วันเสาร์ ที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2568 12:05 น.

การเงิน หุ้น

ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 33.17 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้น”

วันศุกร์ ที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2568, 08.49 น.

ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 33.17 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้น”

 

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 33.17 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้น” จากระดับปิดวันที่ผ่านมา ณ ระดับ 33.32 บาทต่อดอลลาร์

 

โดยนับตั้งแต่ช่วงคืนที่ผ่านมา เงินบาท (USDTHB) พลิกกลับมาแข็งค่าขึ้น (แกว่งตัวในกรอบ 33.17-33.38 บาทต่อดอลลาร์) หนุนโดยการรีบาวด์สูงขึ้นต่อเนื่องของราคาทองคำ ที่ได้แรงหนุนจากทั้งแรงซื้อ Buy on Dip ของผู้เล่นในตลาด อีกทั้งความไม่แน่นอนของการเจรจาสันติภาพระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ก็มีส่วนช่วยหนุนความต้องการถือทองคำในช่วงนี้ นอกจากนี้ ราคาทองคำยังได้แรงส่งเพิ่มเติมจากจังหวะย่อตัวลงของเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ หลังรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในช่วงคืนที่ผ่านมา ออกมาผสมผสาน (ดัชนีราคาผู้ผลิต PPI และดัชนีภาคการผลิตโดยเฟดสาขานิวยอร์ก ออกมาต่ำกว่าคาด ส่วนยอดค้าปลีกและยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงานดีกว่าคาดเล็กน้อย) โดยภาพดังกล่าวทำให้ ผู้เล่นในตลาดทยอยเพิ่มโอกาสเฟดสามารถลดดอกเบี้ยในปีนี้ได้ราว 3 ครั้ง เป็น 25% จากราว 0% ในช่วงก่อนรับรู้รายงานข้อมูลเศรษฐกิจดังกล่าว

 

บรรยากาศในฝั่งตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังพอได้แรงหนุนบ้างจากการรีบาวด์ขึ้นของบรรดาหุ้นกลุ่ม Healthcare ที่เผชิญแรงเทขายหนัก อย่างไรก็ดี ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ก็ถูกกดดันบ้างจากแรงขายทำกำไรหุ้นเทคฯ ใหญ่ อาทิ Amazon -2.4% (Amazon มีประเด็นเพิ่มเติมจากความกังวลผลกระทบจากมาตรการภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ) ทำให้โดยรวมดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq ย่อตัวลง -0.18% ส่วนดัชนี S&P500 ปิดตลาด +0.41%

 

ทางฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 รีบาวด์สูงขึ้น +0.56% แม้ว่าตลาดหุ้นยุโรปจะเผชิญแรงกดดันจากการปรับตัวลงของหุ้นกลุ่มพลังงาน หลังราคาน้ำมันดิบปรับตัวลดลง ทว่าความไม่แน่นอนของการเจรจาสันติภาพระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ได้หนุนให้บรรดาหุ้นกลุ่มอุตสาหกรรมทหารและการบินของยุโรปปรับตัวขึ้นได้ดี นำโดย Rheinmetall +5.7%, BAE System +3.2% นอกจากนี้ รายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียนที่ออกมาสดใส ก็มีส่วนหนุนตลาดหุ้นยุโรปเช่นกัน

 

ในส่วนตลาดบอนด์ รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ออกมาผสมผสาน ได้ทำให้ผู้เล่นในตลาดปรับเพิ่มโอกาสเฟดสามารถลดดดอกเบี้ยได้ราว 3 ครั้ง ในปีนี้ เป็น 25% ส่งผลให้บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ทยอยย่อตัวลงสู่ระดับ 4.42% โดยเราคงคำแนะนำเดิมว่า บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ในระดับปัจจุบันถือว่ามีความน่าสนใจอยู่ และคงแนะนำว่า ควรรอจังหวะทยอยเข้าซื้อสะสมบอนด์ระยะยาวสหรัฐฯ ได้ (เน้น Buy on Dip) โดยเฉพาะในช่วงโซนสูงกว่า 4.50% หากบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ มีจังหวะปรับตัวขึ้นทดสอบโซนดังกล่าวอีกครั้ง

 

ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์เคลื่อนไหวในกรอบ Sideways แม้ว่าจะเผชิญแรงกดดันบ้างจากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ออกมาผสมผสาน ซึ่งกดดันให้บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ย่อตัวลง ทว่า เงินดอลลาร์ยังพอได้แรงหนุนบ้าง จากภาวะเปิดรับความเสี่ยงของตลาดหุ้นสหรัฐฯ อีกทั้งผู้เล่นในตลาดต่างรอรับรู้ปัจจัยใหม่ๆ เพิ่มเติม ทำให้โดยรวมดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ยังคงแกว่งตัวแถวโซน 100.7 จุด (แกว่งตัวในกรอบ 100.6-100.9 จุด) ในส่วนของราคาทองคำ แรงซื้อ Buy on Dip ของผู้เล่นในตลาด กอปรกับจังหวะการปรับตัวลงของทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ รวมถึงความต้องการถือทองคำ ท่ามกลางความไม่แน่นอนของการเจรจาสันติภาพระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ได้หนุนให้ ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน มิ.ย. 2025) สามารถรีบาวด์สูงขึ้นต่อเนื่องกว่า +2% สู่ระดับ 3,244 ดอลลาร์ต่อออนซ์

 

สำหรับในช่วง 24 ชั่วโมงหลังจากนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ ผ่านรายงานดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยมหาวิทยาลัยมิชิแกน (U of Michigan Consumer Sentiment) พร้อมรอลุ้น รายงานอัตราเงินเฟ้อคาดการณ์ระยะสั้นและระยะยาว (Inflation Expectations) ในรายงานเดียวกัน โดยในช่วงที่ผ่านมา ตลาดการเงินมีความอ่อนไหวกับข้อมูล Soft Data หรือ Survey-Based Data อย่าง ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคฯ พอสมควร

 

ส่วนในฝั่งยุโรป ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามถ้อยแถลงบรรดาเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางยุโรป (ECB) เพื่อประเมินแนวโน้มการดำเนินนโยบายการเงินของ ECB

 

และนอกเหนือจากปัจจัยข้างต้น ผู้เล่นในตลาดจะติดตามการเจรจาสันติภาพระหว่างรัสเซีย-ยูเครน รวมถึงพัฒนาการของนโยบายการค้าของสหรัฐฯ โดยเฉพาะความคืบหน้าของการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับบรรดาประเทศคู่ค้า

 

สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท เรามองว่า การกลับมาแข็งค่าขึ้นของเงินบาทนับตั้งแต่ช่วงบ่ายของวันก่อนหน้านั้น ไม่ได้เหนือความคาดหมายมากนัก หลังราคาทองคำสามารถทยอยรีบาวด์สูงขึ้นจากโซนแนวรับในระยะสั้นได้ อย่างไรก็ดี เราคงมุมมองเดิมว่า ราคาทองคำถือว่าเป็นปัจจัยที่ทำให้เงินบาทเสี่ยงเคลื่อนไหวลักษณะ Two-Way ขึ้นกับแนวโน้มราคาทองคำ โดยล่าสุด การรีบาวด์ขึ้นของราคาทองคำอาจชะลอลงบ้าง เนื่องจากผู้เล่นในตลาดอาจรอรับรู้ปัจจัยใหม่ๆ เพิ่มเติม โดยเฉพาะรายงานข้อมูล Soft Data จากฝั่งสหรัฐฯ อย่าง ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยมหาวิทยาลัยมิชิแกน รวมถึงการเจรจาสันติภาพระหว่างรัสเซีย-ยูเครน โดยในกรณีที่ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคฯ ออกมาแย่กว่าคาดชัดเจน ก็อาจทำให้ผู้เล่นในตลาดกลับมากังวลแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ เพิ่มเติม ซึ่งจะสะท้อนผ่านการปรับเพิ่มโอกาสเฟดสามารถลดดอกเบี้ยราว 3 ครั้ง ในปีนี้ ได้ โดยอาจเห็นการย่อตัวลงบ้างของทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ที่อาจหนุนการปรับตัวขึ้นต่อของราคาทองคำ นอกจากนี้ ความไม่แน่นอนของการเจรจาสันติภาพระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ก็อาจยังพอช่วยหนุนราคาทองคำในระยะสั้นได้ แต่หากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ออกมาดีกว่าคาด อีกทั้งพัฒนาของการเจรจาสันติภาพมีแนวโน้มที่ดีขึ้น ก็อาจกดดันให้ราคาทองคำยังอยู่ในช่วงการพักฐานและเสี่ยงย่อตัวลงต่อได้กลับไปทดสอบโซนแนวรับระยะสั้นอีกครั้ง ได้ไม่ยาก

 

และนอกเหนือจากการเคลื่อนไหวของราคาทองคำ เรามองว่า เงินบาทอาจเผชิญแรงกดดันบ้าง จากแรงขายสินทรัพย์ไทยของบรรดานักลงทุนต่างชาติ รวมถึงแรงซื้อเงินดอลลาร์จากผู้เล่นในตลาดบางส่วน ทำให้การแข็งค่าขึ้นของเงินบาทอาจติดอยู่แถวโซนแนวรับหลัก 33.00 บาทต่อดอลลาร์ ขณะเดียวกัน เงินบาทก็ยังไม่สามารถอ่อนค่าลงชัดเจน จนทะลุโซนแนวต้านสำคัญ 33.50 บาทต่อดอลลาร์ ไปได้ง่าย จนกว่าจะเห็นรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ออกมาดีกว่าคาดชัดเจน รวมถึงตลาดไร้ปัจจัยเสี่ยง พร้อมเดินหน้าเปิดรับความเสี่ยงเพิ่มเติม ซึ่งภาพดังกล่าวควรจะเห็นการปรับตัวลดลงต่อของราคาทองคำด้วยเช่นกัน

 

ท่ามกลางความผันผวนในตลาดการเงินที่ยังอยู่ในระดับสูง โดยเฉพาะในช่วงปีหน้าที่จะเผชิญกับ Trump’s Uncertainty ทำให้เรายังคงแนะนำว่า ผู้เล่นในตลาดควรใช้กลยุทธ์ในการปิดความเสี่ยงที่หลากหลายมากขึ้น ทั้งการใช้เครื่องมือเช่น Options หรือ สกุลเงินท้องถิ่น ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการปิดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนได้

 

มองกรอบเงินบาทในช่วง 24 ชั่วโมง คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 33.00-33.30 บาท/ดอลลาร์