วันเสาร์ ที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2568 09:33 น.

การเงิน หุ้น

ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 33.02 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่าลง”

วันศุกร์ ที่ 09 พฤษภาคม พ.ศ. 2568, 09.41 น.

ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 33.02 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่าลง”

 

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 33.02 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่าลง” จากระดับปิดวันที่ผ่านมา ณ ระดับ  32.83 บาทต่อดอลลาร์

 

โดยนับตั้งแต่ช่วงคืนที่ผ่านมา เงินบาท (USDTHB) ทยอยอ่อนค่าลงต่อเนื่อง จนทะลุโซนแนวต้าน 33.00 บาทต่อดอลลาร์ ได้สำเร็จ (แกว่งตัวในกรอบ 32.75-33.12 บาทต่อดอลลาร์) ตามการรีบาวด์แข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ ที่ได้รับอานิสงส์จากภาวะเปิดรับความเสี่ยงของตลาดการเงินโดยรวม ท่ามกลางความหวังสถานการณ์สงครามการค้าจะทยอยคลี่คลายลงได้ จากล่าสุดที่สหรัฐฯ กับอังกฤษ สามารถบรรลุข้อตกลงการค้าเบื้องต้น อีกทั้ง ทางการสหรัฐฯ กับจีนก็เตรียมที่จะเจรจาการค้าในช่วงสุดสัปดาห์นี้ ขณะเดียวกัน รายงานยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงาน (Jobless Claims) ของสหรัฐฯ ล่าสุดซึ่งออกมาดีกว่าคาด ก็มีส่วนช่วยหนุนเงินดอลลาร์ ผ่านการปรับลดความคาดหวังเฟดเร่งลดดอกเบี้ย โดยผู้เล่นในตลาดกลับมาประเมินว่า เฟดมีโอกาสราว 76% ที่จะลดดอกเบี้ยได้ 3 ครั้ง ในปีนี้ นอกจากนี้ ภาวะเปิดรับความเสี่ยงของตลาดการเงินดังกล่าว ที่มาพร้อมกับการปรับตัวขึ้นของทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ยังได้กดดันให้ราคาทองคำปรับตัวลดลง และจังหวะย่อตัวลงของราคาทองคำดังกล่าวก็มีส่วนยิ่งกดดันให้เงินบาทอ่อนค่าลง

 

บรรดาผู้เล่นในฝั่งตลาดหุ้นสหรัฐฯ เดินหน้าเปิดรับความเสี่ยงต่อเนื่อง ท่ามกลางความหวังต่อแนวโน้มการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับบรรดาประเทศคู่ค้า ส่งผลให้บรรดาหุ้นเทคฯ ใหญ่ ต่างปรับตัวสูงขึ้น นำโดย Tesla +3.1%, Alphabet +1.9% ทำให้โดยรวมดัชนี S&P500 ปิดตลาด +0.58%

 

ทางฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 พลิกกลับมาปรับตัวขึ้น +0.40% ตอบรับข่าวสหรัฐฯ กับอังกฤษสามารถบรรลุข้อตกลงการค้าเบื้องต้น นอกจากนี้ ตลาดหุ้นยุโรปยังได้แรงหนุนจากรายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียนส่วนใหญ่ที่ออกมาดีกว่าคาด

 

ในส่วนตลาดบอนด์ บรรยากาศเปิดรับความเสี่ยงของตลาดการเงิน (Risk-On) กอปรกับ มุมมองของผู้เล่นในตลาดที่ปรับลดความคาดหวังต่อแนวโน้มการลดดอกเบี้ยของเฟด (ล่าสุดมองว่า เฟดมีโอกาสราว 76% ที่จะลดดอกเบี้ย 3 ครั้ง ในปีนี้) ได้กดดันให้ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ พลิกกลับมาปรับตัวสูงขึ้นสู่โซน 4.38% โดยเราคงคำแนะนำเดิมว่า การปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ จะเปิดโอกาสให้ผู้เล่นในตลาดสามารถทยอยเข้าซื้อสะสมบอนด์ระยะยาวได้ (เน้น Buy on Dip) โดยเฉพาะในช่วงโซนสูงกว่า 4.30% 

 

ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์ทยอยแข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง สอดคล้องกับการปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ที่หนุนโดยภาวะเปิดรับความเสี่ยงของตลาดการเงิน โดยภาพดังกล่าวได้กดดันให้ผู้เล่นในตลาดทยอยลดการถือครองสินทรัพย์ปลอดภัย อย่าง เงินเยนญี่ปุ่น (JPY) ที่อ่อนค่าลงทะลุโซน 146 เยนต่อดอลลาร์ ทำให้โดยรวมดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ปรับตัวสูงขึ้นสู่โซน 100.7 จุด (แกว่งตัวในกรอบ 99.8-100.8จุด) ในส่วนของราคาทองคำ จังหวะปรับตัวขึ้นของเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ท่ามกลางภาวะเปิดรับความเสี่ยงของตลาดการเงิน ได้กดดันให้ ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน มิ.ย. 2025) ทยอยปรับตัวลดลงสู่ระดับ 3,318 ดอลลาร์ต่อออนซ์ อย่างไรก็ดี การปรับตัวลดลงของราคาทองคำก็เป็นไปอย่างจำกัด หลังผู้เล่นในตลาดต่างก็รอทยอยเข้าซื้อ Buy on Dip ทองคำ แถวโซนแนวรับระยะสั้น

 

สำหรับในช่วง 24 ชั่วโมงหลังจากนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจจีนและผลกระทบจากนโยบายการค้าของสหรัฐฯ ผ่านรายงานยอดการส่งออกและนำเข้า (Exports & Imports) เดือนเมษายน 

 

ส่วนในฝั่งสหรัฐฯ ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟดอย่างใกล้ชิด ซึ่งมุมมองของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟดต่อแนวโน้มเศรษฐกิจและทิศทางนโยบายการเงิน อาจส่งผลกระทบต่อตลาดการเงินได้อย่างมีนัยสำคัญในช่วงนี้ได้ 

 

และนอกเหนือจากปัจจัยข้างต้น ผู้เล่นในตลาดจะลุ้นรายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียน รวมถึงพัฒนาการของนโยบายการค้าของสหรัฐฯ โดยเฉพาะความคืบหน้าของการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับบรรดาประเทศคู่ค้า

 

สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท เรามองว่า การอ่อนค่าลงของเงินบาทในช่วงคืนที่ผ่านมา จนทะลุโซนแนวต้าน 33.00 บาทต่อดอลลาร์ นั้น ไม่ได้เหนือความคาดหมายของเราไปมากนัก เนื่องจากเงินดอลลาร์อาจยังพอได้แรงหนุนอยู่บ้าง ท่ามกลางความหวังแนวโน้มการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับบรรดาประเทศคู่ค้า ซึ่งส่งผลให้บรรยากาศในตลาดการเงินยังอยู่ในภาวะเปิดรับความเสี่ยงของตลาดการเงิน รวมถึง ธีมเฟดไม่เร่งรีบลดดอกเบี้ย (Higher for Longer) ก็อาจกลับมาอีกครั้ง ทำให้ผู้เล่นในตลาดบางส่วนอาจเลือกที่จะทยอยขายทำกำไรและลดสถานะ Short USD (มองเงินดอลลาร์อ่อนค่าลง) โดยเฉพาะในจังหวะที่ดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) สามารปรับตัวขึ้นทะลุโซน 100 จุด ซึ่งจะเป็นสัญญาณเข้าซื้อในเชิงเทคนิคัล ตามกลยุทธ์ Trend-Following (ซึ่งภาพดังกล่าวก็เกิดขึ้นกับบรรดาสกุลเงินหลัก อาทิ สัญญาณ Long USDJPY, Short EURUSD และ Short GBPUSD)

 

อย่างไรก็ดี ภาวะเปิดรับความเสี่ยงของตลาดดังกล่าว อาจช่วยชะลอการอ่อนค่าของเงินบาทได้บ้าง หากบรรดานักลงทุนต่างชาติทยอยเข้าซื้อหุ้นไทย ทว่า เราคงมุมมองเดิมว่า บรรดานักลงทุนต่างชาติอาจทยอยขายทำกำไรสถานะถือครองบอนด์ ทั้งบอนด์ระยะสั้นและบอนด์ระยะยาวเพิ่มเติม ทำให้เงินบาทอาจไม่ได้รับอานิสงส์จากฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติมากนัก

 

และที่สำคัญ เรามองว่า แม้ราคาทองคำจะถูกกดดันบ้างจากภาวะเปิดรับความเสี่ยงของตลาดการเงิน ทว่าผู้เล่นในตลาดต่างยังคงรอทยอยเข้าซื้อทองคำในจังหวะย่อตัวอยู่ ทำให้ การอ่อนค่าของเงินบาทอาจถูกจำกัดได้ หากราคาทองคำสามารถทยอยรีบาวด์สูงขึ้น แต่โดยรวมเราคงมุมมองเดิมว่า ราคาทองคำยังอยู่ในช่วงของการพักฐาน ทำให้ความผันผวนของราคาทองคำนั้น ส่งผลให้เงินบาทเผชิญความเสี่ยงแบบ Two-Way Volatility ขึ้นกับแนวโน้มราคาทองคำ

 

โดยรวมเรามองว่า การอ่อนค่าของเงินบาทอาจเป็นไปอย่างจำกัดแถวโซนแนวต้านใหม่ 33.20-33.30 บาทต่อดอลลาร์ แต่หากเงินบาทสามารถอ่อนค่าทะลุโซนดังกล่าวได้ชัดเจน ก็จะเกิดสัญญาณ Long USDTHB สะท้อนโอกาสเงินบาททยอยอ่อนค่าลง ทำให้เงินบาทมีโอกาสอ่อนค่าทดสอบโซนแนวต้านถัดไปแถว 33.50 บาทต่อดอลลาร์ ได้ไม่ยาก ขณะที่โซนแนวรับอาจขยับขึ้นมาแถว 33.00 บาทต่อดอลลาร์ โดยมีแนวรับถัดไปในช่วง 32.75-32.85 บาทต่อดอลลาร์ ตามเดิม

 

ท่ามกลางความผันผวนในตลาดการเงินที่ยังอยู่ในระดับสูง โดยเฉพาะในช่วงปีหน้าที่จะเผชิญกับ Trump’s Uncertainty ทำให้เรายังคงแนะนำว่า ผู้เล่นในตลาดควรใช้กลยุทธ์ในการปิดความเสี่ยงที่หลากหลายมากขึ้น ทั้งการใช้เครื่องมือเช่น Options หรือ สกุลเงินท้องถิ่น ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการปิดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนได้

 

มองกรอบเงินบาทในช่วง 24 ชั่วโมง คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 32.95-33.30 บาท/ดอลลาร์