วันศุกร์ ที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2567 00:41 น.

ข่าวสังคม

ยูนิเวอร์แซลฯร่วมป้องกันเชื้อโควิด-19 มอบแมสก์-เจลฯให้ “อ.แม่ลาน้อย”

วันเสาร์ ที่ 01 พฤษภาคม พ.ศ. 2564, 13.56 น.

“ยูนิเวอร์แซลมายนิ่งฯ” มอบแมสก์-เจลฯให้ทาง “อ.แม่ลาน้อย” หนุนป้องกันโควิด-19 รักษายอดติดเชื้อ 0 ราย เผยปรับรูปแบบชี้แจง-รับฟังโครงการเหมืองแร่ตามมาตรการรัฐ มั่นใจช่วยพัฒนาพื้นที่-เศรษฐกิจ ระบุเตรียมจ้างงานคนในพื้นสร้างรายได้ฟื้นฟูเศรษฐกิจฐานรากให้เข้มแข็ง

เมื่อวันที่ 1 พ.ค.2546 ตัวแทน บริษัท ยูนิเวอร์แซล มายนิ่ง จำกัด นำโดย นางอลินรัศมิ์  นิธิสุนทร ที่ปรึกษาบริษัทฯ และผู้จัดการเหมือง ได้นำหน้ากากอนามัย 10,000 ชิ้น และเจลแอลกอฮอล์แบบหัวปั๊ม 100 ขวด มอบให้แก่ นายกองตรี ดร.ชูชาติ คำมา นายอำเภอแม่ลาน้อย เพื่อใช้ในการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และเพื่อสนับสนุนให้ประชาชนในพื้นที่ร่วมปฏิบัติตามมาตรการทางสาธารณสุขของรัฐบาล โดยมีผู้นำชุมชน ผู้นำท้องถิ่น กำนันผู้ใหญ่บ้าน บาทหลวง ผู้อำนวยการโรงเรียน และตัวแทนชาวบ้านในพื้นที่ ร่วมรับมอบด้วย ณ ที่ว่าการอําเภอแม่ลาน้อย จ.แม่ฮ่องสอน

นางอลินรัศมิ์ เปิดเผยว่า ที่ผ่านมามาตรการป้องกันโควิด-19 ของ จ.แม่ฮ่องสอน ถือว่ามีประสิทธิภาพ และประชาชนชาวแม่ฮ่องสอนให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี จนไม่พบผู้ติดเชื้อรายใหม่มานานกว่า 1 ปี แต่ในการระบาดระลอกที่ 3 ทั่วประเทศโดยเฉพาะช่วงหลังเทศกาลสงกรานต์นั้น ในพื้นที่ จ.แม่ฮ่องสอน ก็เริ่มพบผู้ติดเชื้อ มีเพียง อ.แม่ลาน้อย เท่านั้นที่ยังไม่พบรายงานผู้ป่วย ทางบริษัทฯจึงได้นำอุปกรณ์ที่จำเป็น ทั้งหน้ากากอนามัย และเจลแอลกอฮอล์ มาสนับสนุนทาง อ.แม่ลาน้อย เพื่อให้รักษามาตรฐานที่ดีในการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ไว้ต่อไป

นางอลินรัศมิ์ กล่าวต่อว่า ในส่วนของความคืบหน้าโครงการสัมปทานเหมืองแร่ในพื้นที่ อ.แม่ลาน้อย ของบริษัทฯนั้น ยังอยู่ในขั้นตอนของการชี้แจงทำความเข้าใจและรับฟังปัญหาข้อห่วงใยของชาวบ้านและผู้นำชุมชน อย่างไรก็ตามเพื่อให้ความร่วมมือกับมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ของทางภาครัฐ ในการลดการสัมผัส ลดการเดินทาง และหลีกเลี่ยงกิจกรรมการรวมตัวของคนจำนวนมาก ระหว่างนี้ทางบริษัทฯจึงใช้ช่องทางติดต่อสื่อสารผ่านโทรศัพท์ และโซเชียลมีเดีย ในการชี้แจงและรับฟังข้อเสนอแนะต่างๆ โดยสามารถประสานผ่านทางอำเภอหรือผู้นำชุมชนได้ตลอดเวลา ทั้งนี้หากสถานการณ์คลี่คลาย บริษัทฯก็จะส่งคณะทำงานมาลงพื้นที่ เพื่อให้เกิดความเข้าใจอย่างทั่วถึงและคลอบคลุมต่อไป

นางอลินรัศมิ์ กล่าวด้วยว่า หากโครงการเหมืองแร่เริ่มดำเนินการ จะเป็นโอกาสในการพัฒนาพื้นที่ และพัฒนาเศรษฐกิจท้องถิ่นให้เกิดความยั่งยืน ผ่านการสร้างงาน สร้างอาชีพ ยกระดับรายได้ และคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ให้กับประชาชนในพื้นที่ อ.แม่ลาน้อย และพื้นที่ใกล้เคียง โดยคำนึงถึงสุขภาพ สิ่งแวดล้อม ตลอดจนวิถีชีวิตของคนในพื้นที่ เช่นเดียวกับที่บริษัทฯได้ดำเนินโครงการที่ อ.แม่ทา จ.ลำพูน มากว่า 9 ปี มีสำนักงานบริษัทตั้งอยู่ในชุมชน ได้สนับสนุนการพัฒนาชุมชนรอบเหมืองและเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ เช่น วันเด็ก เทศกาลสงกรานต์ วันสำคัญทางศาสนา และสนับสนุนโครงการต่างๆของชุมชนมาโดยตลอด เบื้องต้นในส่วนของ อ.แม่ลาน้อย จะมีอัตราจ้างงานคนในพื้นที่ไม่น้อยกว่า 40 อัตรา โดยมีอัตราเงินเดือนและค่าตอบแทนตามความชำนาญที่เหมาะสม