วันพุธ ที่ 24 เมษายน พ.ศ. 2567 18:11 น.

ข่าวสังคม

“ตั๋วเมือง” สืบสานภูมิปัญญาท้องถิ่นอักษรโบราณ “ล้านนาไทย”

วันเสาร์ ที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2563, 20.52 น.

เยาวชนเมืองลี้ ร่วมเรียนรู้และอนุรักษ์ “ตั๋วเมือง” สืบสานภูมิปัญญาท้องถิ่นอักษรโบราณ “ล้านนาไทย”

“ตั๋วเมือง” ในสำเนียงภาษาเหนือ หรือ “ตัวเมือง” ในสำเนียงภาคกลางนั้น หมายถึงตัวอักษรหรืออักขระล้านนาโบราณที่มีการใช้กันอย่างแพร่หลายในอดีต ถือได้ว่าเป็นของสูงที่นิยมใช้จดจารึกบันทึกเรื่องราวต่างๆ อันทรงคุณค่าไว้บน ใบลาน หินศิลา หรือกระดาษสา

แต่เมื่อดินแดนล้านนาได้ผนวกรวมกับราชอาณาจักรสยาม ได้มีความพยายามที่จะทำให้ประเทศไทยในขณะนั้นมีความเป็นหนึ่งเดียวในด้านภาษา “ตั๋วเมือง” จึงเริ่มถูกแทนที่ด้วย “อักษรไทย” นับเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน ทำให้ความนิยมในการถ่ายทอดและเรียนรู้ภูมิปัญญาตั๋วเมืองแทบสูญหายไป ส่งผลให้ลูกหลานคนล้านนารุ่นใหม่ไม่รู้จักตั๋วเมือง อ่านไม่ออกและเขียนไม่ได้ ทั้งๆ ที่เป็นภาษาที่ปราชญ์ล้านนาคิดค้น และประดิษฐ์ตัวอักษรขึ้นมาด้วยภูมิปัญญาแต่โบราณ เพื่อบันทึกเรื่องราวและสิ่งต่างๆ ที่ทรงคุณค่า ทั้งเรื่องของ ศาสนา ยาสมุนไพร นิทานพื้นบ้าน ความเชื่อหรือคติประเพณีต่างๆ ที่ถูกบันทึกไว้ด้วยตั๋วเมือง

ด้วยเหตุนี้ แกนนำเด็กและเยาวชนกลุ่มหนึ่งจากอำเภอลี้ จังหวัดลำพูน ที่รวมตัวกันในนาม “ชมรมกล้าดีศรีลำพูน” จึงมีแนวคิดที่อยากจะอนุรักษ์ภาษาล้านนาอันทรงคุณค่านี้เอาไว้ จึงได้ร่วมกับ “โครงการหนุนเสริมศักยภาพและพัฒนากระบวนการเรียนรู้เชิงสร้างสรรค์แก่เด็กและเยาวชนจังหวัดลำพูน” จัดทำ “โครงการสืบสาน เรียนรู้ “ตั๋วเมือง” อักษรล้านนาภูมิปัญญาท้องถิ่น โดยเด็กและเยาวชน ตำบลป่าไผ่ อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน” ขึ้นเพื่อร่วมสืบสานองค์ความรู้และภูมิปัญญาด้านวัฒนธรรมภาษา โดยได้รับการสนับสนุนจาก สำนักสร้างสรรค์โอกาส สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

พระอาจารย์สมชาย วชิรญาโร จากวัดพระพุทธบาทผาหนาม ครูผู้สอน “ตั๋วเมือง” ได้กรุณาเล่าให้ฟังว่า ตั๋วเมืองหรืออักษรล้านนาโบราณนั้น ปัจจุบันเด็กรุ่นใหม่ไม่ค่อยรู้จักกันแล้ว จะมีก็แต่คนที่มีอายุมากกว่า 50 ปีเท่านั้นที่พอจะรู้จัก บางคนรู้จักแต่ก็อ่านไม่ออก จะมีก็แต่ในสายของผู้ที่บวชเรียนเป็นพระภิกษุหรือสามเณรเท่านั้นที่ยังคงมีการสอนภาษาพื้นเมืองนี้อยู่ในปัจจุบัน

“อักษรล้านนาโบราณเหล่านี้ในสมัยก่อนจะใช้ในการสื่อสารและบันทึกข้อมูลต่างๆ ทั้งเรื่องประวัติศาสตร์ วรรณคดีพื้นบ้าน องค์ความรู้ด้านการแพทย์ ภูมิปัญญาด้านสมุนไพร รวมไปถึงพระคัมภีร์ บทสวด คาถา หรือพระไตรปิฎก ดังนั้นถ้าเรามีความรู้อย่างน้อยสามารถอ่านออก ก็จะมีประโยชน์ในการนำเอาองค์ความรู้ต่างๆ ที่ถูกบันทึกไว้เหล่านั้นมาใช้ได้”

น.ส.อภัสรา วงศ์สุภา หรือ “ฝ้าย” นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 โรงเรียนเวียงเจดีย์วิทยา หัวหน้าโครงการสืบสานฯ เล่าว่าความสนใจใน “ตั๋วเมือง” นั้นเกิดจากการมีพี่นักศึกษามาฝึกสอนที่โรงเรียนและนำตัวอักษรล้านนามาใช้เขียนเป็นชื่อของชมรม ทำให้สนใจว่าตัวอักษรรูปทรงแปลกๆเหล่านั้นคืออะไร และพอได้ทราบว่าเป็นอักษรพื้นเมืองท้องถิ่นบ้านเราก็เลยอยากที่จะศึกษาและเรียนรู้ โดยเริ่มจากไปศึกษาจากพระอาจารย์สมชาย วัดพระพุทธบาทผาหนาม ที่อยู่ใกล้ๆ กับโรงเรียน

“ตั๋วเมืองนั้นมีความโดดเด่นในด้านการเขียนและการออกเสียง โดยมีสำเนียงการออกเสียงแบบท้องถิ่นของภาคเหนือ โดยการเรียนนั้นจะเริ่มจากหลักพยัญชนะก่อน ซึ่งจะมีพยัญชนะ 33 ตัวใกล้เคียงกับภาษาไทย ส่วนสระก็จะคล้ายๆ กับภาษาไทย แตกต่างกันที่การออกเสียงและวิธีเขียน ซึ่งการที่เราสามารถที่จะอ่านภาษาโบราณได้จะทำให้เราสามารถค้นคว้าหาความรู้ต่างๆ ที่คนโบราณได้บันทึกไว้ไม่ว่าจะเป็นในใบลาน ผนังถ้ำ หรือในคัมภีร์โบราณต่างๆ แล้วก็เอาความรู้เหล่านั้นมาใช้ประโยชน์ได้”

ซึ่งหลังจากที่สมาชิกใน “ชมรมกล้าดีศรีลำพูน” ได้ไปเรียนรู้เรื่องของอักษรตั๋วเมืองล้านนาแล้ว พวกเขาก็อยากจะส่งต่อความรู้ดีๆ เหล่านั้นให้กับเด็กๆ อีกหลายคนในพื้นที่ให้ได้รู้จัก “ตั๋วเมือง” อันเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นให้มากขึ้น โดยจัดกิจกรรมลงไปให้ความรู้เรื่องตั๋วเมืองให้กับโรงเรียนต่างๆ ในพื้นที่อย่างน้อย 3-4 โรงเรียน อย่างในวันนี้พวกเขาไปที่ “โรงเรียนบ้านดงสักงาม” โดยนิมนต์ พระอาจารย์สมชายฯ เป็นวิทยากรถ่ายทอดความรู้ให้กับเด็กนักเรียนชั้นประถมศึกษาของโรงเรียนแห่งนี้

“การสอนเบื้องต้นเราก็จะสอนให้รู้จักพยัญชนะและสระ สอนวิธีการอ่านออกเสียงต่างๆ  ซึ่งตั๋วเมืองนั้นจะออกเสียงในโทนที่ต่ำกว่าภาษาไทย อย่างเช่นคำว่า ก.กา ถ้าเป็นภาษาพื้นเมืองก็จะออกเสียงกว่า ก.ก๋า และสิ่งที่แตกต่างกันมากที่สุดก็คือลักษณะการเขียน ก็จะมีแบบฝึกเขียนให้เด็กๆ ได้ลองเขียน ลองอ่าน แต่ก็ไม่ได้คาดหวังว่าพวกเขาจะอ่านออกเขียนได้ แค่ให้เขารู้จักว่านี่คือภูมิปัญญาด้านภาษาของคนพื้นบ้านล้านนาก็เป็นจุดเริ่มต้นของการอนุรักษ์ที่ดีแล้ว” พระอาจารย์สมชาย วชิรญาโร ระบุ

น.ส.กรุณา ไชยสอน หรือ “จิ๊บ” นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 โรงเรียนเวียงเจดีย์วิทยา หนึ่งในคณะทำงานเล่าว่า โครงการนี้มีความน่าสนใจตรงที่ “ตั๋วเมือง” นั้นเป็นอักษรพื้นถิ่นของภาคเหนือ แต่เรากลับไม่รู้จักเลย แต่พอได้มารู้จักได้มาเรียนรู้ก็พบว่ามันมีเสน่ห์ทั้งเรื่องของการเขียนและการออกเสียง โดยตัวอักษรตั๋วเมืองนั้นจะเขียนมีรูปทรงการเขียนเหมือนฝักมะขามที่งอโค้ง

“ปัจจุบันไม่มีคนรู้จัก การที่เรามาสอนเรื่องตั๋วเมืองในโรงเรียนแม้จะเป็นระยะเวลาสั้นๆ อย่างน้อยก็จะทำให้น้องๆ หรือเด็กรุ่นใหม่รู้จักว่า นี่คือภูมิปัญญาด้านภาษาของท้องถิ่นของภาคเหนือ นี่คือตัวอักษรพื้นเมืองโบราณ ซึ่งในอนาคตถ้าน้องๆ สนใจก็จะสามารถสืบสานต่อยอดจากสิ่งที่เรียนรู้ได้”

เพราะการอนุรักษ์สืบสานความรู้เกี่ยวกับ “ตั๋วเมือง” อักษรล้านนาโบราณนั้น ไม่เพียงแค่เป็นการสืบทอดวัฒนธรรมด้านภาษา และสร้างความรักและความภาคภูมิใจในแผ่นดินถิ่นเกิดให้กับเด็กและเยาวชนในพื้นที่เท่านั้น แต่ยังหมายถึงการสืบสานภูมิปัญญาของบรรพชนทั้งหมดที่ถูกบันทึกไว้ด้วยอักษรล้านนา เพื่อให้เกิดการต่อยอดพัฒนาองค์ความรู้ในอดีต ไปสู่การประยุกต์ใช้อย่างเหมาะสมในโลกปัจจุบันนั่นเอง.