วันพฤหัสบดี ที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2567 21:25 น.

ข่าวสังคม

บพท.ชูโมเดลจีนตั้งเป้าปี 65 ลุยช่วยแก้จน 20 จังหวัด

วันพุธ ที่ 01 ธันวาคม พ.ศ. 2564, 19.54 น.

บพท.ใช้โมเดลประเทศจีน สแกนหาคนจน เจาะแก้ปัญหาตรงจุดแม่นยำตั้งเป้าปี 65 ลุยช่วยแก้จน 20 จังหวัด

ดร.กิตติ สัจจาวัฒนา ผู้อำนวยการหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.)  เปิดเผยถึงผลการดำเนินงานในรอบปี 2564 ต่อที่ประชุมคณะกรรมการอำนวยการ สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน ที่ผ่านมาโดยมี ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เป็นประธาน โดยระบุว่า บพท. ได้รับจัดสรรงบประมาณสำหรับปี 2564 จำนวนรวมทั้งสิ้น 873.35 ล้านบาท โดยใช้งบประมาณ 192.10 ล้านบาท เพื่อดำเนินงานบนแพลตฟอร์มการวิจัยและนวัตกรรมเพื่อแก้ไขปัญหาความยากจนอย่างเบ็ดเสร็จและแม่นยำ โดยใช้โมเดลแก้ไขปัญหาความยากจนของประเทศจีน ด้วยคำถามหลัก 3 ข้อ คือ คนจนอยู่ที่ไหน จนด้วยสาเหตุใด และจะแก้จนได้อย่างไร

จากนั้นได้มีการพัฒนาแพลตฟอร์มแก้ไขปัญหาความยากจนอย่างเบ็ดเสร็จและแม่นยำระดับจังหวัด จัดทำระบบค้นหาและสอบทานข้อมูลครัวเรือนยากจนระดับพื้นที่ พบว่ามีคนยากจนทั้งสิ้น 140,045 ครัวเรือน หรือ 637,599 คน จัดทำระบบข้อมูลครัวเรือนยากจนระดับพื้นที่ วิเคราะห์ปัญหาและฐานทุนครัวเรือนยากจน จัดทำระบบส่งต่อความช่วยเหลือและการสร้างกลไกและเป้าหมายร่วมเพื่อแก้ปัญหาคนยากจนระดับส่วนกลางและพื้นที่ และได้สร้าง “โมเดลแก้จนระดับพื้นที่ด้วยวิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม”

นอกจากนี้ยังได้พัฒนาระบบปฏิบัติการเกื้อกูล (มหาชน) (Local Enterprise’s Operating System: LEOS) ซึ่งเป็นระบบรวบรวมฐานข้อมูลของผู้ประกอบการ และฉลากดิจิทัล นำเสนอข้อมูลในห่วงโซ่คุณค่าแบบองค์รวม จัดทำโมเดลธุรกิจชุมชนต้านโควิด-19  โมเดลต้นแบบอาชีพสร้างรายได้ ตลอดจนยกระดับขีดความสามารถและศักยภาพของผู้ประกอบการในการดำรงและประคองธุรกิจได้อย่างยั่งยืน รวมถึงการออกแบบและวางกลยุทธ์การบริหารเงินทุนหมุนเวียนเพื่อสร้างสภาพคล่องธุรกิจในช่วงวิกฤติโควิด-19 อีกด้วย

ดร.กิตติ กล่าวด้วยว่า บพท. ยังได้พัฒนาแพลตฟอร์มพื้นที่เชิงวัฒนธรรม โดยมีเป้าหมายสร้างคุณค่าและมูลค่าเพิ่มแก่ทุนทางศิลปะและวัฒนธรรมท้องถิ่นให้เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากของชุมชนอย่างยั่งยืนจนเกิดผู้ประกอบการหรือวิสาหกิจเชิงวัฒนธรรม ผลิตภัณฑ์และการบริการเชิงวัฒนธรรม พื้นที่เชิงวัฒนธรรม เช่น ตลาดเส้นทางการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม เป็นต้น ขณะเดียวกันก็ได้พัฒนาแพลตฟอร์มชุมชนนวัตกรรม เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน ก่อให้เกิดการสร้างนวัตกรรมชุมชนในการสร้างเศรษฐกิจฐานราก ตลอดจนสร้างชุมชนที่มีขีดความสามารถในการจัดการตนเองอย่างยั่งยืน เกิดระบบฐานข้อมูล Technology and Innovation Library  และ Village profile ของประเทศ และยังช่วยยกระดับอัตราการเติบโตของมูลค่าเศรษฐกิจฐานรากและมูลค่าสินค้าผลิตภัณฑ์ชุมชนเพิ่มขึ้นร้อยละ 10 เกิดกระบวนการพัฒนาอาชีพทางเลือกให้กับชุมชน กระบวนการพัฒนาชุมชนที่อยู่กับป่า เกิดการสร้างนวัตกรชาวบ้าน สามารถรับและปรับใช้นวัตกรรมที่เหมาะสมกับบริบทและถ่ายทอดความรู้ไปสู่ผู้อื่นได้ รวมทั้งจัดการความรู้ไปแก้ไขปัญหาสำคัญในชุมชนได้อย่างยั่งยืน

นอกจากนี้ บพท. ยังได้พัฒนาแพลตฟอร์มเมืองน่าอยู่และการกระจายศูนย์กลางความเจริญแผนงาน “การพัฒนาเมืองและกลไกการเติบโตใหม่” เพื่อสร้างกลไกการพัฒนาเมืองและการเรียนรู้ของเมือง เกิดระบบข้อมูลเปิดระดับเมืองที่ทุกภาคส่วนสามารถเข้าถึงได้ สร้างระบบการเงินที่ทำให้เกิดการลงทุนรูปแบบใหม่ รวมถึงสร้างชุดความรู้ด้านการพัฒนาเมืองเพื่อขยายผลและนำเสนอนโยบายเชิงพื้นที่ต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อลดความเหลื่อมล้ำและกระจายศูนย์กลางความเจริญ ทำให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นและนำไปสู่การเติบโตของเมืองอย่างยั่งยืน

ดร.กิตติ กล่าวว่า สำหรับแผนงานปี  2565 นั้น บพท. จะเดินหน้าใช้ยุทธศาสตร์การแก้ไขความยากจนระดับพื้นที่ใน 20 จังหวัดเป้าหมาย ยุทธศาสตร์ยกระดับเศรษฐกิจฐานราก ผ่านผู้ประกอบการในพื้นที่และการสร้างเศรษฐกิจในพื้นที่ด้วยทุนทางวัฒนธรรม ยุทธศาสตร์การเสริมพลังเพื่อยกระดับศักยภาพขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและหน่วยงานรัฐในพื้นที่ และยุทธศาสตร์เมืองน่าอยู่ ภายใต้แผนงาน “ชุมชนนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน” โดยมีเป้าหมายเพื่อให้เกิดการพัฒนาพื้นที่ด้วยองค์ความรู้จากงานวิจัย เกิดการสร้างงานและยกระดับรายได้ของกลุ่มเป้าหมายในแต่ละพื้นที่ เกิดรูปธรรมของผลงานวิจัยที่เกิดการนำไปใช้ประโยชน์ในพื้นที่ มหาวิทยาลัยขนาดกลางและขนาดเล็กมีขีดความสามารถสูงขึ้นในด้านการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมเพื่อตอบโจทย์พื้นที่ เป็นต้น