วันเสาร์ ที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2568 12:47 น.

การเงิน หุ้น

ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 32.43 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่าลงเล็กน้อย”

วันศุกร์ ที่ 04 กรกฎาคม พ.ศ. 2568, 09.37 น.

ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 32.43 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่าลงเล็กน้อย”

 

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 32.43 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่าลงเล็กน้อย” จากระดับปิดวันที่ผ่านมา ณ ระดับ 32.37 บาทต่อดอลลาร์

 

โดยนับตั้งแต่ช่วงคืนที่ผ่านมา เงินบาท (USDTHB) พลิกกลับมาอ่อนค่าลง เข้าใกล้โซนแนวต้าน 32.50 บาทต่อดอลลาร์ (แกว่งตัวในกรอบ 32.34-32.51 บาทต่อดอลลาร์) ตามการพลิกกลับมาแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ ที่มาพร้อมกับการปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ (กดดันให้ราคาทองคำปรับตัวลดลง) หลังรายงานข้อมูลตลาดแรงงานสหรัฐฯ ส่วนใหญ่ออกมาดีกว่าคาด อาทิ ยอดการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรม (Nonfarm Payrolls) เดือนมิถุนายน เพิ่มขึ้น 1.47 แสนราย ยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงานครั้งแรก (Initial Jobless Claims) ลดลงสู่ระดับ 2.33 แสนราย ทำให้ผู้เล่นในตลาดทยอยปรับลดความคาดหวังต่อแนวโน้มการลดดอกเบี้ยของเฟด โดยจากที่ผู้เล่นในตลาดประเมินเฟดมีโอกาสราว 70% ที่จะลดดอกเบี้ยได้ 3 ครั้ง ในปีนี้ ก็เหลือ 0% หรือผู้เล่นในตลาดกลับมาเชื่อว่า เฟดจะสามารถลดดอกเบี้ยได้ 2 ครั้ง สอดคล้องกับ Dot Plot ล่าสุดของเฟด อย่างไรก็ดี การอ่อนค่าของเงินบาทก็ถูกชะลอลงบ้าง ตามแรงขายเงินดอลลาร์ของผู้เล่นในตลาด อีกทั้งราคาทองคำ (XAUUSD) ก็มีจังหวะรีบาวด์สูงขึ้นบ้าง หลังผู้เล่นในตลาดยังคงต้องการถือทองคำอยู่ ในช่วงตลาดเผชิญความไม่แน่นอนของการดำเนินนโยบายการค้าของสหรัฐฯ

 

แม้ว่าตลาดการเงินสหรัฐฯ จะปิดทำการเร็วกว่ากำหนด เนื่องจากจะเข้าสู่ช่วงวันหยุด 4th of July ทว่า ผู้เล่นในตลาดยังคงเดินหน้าเปิดรับความเสี่ยง ท่ามกลางรายงานข้อมูลตลาดแรงงานสหรัฐฯ ที่ออกมาดีกว่าคาด นอกจากนี้ ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังพอได้แรงหนุนจากการปรับตัวขึ้นของบรรดาหุ้นเทคฯ ใหญ่ อาทิ Amazon +1.6%, Microsoft +1.6% ทำให้โดยรวมดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq ปรับตัวขึ้น +1.02% ส่วนดัชนี S&P500 ปิดตลาด +0.83% 

 

ทางฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 ปรับตัวขึ้น +0.47% หนุนโดยบรรยากาศเปิดรับความเสี่ยงของตลาดการเงินโดยรวม โดยเฉพาะฝั่งสหรัฐฯ นอกจากนี้ ความวุ่นวายของการเมืองอังกฤษที่ทยอยคลี่คลายลง ก็พอช่วยหนุนตลาดหุ้นยุโรปบ้าง อย่างไรก็ดี ผู้เล่นในตลาดยังไม่กล้าเปิดรับความเสี่ยงมากนัก เพื่อรอลุ้นการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับยุโรป

 

ส่วนในฝั่งตลาดบอนด์ มุมมองของผู้เล่นในตลาดที่ทยอยปรับลดความคาดหวังต่อแนวโน้มการลดดอกเบี้ยของเฟดในปีนี้ หลังรายงานข้อมูลตลาดแรงงานสหรัฐฯ ออกมาดีกว่าคาด (แต่เรามองว่า ในรายละเอียดข้อมูลตลาดแรงงานสหรัฐฯ ล่าสุด อาจไม่ได้ดีมากนัก โดยการจ้างงานส่วนใหญ่ยังคงมาจากภาครัฐ ทว่าการจ้างงานในภาคเอกชนชะลอลงชัดเจน) ได้ส่งผลให้ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ พลิกกลับมาปรับตัวสูงขึ้น สู่ระดับ 4.35% โดยการปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ดังกล่าว ทำให้เรามองว่า บอนด์ 10 ปี สหรัฐฯ เริ่มมีความน่าสนใจมากขึ้น และคงคำแนะนำเดิมว่า ผู้เล่นในตลาดควรรอจังหวะบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ หรือ บอนด์ยีลด์ระยะยาวสหรัฐฯ ปรับตัวสูงขึ้น ในการทยอยเข้าซื้อ เพื่อ Risk-Reward ที่น่าสนใจกว่า (โซน 4.50% หรือสูงกว่านั้น อาจไม่ได้เห็นได้ง่ายนัก หากไม่มีความเสี่ยงเสถียรภาพการคลังของสหรัฐฯ เข้ามากดดันตลาดบอนด์ และรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ต้องออกมาดีกว่าคาดชัดเจน)

 

ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็ว หลังรายงานข้อมูลตลาดแรงงานสหรัฐฯ ออกมาดีกว่าคาด ก่อนที่จะเผชิญแรงขายทำกำไรของผู้เล่นในตลาด และการรีบาวด์แข็งค่าขึ้นของเงินปอนด์อังกฤษ (GBP) หลังผู้เล่นในตลาดทยอยคลายกังวลแนวโน้มการดำเนินนโยบายการคลังของรัฐบาลอังกฤษและปัญหาการเมืองอังกฤษ กดดันให้เงินดอลลาร์ย่อตัวลงบ้าง ทำให้โดยรวมดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 97 จุด (แกว่งตัวในกรอบ 96.7-97.4 จุด) ในส่วนของราคาทองคำ จังหวะการปรับตัวขึ้นของทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ได้กดดันให้ ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ส.ค. 2025) ปรับตัวลงอย่างรวดเร็ว ก่อนที่ราคาทองคำจะพอได้แรงหนุนจากแรงซื้อ Buy on Dip ของผู้เล่นในตลาดบางส่วน ท่ามกลางความไม่แน่นอนของการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับประเทศคู่ค้า และจังหวะอ่อนค่าลงบ้างของเงินดอลลาร์ หนุนให้ ราคาทองคำรีบาวด์ขึ้นบ้าง สู่โซน 3,330-3,340 ดอลลาร์ต่อออนซ์

 

สำหรับในช่วง 24 ชั่วโมงหลังจากนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามพัฒนาการของการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับบรรดาประเทศคู่ค้า เนื่องจากเข้าใกล้วันครบกำหนดพักมาตรการเรียกเก็บภาษีนำเข้าตอบโต้ (Reciprocal Tariffs) ในวันที่ 9 กรกฎาคม นี้ นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอประเมินแนวโน้มการดำเนินนโยบายการเงินของบรรดาธนาคารกลางหลัก โดยเฉพาะธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) และธนาคารกลางยุโรป (ECB) ผ่านถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่ของธนาคารกลางหลักดังกล่าว

 

สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท เราประเมินว่า เงินบาทอาจแกว่งตัวในกรอบ Sideways ไปก่อน เนื่องจากช่วงนี้จะเข้าสู่ช่วงวันหยุด 4th of July ของฝั่งสหรัฐฯ ทำให้ปริมาณการทำธุรกรรมในตลาดจะเบาบางลง และเราเชื่อว่า ภาพดังกล่าวก็มีส่วนทำให้ ในช่วงคืนที่ผ่านมา เงินบาทไม่ได้อ่อนค่าไปมากนัก (อ่อนค่าน้อยกว่า ค่าสถิติระดับ +1SD หรือ +0.5% เล็กน้อย) แม้ว่ารายงานข้อมูลการจ้างงานสหรัฐฯ จะออกมาดีกว่าคาด จนทำให้ผู้เล่นในตลาดปรับลดโอกาสเฟดเดินหน้าลดดอกเบี้ย 3 ครั้ง พอสมควร

 

อนึ่ง ในช่วงระหว่างวัน เงินบาทอาจพอได้แรงหนุนบ้าง หากราคาทองคำยังสามารถทรงตัว หรือปรับตัวสูงขึ้นได้บ้าง เนื่องจากในช่วงนี้ ผู้เล่นในตลาดอาจรอทยอยซื้อทองคำ ท่ามกลางความไม่แน่นอนของการดำเนินนโยบายการค้าของสหรัฐฯ ที่หลายประเทศคู่ค้า รวมถึงไทย เสี่ยงที่จะเผชิญการเรียกเก็บภาษีนำเข้าตอบโต้ในอัตราที่สูง หากไม่สามารถบรรลุข้อตกลงการค้ากับสหรัฐฯ ได้ก่อนครบกำหนด 90 วัน พักมาตรการเรียกเก็บภาษีนำเข้าตอบโต้ดังกล่าว เว้นแต่ ทางการสหรัฐฯ จะขยายเวลาพักมาตรการดังกล่าวเพิ่มเติม ซึ่งเรามองว่ามีความเป็นไปได้ที่จะเกิดภาพดังกล่าวเช่นกัน เนื่องจากเศรษฐกิจสหรัฐฯ อาจเผชิญปัจจัยเสี่ยงด้านลบพอสมควร หากเรียกเก็บภาษีนำเข้าในอัตราที่สูงมากกว่าปัจจุบัน นอกจากนี้ การอ่อนค่าลงบ้างของเงินบาทในช่วงคืนที่ผ่านมา อาจทำให้ผู้เล่นในตลาดบางส่วนรอจังหวะทยอยขายเงินดอลลาร์เพิ่มเติมได้ โดยเฉพาะหากเงินบาทอ่อนค่าลงใกล้โซนแนวต้าน 32.50 บาทต่อดอลลาร์

 

อย่างไรก็ดี เรามีความกังวลว่า ในช่วงระยะสั้นราว 1 เดือน ข้างหน้า เงินบาทมีความเสี่ยงผันผวนอ่อนค่าลงได้ หากทางการสหรัฐฯ เดินหน้าขึ้นภาษีนำเข้ากับไทยในอัตราที่สูงขึ้นกว่าปัจจุบัน เช่น แม้จะเจรจาการค้าได้แล้ว แต่ไทยก็ถูกเรียกเก็บภาษีนำเข้าในอัตรา 15%-18% (ครึ่งหนึ่งของ 36% ที่สหรัฐฯ เคยประกาศไว้) หรือในกรณีเลวร้ายสุด ไทยถูกเรียกเก็บภาษีนำเข้าในอัตรา 36% ขณะที่บรรดาประเทศคู่ค้าอื่นๆ อาจบรรลุข้อตกลงการค้ากับสหรัฐฯ และถูกเรียกเก็บภาษีนำเข้าในอัตราที่สูงกว่าปัจจุบันไม่มาก เราประเมินว่า กรณีดังกล่าว อาจเห็นเงินบาททยอยอ่อนค่าลงได้ไม่ยาก ท่ามกลางแรงขายสินทรัพย์ไทย โดยเฉพาะหุ้นจากบรรดานักลงทุนต่างชาติ ทั้งนี้ เราจะมั่นใจมากขึ้น ว่าเงินบาทได้กลับเข้าสู่แนวโน้มทยอยอ่อนค่าลงอีกครั้ง หากเงินบาทสามารถอ่อนค่าทะลุโซน 32.80-32.90 บาทต่อดอลลาร์ ได้อย่างชัดเจน ตามการประเมินด้วยกลยุทธ์ Trend Following 

 

เรายังคงมีความกังวลเดิม คือ ความผันผวนของเงินบาทที่อาจกลับมาสูงขึ้นได้ โดยเฉพาะในช่วงสัปดาห์หน้าที่ ตลาดการเงินไทยอาจเผชิญแรงกดดันจากความไม่แน่นอนของสถานการณ์การเมืองไทย ซึ่งเรามองว่า ผู้เล่นในตลาดควรใช้กลยุทธ์ Options เพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน

 

มองกรอบเงินบาทในช่วง 24 ชั่วโมง คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 32.35-32.55 บาท/ดอลลาร์