วันศุกร์ ที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2568 04:38 น.

การเงิน หุ้น

ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 32.46 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่าลงเล็กน้อย”

วันอังคาร ที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2568, 09.49 น.

ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 32.46 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่าลงเล็กน้อย”

 

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 32.46 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่าลงเล็กน้อย” จากระดับปิดวันที่ผ่านมา ณ ระดับ 32.38 บาทต่อดอลลาร์

 

โดยนับตั้งแต่ช่วงคืนที่ผ่านมา เงินบาท (USDTHB) ทยอยอ่อนค่าลงบ้าง แต่ยังคงติดโซนแนวต้าน 32.50 บาทต่อดอลลาร์ (แกว่งตัวในกรอบ 32.37-32.51 บาทต่อดอลลาร์) ตามการทยอยแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องของเงินดอลลาร์ ที่ได้แรงหนุนจากความกังวลต่อแนวโน้มการดำเนินนโยบายการค้าของสหรัฐฯ ซึ่งล่าสุด ทางการสหรัฐฯ ได้ประกาศเรียกเก็บภาษีนำเข้ากับสินค้าจากยุโรปในอัตราที่สูงถึง 30% ซึ่งสูงกว่าที่ตลาดคาดหวังไว้พอสมควร อย่างไรก็ดี ผู้เล่นในตลาดยังพอมีความหวังอยู่บ้าง ว่าสหรัฐฯ กับ สหภาพยุโรปอาจสามารถเดินหน้าเจรจาการค้า เพื่อลดอัตราภาษีนำเข้าดังกล่าว นอกจากนี้ เงินบาทยังเผชิญแรงกดดันจากการปรับตัวลดลงของราคาทองคำ (XAUUSD) หลังราคาทองคำยังไม่สามารถปรับตัวขึ้นผ่านโซนแนวต้าน 3,370 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ได้อย่างชัดเจน ทว่า ผู้เล่นในตลาดต่างก็รอทยอยเข้าซื้อทองคำในจังหวะย่อตัว ท่ามกลางความไม่แน่นอนของการดำเนินนโยบายการค้าของสหรัฐฯ

 

บรรดาผู้เล่นในฝั่งตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังคงไม่กล้าเดินหน้าเปิดรับความเสี่ยง ท่ามกลางความไม่แน่นอนของการดำเนินนโยบายการค้าของสหรัฐฯ อีกทั้งผู้เล่นในตลาดต่างก็รอลุ้น รายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียน และรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญ อย่าง อัตราเงินเฟ้อ CPI และยอดค้าปลีก ทำให้โดยรวมดัชนี S&P500 ปิดตลาด +0.14% 

 

ทางฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 ปรับตัวลดลง -0.06% หลังทางการสหรัฐฯ ได้ประกาศอัตราภาษีนำเข้าต่อสินค้ายุโรปที่สูงถึง 30% กดดันให้ บรรดาหุ้นกลุ่มยานยนต์ และกลุ่มสินค้าแบรนด์เนม ต่างปรับตัวลดลง อย่างไรก็ดี ผู้เล่นในตลาดบางส่วนยังพอมีความหวังอยู่บ้าง ว่าสุดท้าย สหภาพยุโรป (EU) จะสามารถบรรลุข้อตกลงการค้ากับสหรัฐฯ เพื่อลดระดับอัตราภาษีนำเข้าดังกล่าว

 

ส่วนในฝั่งตลาดบอนด์ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ยังคงแกว่งตัวในกรอบ Sideways ใกล้ระดับ 4.40% หลังผู้เล่นในตลาดต่างก็รอลุ้นรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญสหรัฐฯ และรอติดตามแนวโน้มการดำเนินนโยบายการค้าของสหรัฐฯ โดยเราคงมุมมองเดิมว่า การปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ในช่วงที่ผ่านมา ได้ทำให้บอนด์ระยะยาวสหรัฐฯ มีความน่าสนใจมากขึ้น และเราคงคำแนะนำเดิมว่า ผู้เล่นในตลาดควรรอจังหวะบอนด์ยีลด์ระยะยาวสหรัฐฯ ปรับตัวสูงขึ้น ในการทยอยเข้าซื้อ หลัง Risk-Reward มีความน่าสนใจมากขึ้น

 

ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์ทยอยแข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง ท่ามกลางความไม่แน่นอนของการดำเนินนโยบายการค้าของสหรัฐฯ ที่ล่าสุดบรรดาประเทศคู่ค้าสำคัญต่างเผชิญอัตราภาษีนำเข้าใหม่ที่สูงกว่าคาด อย่างไรก็ดี ผู้เล่นในตลาดบางส่วนยังใช้จังหวะการปรับตัวขึ้นของเงินดอลลาร์ ในการทยอยปรับสถานะถือครอง ทำให้การปรับตัวขึ้นของเงินดอลลาร์ถูกชะลอลงบ้าง และโดยรวมดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 98 จุด (แกว่งตัวในกรอบ 97.8-98.1 จุด) ในส่วนของราคาทองคำ จังหวะปรับตัวขึ้นของทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ กอปรกับแรงขายทำกำไรทองคำของผู้เล่นในตลาด ได้กดดันให้ ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ส.ค. 2025) ปรับตัวลดลง ทว่า ราคาทองคำยังพอได้แรงหนุนบ้าง จากความไม่แน่นอนของการดำเนินนโยบายการค้าของสหรัฐฯ ทำให้ราคาทองคำสามารถทรงตัวแถวโซน 3,350-3,360 ดอลลาร์ต่อออนซ์

 

สำหรับในช่วง 24 ชั่วโมงหลังจากนี้ ไฮไลท์สำคัญจะอยู่ที่ รายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI ของสหรัฐฯ ในเดือนมิถุนายน ซึ่งผู้เล่นในตลาดต่างรอลุ้นว่าจะสะท้อนผลกระทบจากนโยบายการค้าของสหรัฐฯ มากน้อยเพียงใด นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด เพื่อประกอบการประเมินแนวโน้มการดำเนินนโยบายการค้าของเฟด หลังทางการสหรัฐฯ ได้ทยอยประกาศอัตราภาษีนำเข้าใหม่ต่อบรรดาประเทศคู่ค้า

 

ทางฝั่งยุโรป ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้น รายงานดัชนีความเชื่อมั่นเศรษฐกิจของเยอรมนีและยูโรโซน โดยสถาบัน ZEW (ZEW Survey) เดือนกรกฎาคม และรายงานยอดผลผลิตอุตสาหกรรม (Industrial Production) ของยูโรโซน ในเดือนพฤษภาคม

 

ส่วนในฝั่งเอเชีย ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้น รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญรายเดือนของจีน อาทิ ยอดค้าปลีก (Retail Sales) ยอดผลผลิตอุตสาหกรรม (Industrial Production) ในเดือนมิถุนายน รวมถึง อัตราการเติบโตเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 2

               

และในฝั่งไทย ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้น ผลการคัดเลือกผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คนใหม่ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อมุมมองของผู้เล่นในตลาดต่อแนวโน้มการดำเนินนโยบายการเงินของธปท. โดยล่าสุด ผู้เล่นในตลาดได้ประเมินว่า ธปท. อาจเดินหน้าลดดอกเบี้ยอีกเกือบ 2 ครั้ง ในปีนี้ และมีโอกาสราว 41% ที่จะลดดอกเบี้ยอีก 1 ครั้ง ในปีหน้า

 

สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท แม้เราจะยังคงมุมมองเดิมว่า เงินบาทยังมีความเสี่ยงเผชิญแรงกดดันฝั่งอ่อนค่าได้ในช่วงนี้ ท่ามกลางความไม่แน่นอนของการดำเนินนโยบายการค้าของสหรัฐฯ ซึ่งเป็นปัจจัยที่ช่วยหนุนเงินดอลลาร์ ขณะเดียวกันก็อาจกดดันบรรดาสกุลเงินฝั่งเอเชีย ที่ต่างเผชิญอัตราภาษีนำเข้าใหม่ในอัตราที่สูงขึ้นและสูงกว่าคาด ทว่า การอ่อนค่าของเงินบาทก็ดูเป็นไปอย่างจำกัด เนื่องจาก ราคาทองคำยังมีโอกาสทยอยปรับตัวสูงขึ้นจากโซนแนวรับระยะสั้น และมีโอกาสที่ราคาทองคำจะกลับเข้าสู่แนวโน้มขาขึ้นอีกครั้ง หากราคาทองคำ (XAUUSD) สามารถปรับตัวขึ้นเหนือโซน 3,370 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ได้สำเร็จ ตามการประเมินด้วยกลยุทธ์ Trend-Following

 

นอกจากนี้ ในช่วงระหว่างวัน เรามองว่า ควรจับตาทิศทางฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติ ที่อาจได้ผลกระทบจากรายงานผลการคัดเลือกผู้ว่าฯ ธปท. คนใหม่ โดยเรามองว่า หากรายงานข่าวล่าสุด ที่ระบุว่า คุณวิทัย รัตนากร ได้เป็นผู้ว่าฯ คนถัดไป จริง ก็อาจหนุนให้ บรรดาผู้เล่นในตลาดมีมุมมองว่า ธปท. อาจเดินหน้าลดดอกเบี้ยต่อได้ไม่ยาก ซึ่งอาจส่งผลดีต่อตลาดหุ้นไทย ที่เริ่มมีโมเมนตัมขาขึ้นที่ดีในช่วงนี้ ทำให้เราอาจเห็นแรงซื้อหุ้นไทยจากบรรดานักลงทุนต่างชาติได้ แต่ในฝั่งตลาดบอนด์นั้น เรามองว่า แม้ผู้เล่นในตลาดอาจมีมุมมองว่า ธปท. จะเดินหน้าลดดอกเบี้ยเพิ่มเติมได้ หนุนให้บอนด์ยีลด์ไทยปรับตัวลดลงต่อบ้าง บรรดานักลงทุนต่างชาติก็อาจใช้จังหวะการปรับตัวลดลงของบอนด์ยีลด์ดังกล่าวในการทยอยขายทำกำไร ทำให้อาจเห็นแรงขายบอนด์ไทยจากบรรดานักลงทุนต่างชาติได้ (ในระยะหลัง เราเห็นบรรดานักวิเคราะห์ต่างประเทศ เริ่มให้คำแนะนำ Take Profits สถานะถือครองบอนด์ไทย โดยเฉพาะบอนด์ระยะยาว)

 

อนึ่ง เรามองว่า ควรระวังความผันผวนในช่วงตลาดทยอยรับรู้รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญของจีน และสหรัฐฯ เนื่องจากในช่วงหลัง เงินบาทก็เคลื่อนไหวสอดคล้องกับเงินหยวนจีนพอสมควร ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญของสหรัฐฯ อย่าง อัตราเงินเฟ้อ CPI นั้น ก็สามารถทำให้เงินบาทผันผวนได้สูงพอสมควร ในช่วง 30 นาที หลังตลาดรับรู้ข้อมูลดังกล่าว

 

เรายังคงมีความกังวลเดิม คือ ความผันผวนของเงินบาทที่อาจกลับมาสูงขึ้นได้ ท่ามกลางความไม่แน่นอนของการดำเนินนโยบายการค้าของสหรัฐฯ และสถานการณ์การเมืองไทย ซึ่งเรามองว่า ผู้เล่นในตลาดควรใช้กลยุทธ์ Options เพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน

 

มองกรอบเงินบาทในช่วง 24 ชั่วโมง คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 32.30-32.60 บาท/ดอลลาร์