วันศุกร์ ที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2568 16:14 น.

การเงิน หุ้น

เอชเอสบีซี ไพรเวท แบงค์ แนะ 4 กลยุทธ์การลงทุนไตรมาส 3 ปี 2568

วันพุธ ที่ 02 กรกฎาคม พ.ศ. 2568, 11.30 น.

ภายใต้ความไม่แน่นอนของการค้าโลก เอชเอสบีซี ไพรเวท แบงค์ (HSBC Private Bank) แนะนำให้นักลงทุนสร้างพอร์ตการลงทุนที่แข็งแกร่ง ผ่านการกระจายการลงทุนแบบหลากหลายสินทรัพย์ทั่วโลก การบริหารจัดการเชิงรุก การลงทุนในสินทรัพย์คุณภาพ และธีมการเติบโตเชิงโครงสร้าง สำหรับช่วงครึ่งหลังของปี 2568 ธนาคารยังคงเพิ่มน้ำหนักการลงทุนในหุ้นโลกเล็กน้อย โดยเฉพาะในตลาดสหรัฐอเมริกา จีน อินเดีย สิงคโปร์ และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ โดยมองว่าตลาดหุ้นในสหรัฐฯ และจีนมีแนวโน้มได้รับประโยชน์จากโอกาสการเติบโตเชิงโครงสร้าง โดยเฉพาะการนำเทคโนโลยี AI มาใช้งานและกระบวนการสร้างรายได้จากนวัตกรรม

ในด้านตราสารหนี้ ธนาคารมีมุมมองเพิ่มน้ำหนักการลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลอังกฤษ และพันธบัตรการลงทุนของยุโรป และมีมุมมองที่เป็นกลางต่อตราสารหนี้รัฐบาลสหรัฐฯ และพันธบัตรบริษัทเอกชนของสหรัฐฯ โดยกลยุทธ์นี้จะช่วยลดความเสี่ยงที่เกิดจากการตอบโต้มาตรการภาษีระหว่างประเทศ และความกังวลต่อหนี้สาธารณะของรัฐบาลสหรัฐฯ ผ่านการเพิ่มน้ำหนักการลงทุนในทองคำ กองทุนเฮดจ์ฟันด์ (Hedge Funds) พันธบัตรเอกชน และการจัดสรรกลยุทธ์การลงทุนในหลักทรัพย์นอกตลาด (Private Equity) สินเชื่อภาคเอกชน และโครงสร้างพื้นฐาน ในด้านค่าเงิน ธนาคารมีมุมมองเป็นกลางต่อดอลลาร์สหรัฐฯ โดยมองว่าความเสี่ยงเชิงนโยบายจะถูกชดเชยจากส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยที่สูงเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักอื่น ๆ โดยธนาคารยังคงเน้นกลยุทธ์ป้องกันความผันผวนสองทิศทาง (two-way volatility) ของค่าเงิน ผ่านการถือครองทองคำและกองทุนเฮดจ์ฟันด์ พร้อมกลยุทธ์ลดความเสี่ยงด้านความผันผวน

นางชึก วาน ฟาน ประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายการลงทุน ประจำภูมิภาคเอเชีย (Chief Investment Officer, Asia) ของเอชเอสบีซี ไพรเวท แบงค์ กล่าวว่า “ความไม่แน่นอนด้านนโยบายได้ท้าทายแนวคิด ‘ความพิเศษเหนือชาติอื่นของอเมริกา’ (US exceptionalism) และส่งแรงกดดันต่อค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ อย่างไรก็ตาม เราคาดการณ์ว่ากำไรของภาคธุรกิจจะยังคงแข็งแกร่ง มาตรการลดภาษี การปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) รวมถึงนโยบายกระตุ้นภาคอุตสาหกรรมและการผ่อนคลายกฎระเบียบจะช่วยสนับสนุนการฟื้นตัวของตลาดหุ้นสหรัฐฯ หลังจากที่เคลื่อนไหวต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในช่วงครึ่งปีแรก แต่เราไม่คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจชะงักงันและเงินเฟ้อ (stagflation) แต่คาดว่าการเก็บภาษีที่สูงขึ้นอาจทำให้การเติบโตของ GDP ของสหรัฐฯ ชะลอตัว เหลือเพียง 1.6% ในปี 2568 และ 1.3% ในปี 2569 ทั้งนี้ การเติบโตของกำไรจากการลงทุนใน AI และการสนับสนุนจากนโยบายที่เป็นมิตรต่อตลาดในช่วงครึ่งปีหลังจะช่วยเพิ่มน้ำหนักการลงทุนในตลาดหุ้นสหรัฐฯ และหุ้นทั่วโลก เล็กน้อย”

“แนวทางของสหรัฐฯ ที่ให้ความสำคัญกับการเจรจาแทนการเผชิญหน้าโดยตรง ช่วยเสริมบรรยากาศการลงทุนในตลาดเอเชีย เราจึงเพิ่มน้ำหนักการลงทุนในหุ้นเอเชีย ที่ได้รับแรงหนุนจากปัจจัยภายในประเทศและนโยบายภาครัฐ เช่น จีน อินเดีย และสิงคโปร์ ซึ่งประเทศเหล่านี้มีสัดส่วนรายได้จากการส่งออกไปยังสหรัฐฯ ต่ำมาก โดยอยู่ที่ 2.2%, 3.3% และ 2.0% ตามลำดับ” นางชึก กล่าวเสริม

“เศรษฐกิจจีนมีความเปราะบางต่อภาษีของสหรัฐฯ น้อยลงกว่าช่วงปี 2561 เนื่องจากจีนลดการพึ่งพาการค้าโดยตรงกับสหรัฐฯ ปัจจุบันมีเพียงราว 13% ของการนำเข้าสหรัฐฯ ที่มาจากจีน และมีเพียงไม่ถึง 15% ของการส่งออกของจีนที่ไปยังสหรัฐฯ โดยในปี 2567 ประมาณ 70% ของเศรษฐกิจทั่วโลกมีการค้ากับจีนมากกว่าสหรัฐฯ ทำให้เอเชียเป็นภูมิภาคที่มีศักยภาพในการดึงดูดนักลงทุนระหว่างประเทศที่ต้องการกระจายความเสี่ยงจากการถือครองสินทรัพย์สกุลดอลลาร์ ไปสู่ตลาดทุนและตลาดตราสารหนี้ในเอเชีย” นางชึก กล่าวเสริม

“เราเห็นว่าตราสารหนี้คุณภาพดี (quality bonds) เป็นเครื่องมือสำคัญในการกระจายความเสี่ยงของพอร์ตการลงทุน โดยเฉพาะในภาวะที่เศรษฐกิจมีแนวโน้มชะลอตัว และในขณะที่ยังมีมูลค่าที่น่าดึงดูด เราจึงเพิ่มน้ำหนักการลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลอังกฤษ และตราสารหนี้การลงทุนของยุโรป แม้จะมีความกังวลต่อปัญหาหนี้และการขาดดุลงบประมาณของสหรัฐฯ แต่เรายังคงมีมุมมองเป็นกลางต่อพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ และพันธบัตรเอกชนของสหรัฐฯ เนื่องจากมีอัตราผลตอบแทนที่สูงและมีค่าความเสี่ยงต่ำ” นางชึก กล่าวสรุป

เอชเอสบีซี ไพรเวท แบงค์ แนะ 4 กลยุทธ์การลงทุนไตรมาส 3 ปี 2568 1.เพิ่มการลงทุนในหุ้น โดยกระจายความเสี่ยงผ่านภูมิภาคและกลุ่มอุตสาหกรรมการขยายการลงทุนในหุ้นอย่างทั่วถึงช่วยเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงธีมการลงทุนใหม่ ๆ และช่วยลดผลกระทบจากการปรับตัวของตลาดที่ไม่คาดคิด โดยโอกาสการลงทุนที่น่าสนใจจำนวนมากมักกระจายตัวอยู่ในหลายภูมิภาคและอุตสาหกรรม 

2. คว้าโอกาสการเติบโตทั่วโลกจากการนำ AI มาใช้และสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ นวัตกรรมที่ขับเคลื่อนด้วย AI ยังคงขยายตัวอย่างรวดเร็วในทุกอุตสาหกรรม โดยเปลี่ยนการให้ความสำคัญจากกลุ่มฮาร์ดแวร์และเซมิคอนดักเตอร์ต้นน้ำ ไปยังกลุ่มซอฟต์แวร์และองค์กรที่นำ AI มาใช้จริงในระดับกลางถึงปลายน้ำ ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีแนวโน้มได้รับประโยชน์จากการประยุกต์ใช้ AI และกระบวนการสร้างรายได้เชิงพาณิชย์

3.ลดความเสี่ยงของพอร์ตด้วยกลยุทธ์การลงทุนในสินทรัพย์ทางเลือก การกระจายสินทรัพย์ และกลยุทธ์จัดการความผันผวน กลยุทธ์การลงทุนในสินทรัพย์ผสม (Multi-Asset) สามารถช่วยลดความผันผวนของพอร์ตในช่วงที่ตลาดมีความไม่แน่นอนสูงได้ โดยสินทรัพย์ทางเลือกและกลยุทธ์จัดการความผันผวนสามารถทำหน้าที่ป้องกันความเสี่ยงด้านขาลงในตลาดหุ้น พันธบัตร และสกุลเงินได้อย่างมีประสิทธิภาพ

4.เพิ่มโอกาสจากความแข็งแกร่งภายในของเอเชียและการเติบโตเชิงโครงสร้าง ภายใต้สภาวะความไม่แน่นอนทางการค้าโลก เอเชียยังคงเป็นภูมิภาคที่มีศักยภาพในการกระจายความเสี่ยงและโอกาสการเติบโตในระยะยาว โดยเฉพาะตลาดที่ขับเคลื่อนด้วยการบริโภคภายในประเทศ เช่น จีน อินเดีย และสิงคโปร์

แนวโน้มการลงทุนในเอเชียในไตรมาสที่ 3 ปีพ.ศ. 2568 เอชเอสบีซี ไพรเวท แบงค์ แนะนำ 4 ธีมการลงทุนในเอเชียที่น่าสนใจที่สุด ภายใต้แนวคิดหลัก “เอเชียในระเบียบโลกใหม่” (Asia in the New World Order) แชมป์นวัตกรรมของจีน ธีมการลงทุนนี้เน้นโอกาสการเติบโตเชิงโครงสร้างจากการเร่งพัฒนาและการสร้างรายได้จากเทคโนโลยี AI ของจีน โดยได้รับแรงผลักดันจากนวัตกรรมแบบโอเพ่นซอร์สของบริษัท DeepSeek ขณะที่จีนแซงหน้าสหรัฐฯ และยุโรปในด้านผลผลิตงานวิจัย AI ทำให้ประเทศจีนซึ่งมีเศรษฐกิจใหญ่อันดับสองของโลกในปัจจุบัน ได้ครอบครองสิทธิบัตรด้าน AI มากที่สุดในโลก คิดเป็นสัดส่วนเกือบ 70% ของทั้งหมดในโลก และมีนักวิจัย AI ประมาณ 50% ของทั่วโลกอาศัยอยู่ในจีน โดยหลังจากที่เกิดการปรับมูลค่าหุ้นในกลุ่มเทคโนโลยีจีนโดยมี DeepSeek เป็นผู้นำ ธนาคารยังคงมองว่าหุ้นเทคโนโลยีของจีนยังมีราคาต่ำเมื่อเทียบกับบริษัทเทคโนโลยีในสหรัฐฯ แต่หากจีนยังสามารถสร้างความก้าวหน้าในด้าน AI ได้อย่างต่อเนื่อง ก็จะสามารถช่วยลดช่องว่างด้านมูลค่าหุ้นในระยะยาวได้
เร่งผลตอบแทนจากผู้ถือหุ้นในเอเชีย 

ท่ามกลางความไม่แน่นอนของตลาด เรายังคงมองหาผลตอบแทนจากหุ้นที่มีความผันผวนน้อยในทุกสภาวะตลาด โดยเน้นลงทุนในบริษัทที่มีคุณภาพและมีศักยภาพในการเพิ่มผลตอบแทนจากส่วนของผู้ถือหุ้น (ROE) ผ่านการจ่ายเงินปันผลสูงและการซื้อหุ้นคืน จากคาดว่าผลตอบแทนจากส่วนของผู้ถือหุ้นในเอเชีย (ไม่รวมญี่ปุ่น) จะเพิ่มขึ้นจากประมาณ 11% ในปีที่ผ่านมา เป็น 12.5% ภายในปี 2569
บริษัทเอเชียที่ยืนหยัดระยะยาว

ธีมนี้เน้นไปที่บริษัทขนาดใหญ่และขนาดใหญ่มากที่เป็นผู้นำในอุตสาหกรรมของเอเชีย โดยบริษัทเหล่านี้มีโมเดลธุรกิจที่พิสูจน์แล้วว่ามีประสิทธิภาพ มีความสามารถในการแข่งขันที่โดดเด่น มีงบดุลที่แข็งแกร่ง และแบรนด์ที่เป็นที่รู้จักในวงกว้าง เราคัดเลือกผู้นำในอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพสูงในกลุ่มเทคโนโลยี การเงิน และสินค้าอุปโภคบริโภคที่ไม่จำเป็น ซึ่งเราเชื่อว่านักลงทุนระยะยาวสามารถใช้เป็นแกนกลางของพอร์ตการลงทุนเชิงกลยุทธ์ได้ ดัชนี S&P Asia 50 ซึ่งประกอบด้วยหุ้นบลูชิพ 50 อันดับแรกของเอเชีย ปัจจุบันซื้อขายที่ราคาต่ำกว่าค่าเฉลี่ยทั้งในระดับภูมิภาคและระดับโลกอย่างมีนัยสำคัญ
ตราสารหนี้คุณภาพในเอเชีย

ธนาคารคาดว่า ธนาคารกลางในภูมิภาคเอเชียจะผ่อนคลายนโยบายการเงินเพิ่มเติม จากแนวโน้มเงินเฟ้อลดลงและความไม่แน่นอนด้านการเติบโตทางเศรษฐกิจ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อตลาดตราสารหนี้ในเอเชียที่ได้รับแรงสนับสนุนจากกระแสเงินลงทุนเพื่อกระจายความเสี่ยงและความต้องการรายได้ที่มั่นคงจากนักลงทุนในประเทศ ธีมนี้เน้นไปที่ตราสารหนี้การลงทุนในเอเชีย รวมถึงพันธบัตรภาคเอกชนของญี่ปุ่น ออสเตรเลีย และเครดิตทางการเงินในเอเชีย เรามีมุมมองเพิ่มน้ำหนักการลงทุนในพันธบัตรสกุลเงินของจีน และพันธบัตรสกุลเงินท้องถิ่นของอินเดีย เนื่องจากให้ผลตอบแทนที่น่าสนใจ ในขณะเดียวกัน เรายังเห็นโอกาสที่น่าสนใจในหุ้นกลุ่มเทคโนโลยี สื่อ และโทรคมนาคม (TMT) ของจีน รวมถึงพันธบัตรธุรกิจเกมในมาเก๊า

ภาพรวมเศรษฐกิจไทยและคำแนะนำการลงทุนไตรมาสที่ 3 ปีพ.ศ. 2568 นายเจมส์ เชียว ประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายการลงทุน ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และอินเดีย (Chief Investment Officer, Southeast Asia and India) ของเอชเอสบีซี ไพรเวท แบงค์ กล่าวว่า “เศรษฐกิจไทยในปี 2568 เริ่มต้นได้ดีกว่าที่คาดการณ์ไว้ โดย GDP ไตรมาสแรกขยายตัวถึง 3.1% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา โดยได้รับแรงหนุนจากการลดลงอย่างมีนัยสำคัญของการนำเข้าสินค้าบริการ และการผลิตขยายตัว 0.7% สะท้อนถึงความสามารถในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ แม้ยังเผชิญกับความไม่แน่นอนจากเศรษฐกิจโลก อย่างไรก็ตาม แม้จะมีสัญญาณเชิงบวก แต่ความต้องการบริโภคภายในประเทศยังคงเปราะบาง ขณะที่ภาคเอกชนมีการระบายสินค้าคงคลังต่อเนื่อง ซึ่งอาจสะท้อนถึงแรงขับเคลื่อนพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่ยังอ่อนแออยู่”

การเติบโตที่เกินคาดดังกล่าว สร้างความท้าทายต่อแนวโน้มนโยบายการเงินในระยะสั้น แม้เงินเฟ้อจะชะลอลง และการแข่งขันจากการนำเข้าสินค้าจะเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะจากจีน อาจส่งผลให้มีการผ่อนคลายนโยบายเพิ่มเติม แต่การขยายตัวทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งเกินคาดกลับเพิ่มความเสี่ยงให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะยังคงอัตราดอกเบี้ยไว้ในระดับเดิม ทั้งนี้ ความสามารถในการดำเนินนโยบายการเงินของ ธปท. ยังถูกจำกัดโดยระดับหนี้ครัวเรือนและหนี้สินภาคเอกชนที่อยู่ในระดับสูง

“หากมองไปข้างหน้า ทิศทางของเศรษฐกิจไทยจะขึ้นอยู่กับแนวโน้มของการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐฯ และไทย หากการเติบโตชะลอลง อาจส่งผลให้ ธปท. ปรับลดดอกเบี้ยอีก 0.25% ในช่วงปลายปีนี้ ในขณะที่อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงอาจมีแนวโน้มปรับสูงขึ้น ดังนั้น เราคาดว่าอัตราแลกเปลี่ยนระหว่างเงินบาทและดอลลาร์สหรัฐฯ (USD-THB) จะทรงตัวอยู่ที่ประมาณ 32 บาทต่อดอลลาร์ ณ สิ้นปี 2568” นายเจมส์ กล่าวเสริม