วันพฤหัสบดี ที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2568 10:49 น.

การเงิน หุ้น

ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 32.88 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้น”

วันพุธ ที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2568, 10.24 น.

ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 32.88 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้น”

 

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 32.88 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้น” จากระดับปิดวันที่ผ่านมา ณ ระดับ 33.07 บาทต่อดอลลาร์

 

โดยนับตั้งแต่ช่วงคืนที่ผ่านมา เงินบาท (USDTHB) พลิกกลับมาแข็งค่าขึ้น ทะลุโซนแนวรับสำคัญ 33.00 บาทต่อดอลลาร์ (แกว่งตัวในกรอบ 32.85-33.09 บาทต่อดอลลาร์) หลังเงินดอลลาร์พลิกกลับมาอ่อนค่าลง ตามความกังวลเสถียรภาพการคลังของรัฐบาลสหรัฐฯ ในช่วงที่บรรดาสมาชิกสภาผู้แทนฯ พรรครีพับลิกันกำลังเตรียมร่าง “Fiscal Bill” ใหม่ ซึ่งอาจรวมนโยบายลดหย่อนภาษี (ขยายเวลา Tax Cuts and Jobs Act) โดยการอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์ยังคงหนุนให้ ราคาทองคำ (XAUUSD) ทยอยปรับตัวสูงขึ้นเข้าใกล้โซน 3,300 ดอลลาร์ต่อออนซ์ อีกครั้ง นอกจากนี้ ความไม่แน่นอนของการเจรจาข้อตกลงนิวเคลียร์ระหว่างสหรัฐฯ กับอิหร่าน รวมถึงความเสี่ยงที่อิสราเอลอาจโจมตีโครงสร้างพื้นฐานด้านนิวเคลียร์ของอิหร่านจากรายงานข่าวของ CNN และความไม่แน่นอนของการเจรจาสันติภาพรัสเซีย-ยูเครน ก็เป็นปัจจัยที่ช่วยหนุนการปรับตัวขึ้นราคาทองคำ

 

บรรยากาศในฝั่งตลาดหุ้นสหรัฐฯ พลิกกลับมาอยู่ในภาวะระมัดระวังตัวมากขึ้น หลังผู้เล่นในตลาดต่างรอความชัดเจนของร่าง “Fiscal Bill” จากฝั่งพรรครีพับลิกัน ซึ่งประเด็นดังกล่าวอาจส่งผลกระทบต่อเสถียนภาพการคลังของรัฐบาลสหรัฐฯ ได้ ทำให้ผู้เล่นในตลาดเลือกที่จะเดินหน้าขายทำกำไรสินทรัพย์เสี่ยง โดยเฉพาะบรรดาหุ้นเทคฯ ใหญ่ อาทิ Alphabet -1.5%, Amazon -1.0% ทำให้โดยรวมดัชนี S&P500 ปิดตลาด -0.39%

 

ทางฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 ปรับตัวขึ้นราว +0.73% หนุนโดยรายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียนส่วนใหญ่ที่ออกมาสดใส นอกจากนี้ ตลาดหุ้นยุโรปยังได้แรงหนุนจากการปรับตัวขึ้นของบรรดาหุ้นกลุ่ม Utilities โดยเฉพาะหุ้นธีมพลังงานลม หลังประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ได้ยกเลิกคำสั่งระงับการใช้งานโครงการพลังงานลมนอกชายฝั่งแถบนิวยอร์ก

 

ในส่วนตลาดบอนด์ ความกังวลต่อแนวโน้มเสถียรภาพการคลังของรัฐบาลสหรัฐฯ ในช่วงที่พรรครีพับลิกันกำลังร่าง “Fiscal Bill” นั้น ได้ส่งผลให้ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ มีจังหวะปรับตัวขึ้นทะลุโซน 4.50% อีกครั้ง ทว่า ผู้เล่นในตลาดบางส่วนต่างก็รอทยอยเข้าซื้อบอนด์ระยะยาวอยู่ ทำให้บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ย่อตัวลงบ้างและแกว่งตัวแถวระดับ 4.49%  ทั้งนี้ เราคงคำแนะนำเดิมว่า บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ในระดับปัจจุบันถือว่ามีความน่าสนใจอยู่ แม้ว่าในระยะสั้นอาจเผชิญแรงกดดันจากประเด็นงบประมาณและเสถียรภาพการคลังของรัฐบาลสหรัฐฯ โดยเราคงแนะนำว่า ควรรอจังหวะทยอยเข้าซื้อสะสมบอนด์ระยะยาวสหรัฐฯ ได้ (เน้น Buy on Dip) โดยเฉพาะในช่วงโซนสูงกว่า 4.50%

 

ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์พลิกกลับมาอ่อนค่าลง ท่ามกลางแรงกดดันจากความกังวลต่อประเด็นเสถียรภาพการคลังของรัฐบาลสหรัฐฯ ขณะเดียวกันบรรดาสกุลเงินหลัก อย่างเงินยูโร (EUR) ก็ได้แรงหนุนจากภาวะเปิดรับความเสี่ยงของตลาดหุ้นยุโรป ซึ่งส่วนทางกับภาวะระมัดระวังตัวในฝั่งตลาดหุ้นสหรัฐฯ ทำให้โดยรวมดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ย่อตัวลงสู่โซน 99.9 จุด (แกว่งตัวในกรอบ 99.9-100.5 จุด) ในส่วนของราคาทองคำ บรรยากาศระมัดระวังตัวของตลาดการเงินสหรัฐฯ ท่ามกลางความกังวลต่อประเด็นเสถียรภาพการคลังของรัฐบาลสหรัฐฯ รวมถึงความเสี่ยงภูมิรัฐศาสตร์ในตะวันออกกลางและรัสเซีย-ยูเครนที่ยังคงร้อนแรงอยู่ ได้หนุนให้ ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน มิ.ย. 2025) พุ่งขึ้น +2% สู่ระดับ 3,329 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ทำให้ผู้เล่นในตลาดบางส่วนเลือกทยอยขายทำกำไรการปรับตัวขึ้นของราคาทองคำ และโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวก็มีส่วนหนุนการแข็งค่าขึ้นของเงินบาท 

 

สำหรับในช่วง 24 ชั่วโมงหลังจากนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้นรายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI ของอังกฤษ ในเดือนเมษายน เพื่อประกอบการประเมินแนวโน้มนโยบายการเงินของธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) พร้อมกันนั้น ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตาม รายงานการประชุมธนาคารกลางยุโรป (ECB) ล่าสุด ซึ่งอาจส่งสัญญาณต่อแนวโน้มการปรับนโยบายการเงินในอนาคตของ ECB ได้

 

ส่วนในฝั่งเอเชีย บรรดานักวิเคราะห์ต่างประเมินว่า ธนาคารกลางอินโดนีเซีย (BI) อาจตัดสินใจลดดอกเบี้ยนโยบาย 25bps สู่ระดับ 5.50% ตามแนวโน้มการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจและอัตราเงินเฟ้อ รวมถึงรับมือผลกระทบจากนโยบายกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ

 

และในฝั่งสหรัฐฯ ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด พร้อมจับตาความคืบหน้าของการร่าง “Fiscal Bill” ของพรรครีพับลิกัน ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อมุมมองของผู้เล่นในตลาดต่อแนวโน้มเสถียรภาพการคลังของรัฐบาลสหรัฐฯ ได้

 

และนอกเหนือจากปัจจัยข้างต้น ผู้เล่นในตลาดจะติดตามการเจรจาสันติภาพระหว่างรัสเซีย-ยูเครน รวมถึงพัฒนาการของนโยบายการค้าของสหรัฐฯ โดยเฉพาะความคืบหน้าของการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับบรรดาประเทศคู่ค้า

 

สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท เรายอมรับว่า การแข็งค่าขึ้นของเงินบาทในช่วงคืนที่ผ่านมานั้น เหนือความคาดหมายไปพอสมควร โดยปัจจัยสำคัญที่หนุนการแข็งค่าขึ้นของเงินบาทยังคงเป็นการปรับตัวขึ้นแรงราว +2% ของราคาทองคำ ที่ได้แรงหนุนจากทั้งประเด็นความกังวลเสถียรภาพการคลังของรัฐบาลสหรัฐฯ รวมถึงความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ในตะวันออกกลางและรัสเซีย-ยูเครน ขณะที่เงินดอลลาร์นั้นไม่ได้อ่อนค่าลงไปมาก (ดัชนีเงินดอลลาร์ DXY ย่อตัวลงราว -0.3%) ซึ่งเรามองว่า ประเด็นความเสี่ยงดังกล่าวที่หนุนราคาทองคำในช่วงนี้นั้น จะยังคงอยู่ อย่างน้อยภายในช่วง 1 สัปดาห์นี้ ทำให้ราคาทองคำอาจยังมีโอกาสทยอยปรับตัวสูงขึ้นได้บ้าง และในเชิงเทคนิคัล ราคาทองคำ (XAUUSD) ก็มีโอกาสปรับตัวขึ้นทดสอบโซนแนวต้าน 3,325-3,350 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ได้ ซึ่งหากประเมินจากความอ่อนไหว (Sensitivity, Beta) ของเงินบาทกับราคาทองคำ ราว 0.3-0.5 อาจพอประเมินได้ว่า เงินบาทมีโอกาสแข็งค่าขึ้นทดสอบโซน 32.50-32.60 บาทต่อดอลลาร์ ได้อีกครั้ง

 

อย่างไรก็ดี เรามองว่า การแข็งค่าขึ้นของเงินบาทอาจเป็นไปอย่างจำกัดได้ เนื่องจากผู้เล่นในตลาดบางส่วนต่างก็รอทยอยซื้อเงินดอลลาร์ หากเงินบาทแข็งค่าขึ้นทดสอบโซนแนวรับ โดยเฉพาะในช่วงโซน 32.50-32.60 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งอาจเห็นผู้เล่นในตลาดทยอยเพิ่มสถานะ Long USDTHB (มองเงินบาทอ่อนค่าลง) ได้ หากเงินบาทไม่ได้สามารถแข็งค่าขึ้นทะลุโซนแนวรับดังกล่าวได้ชัดเจน นอกจากนี้ โฟลว์ธุรกรรมจ่ายเงินปันผลให้กับบรรดานักลงทุนต่างชาติก็ยังคงมีอยู่ในช่วงนี้

 

 

ทั้งนี้ เราคงมุมมองเดิมว่า เงินบาทยังเสี่ยงเผชิญ Two-Way Volatility ขึ้นกับการเคลื่อนไหวของราคาทองคำ โดยหากราคาทองคำพลิกกลับมาปรับตัวลดลง ก็อาจกดดันให้เงินบาทอ่อนค่าลง ทำให้แนวโน้มราคาทองคำควรเป็นปัจจัยที่ต้องจับตาอย่างใกล้ชิดในช่วงนี้ 

 

ท่ามกลางความผันผวนในตลาดการเงินที่ยังอยู่ในระดับสูง โดยเฉพาะในช่วงปีหน้าที่จะเผชิญกับ Trump’s Uncertainty ทำให้เรายังคงแนะนำว่า ผู้เล่นในตลาดควรใช้กลยุทธ์ในการปิดความเสี่ยงที่หลากหลายมากขึ้น ทั้งการใช้เครื่องมือเช่น Options หรือ สกุลเงินท้องถิ่น ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการปิดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนได้

 

มองกรอบเงินบาทในช่วง 24 ชั่วโมง คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 32.75-33.00 บาท/ดอลลาร์