วันพุธ ที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2568 13:36 น.

การเงิน หุ้น

บาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 32.59 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้น”

วันศุกร์ ที่ 11 กรกฎาคม พ.ศ. 2568, 09.28 น.

บาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 32.59 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้น”
 

       

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 32.59 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้น” จากระดับปิดวัน 9 กรกฎาคม ที่ผ่านมา ณ ระดับ  32.69 บาทต่อดอลลาร์

        

โดยนับตั้งแต่ช่วงคืนที่ 9 กรกฎาคม ที่ผ่านมา รวมถึงช่วงวันหยุดที่ 10 กรกฎาคม ของตลาดการเงินไทย เงินบาท (USDTHB) โดยรวมเคลื่อนไหวในกรอบ Sideways (แกว่งตัวในกรอบ 32.54-32.76 บาทต่อดอลลาร์) แม้เงินบาทจะเผชิญแรงกดดันฝั่งอ่อนค่าบ้าง ตามจังหวะการทยอยแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ โดยเฉพาะในช่วงคืนวันพฤหัสฯ หลังยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงาน (Jobless Claims) ออกมาดีกว่าคาด ทำให้ผู้เล่นในตลาดต่างไม่ได้กังวลต่อแนวโน้มตลาดแรงงานและภาพรวมเศรษฐกิจสหรัฐฯ มากนัก อย่างไรก็ดี การอ่อนค่าของเงินบาทก็เป็นไปอย่างจำกัด หลังราคาทองคำ (XAUUSD) สามารถทยอยปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่องเข้าใกล้โซนแนวต้านระยะสั้นแถว 3,330 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ท่ามกลางความไม่แน่นอนของการดำเนินนโยบายการค้าของสหรัฐฯ ทำให้ผู้เล่นในตลาดต่างทยอยเข้าซื้อทองคำในช่วงนี้ นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดบางส่วนก็ใช้จังหวะที่เงินบาทอ่อนค่าลงในการทยอยปรับสถานะถือครองเงินดอลลาร์ ด้วยการทยอยขายเงินดอลลาร์แถวบริเวณโซนแนวต้าน (Sell USD on Rally) ทำให้การอ่อนค่าของเงินบาทก็ดูจำกัดแถวโซน 32.70 บาทต่อดอลลาร์  

        

บรรดาผู้เล่นในฝั่งตลาดหุ้นสหรัฐฯ เริ่มกลับมาเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น หลังรายงานข้อมูลยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงาน (Jobless Claims) ล่าสุด ออกมาดีกว่าคาด ทว่า ผู้เล่นในตลาดยังไม่กล้าเดินหน้าเปิดรับความเสี่ยงมากนัก ท่ามกลางความไม่แน่นอนของการดำเนินนโยบายการค้าของสหรัฐฯ อีกทั้ง ผู้เล่นในตลาดต่างก็รอลุ้นรายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียน ทำให้โดยรวมดัชนี S&P500 ปิดตลาด +0.27%  

       

ทางฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 ปรับตัวขึ้น +0.54% แม้จะเผชิญความไม่แน่นอนของการดำเนินนโยบายการค้าของสหรัฐฯ ทว่าผู้เล่นในตลาดต่างมีความหวังว่า สหภาพยุโรป (EU) อาจบรรลุข้อตกลงการค้ากับสหรัฐฯ ได้ในเร็ววันนี้ นอกจากนี้ ตลาดหุ้นยุโรปยังได้แรงหนุนจากการปรับตัวขึ้นของบรรดาหุ้นกลุ่มเหมืองแร่ อาทิ Rio Tinto +4.0% ที่ได้อานิสงส์จากการปรับตัวขึ้นของแร่โลหะ อย่าง ทองแดง ในช่วงนี้

        

ส่วนในฝั่งตลาดบอนด์ แม้รายงานข้อมูลยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงาน (Jobless Claims) ของสหรัฐฯ จะออกมาดีกว่าคาด และช่วยหนุนให้บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวสูงขึ้น ทว่า มุมมองของผู้เล่นในตลาดที่ยังคงระมัดระวังต่อความไม่แน่นอนของการดำเนินนโยบายการค้าของสหรัฐฯ รวมถึงมุมมองของผู้เล่นในตลาดที่มั่นใจว่า เฟดอาจลดดอกเบี้ยได้ราว 2 ครั้งในปีนี้ หลังรับรู้ รายงานการประชุม FOMC (FOMC Meeting Minutes) ล่าสุด ก็มีส่วนทำให้บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ย่อตัวลงบ้าง สู่ระดับ 4.34%

       

ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์ทยอยแข็งค่าขึ้นบ้าง หนุนโดยรายงานยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงาน (Jobless Claims) ของสหรัฐฯ ล่าสุดที่ออกมาดีกว่าคาด ทว่า ผู้เล่นในตลาดบางส่วนยังใช้จังหวะการปรับตัวขึ้นของเงินดอลลาร์ ในการทยอยปรับสถานะถือครอง ทำให้การปรับตัวขึ้นของเงินดอลลาร์ยังเป็นไปอย่างจำกัด และโดยรวมดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 97.8 จุด (แกว่งตัวในกรอบ 97.3-97.9 จุด) ในส่วนของราคาทองคำ มุมมองของผู้เล่นในตลาดที่ยังมีความกังวลต่อแนวโน้มการดำเนินนโยบายการค้าของสหรัฐฯ และจังหวะการย่อตัวลงบ้างของทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ได้หนุนให้ ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ส.ค. 2025) สามารถทยอยปรับตัวสูงขึ้น สู่โซน 3,330-3,340 ดอลลาร์ต่อออนซ์

       

สำหรับในช่วง 24 ชั่วโมงหลังจากนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามพัฒนาการของการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับบรรดาประเทศคู่ค้า ส่วนในฝั่งยุโรป ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้น รายงานยอดผลผลิตอุตสาหกรรม (Industrial Production) ของอังกฤษ ในเดือนพฤษภาคม เพื่อประกอบการประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจอังกฤษและประเมินผลกระทบจากนโยบายการค้าของสหรัฐฯ

       

สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท เราคงมุมมองเดิมว่า เงินบาทยังมีความเสี่ยงเผชิญแรงกดดันฝั่งอ่อนค่าได้ในช่วงนี้ ท่ามกลางความไม่แน่นอนของการดำเนินนโยบายการค้าของสหรัฐฯ ซึ่งเป็นปัจจัยที่ช่วยหนุนเงินดอลลาร์ ขณะเดียวกันก็อาจกดดันบรรดาสกุลเงินฝั่งเอเชีย หลังหลายประเทศในฝั่งเอเชีย เสี่ยงเผชิญอัตราภาษีนำเข้าที่สูงกว่าคาดการณ์และสูงกว่า ที่บรรดานักวิเคราะห์รวมถึงธนาคารกลางฝั่งเอเชียได้ใช้ประเมินไว้ก่อนหน้า

       

อย่างไรก็ดี เรามองว่า การอ่อนค่าของเงินบาทอาจมีลักษณะค่อยเป็นค่อยไป หลังราคาทองคำก็ทยอยปรับตัวสูงขึ้น ท่ามกลางความไม่แน่นอนของการดำเนินนโยบายการค้าของสหรัฐฯ ซึ่งการปรับตัวขึ้นของราคาทองคำดังกล่าวก็อาจพอช่วยชะลอการอ่อนค่าของเงินบาทได้บ้าง อีกทั้ง เรามองว่า ผู้เล่นในตลาดบางส่วนต่างก็รอจังหวะเงินบาทอ่อนค่า ในการทยอยขายเงินดอลลาร์ หรือปรับสถานะถือครอง ทำให้ในช่วงนี้ หากไม่มีรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญที่มักจะส่งผลให้ตลาดการเงินผันผวนสูง เมื่ออ้างอิงจากสถิติในอดีต เรามองว่า การอ่อนค่าของเงินบาทก็อาจติดอยู่แถวโซนแนวต้าน 32.65-32.75 บาทต่อดอลลาร์ ในระยะสั้น ทั้งนี้ แม้เราจะเริ่มเห็น บรรดานักวิเคราะห์ต่างประเทศปรับมุมมองเชิงลบต่อเงินบาทชัดเจน เช่น มีการ Call Short THB (Long USDTHB) โดยบางส่วนอาจมองว่า เงินบาทเสี่ยงอ่อนค่าทะลุระดับ 34.00 บาทต่อดอลลาร์ ได้ แต่เราจะมั่นใจมากขึ้น ว่าเงินบาทได้กลับเข้าสู่แนวโน้มทยอยอ่อนค่าลงอีกครั้ง หากเงินบาทสามารถอ่อนค่าทะลุโซน 32.70-32.80 บาทต่อดอลลาร์ ได้อย่างชัดเจน ตามการประเมินด้วยกลยุทธ์ Trend Following   

       

เรายังคงมีความกังวลเดิม คือ ความผันผวนของเงินบาทที่อาจกลับมาสูงขึ้นได้ ท่ามกลางความไม่แน่นอนของการดำเนินนโยบายการค้าของสหรัฐฯ และสถานการณ์การเมืองไทย ซึ่งเรามองว่า ผู้เล่นในตลาดควรใช้กลยุทธ์ Options เพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน

        

มองกรอบเงินบาทในช่วง 24 ชั่วโมง คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 32.55-32.75 บาท/ดอลลาร์