะนำว่า ผู้เล่นในตลาดควรใช้กลยุทธ์ในการปิดความเสี่ยงที่หลากหลายมากขึ้น ทั้งการใช้เครื่องมือเช่น Options หรือ สกุลเงินท้องถิ่น ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการปิดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนได้

มองกรอบเงินบาทในช่วง 24 ชั่วโมง คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 32.75-33.00 บาท/ดอลลาร์