วันศุกร์ ที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567 12:14 น.

ข่าวสังคม

Thai PBS บุกตลาด OTT สู่ฮับผู้ให้บริการเนื้อหาในประเทศไทย

วันจันทร์ ที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2566, 16.29 น.

“รศ.ดร.วิลาสินี” ขึ้นเวทีแชร์ประสบการณ์ผ่านออนไลน์ร่วมกับองค์กรสื่อสาธารณะนานาชาติ “อนาคตสื่อยุคเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัล”ไทยพีบีเอส พร้อมยกระดับ Digital First ขับเคลื่อนองค์กรสื่อแห่งอนาคต เชื่อมโยงการทำงานเป็นหนึ่งเดียวด้วย One Thai PBS บุกตลาด OTT สู่ฮับผู้ให้บริการเนื้อหาในประเทศไทย

สถานีโทรทัศน์พับบลิก เทเลวิชัน เซอร์วิส (PTS) สื่อสาธารณะแห่งไต้หวัน จัดงาน PTS 2023 International Symposium ในหัวข้อ Shaping Our Future : PSM Digital Transformation & Governanceที่ศูนย์ประชุมนานาชาติไทเป (TICC)โดยรศ. ดร.วิลาสินี พิพิธกุล ผู้อำนวยการองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ส.ส.ท.) หรือไทยพีบีเอส ได้รับเชิญ เป็นวิทยากรเข้าร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์การเปลี่ยนผ่านทางดิจิทัลของไทยพีบีเอสผ่านช่องทางออนไลน์โดยมีPhil Hardman , SVP & GM, Asia, BBC Studios Dr. Sunwook CHOI, Chief Strategy Officer, สถานีโทรทัศน์ KBS ของเกาหลี Kristian Porter, CEO, Public Media Alliance (PMA) และ UDONO Ryo, Senior Producer, Content Programming & Distribution Center, สถานีโทรทัศน์ NHK และ Kathrin Ruther,Projektleiterin, Schweizer Radio und Fernsehen (SRF)เข้าร่วม

รศ.ดร.วิลาสินี พิพิธกุล ผู้อำนวยการไทยพีบีเอส กล่าวว่า เนื่องจากภูมิทัศน์ของสื่อ และพฤติกรรมของผู้ชมที่เปลี่ยนแปลง ซึ่งเกิดจากความครอบคลุมของอินเทอร์เน็ตที่กว้างขึ้น การก้าวไปสู่สื่อดิจิทัลเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ จะเห็นได้จากการเติบโตของตลาด OTT (Over the Top) ในประเทศไทย ซึ่งข้อมูลจากคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติหรือ กสทช. ระบุว่าผู้ใช้บริการ OTT ในประเทศไทยเพิ่มขึ้นจากปี 2558 ที่ 577,000 รายสู่จุดสูงสุดไว้ที่ 21,782,000 ราย ในปี 2567 ครอบคลุม 32% ของประชากรไทยและ 72% ของครัวเรือนไทยคาดการณ์ว่า กลุ่มคนรุ่นใหม่หรือ Gen Z ประมาณ 80% ดูวิดีโอตามความต้องการหรือไม่ดูทีวีเลย

รศ.ดร.วิลาสินีกล่าวต่อว่า ปัจจุบัน Thai PBS เป็นสื่อสาธารณะหลายแพลตฟอร์ม โดยมีช่องหมายเลข 3 เป็นช่องหลัก, ALTV เป็นช่องเพื่อการศึกษา, Thai PBS Podcastเป็นบริการภาพและเสียง, Thai PBS World เป็นช่องที่มีเนื้อหาเป็นภาษาอังกฤษ และ VIPA ซึ่งเป็นแพลตฟอร์ม OTT นอกจากนี้ยังเพิ่มการเข้าถึงเนื้อหาข่าวสาร ความรู้ ผ่านช่องทางสื่อดิจิทัล ทั้งเฟซบุ๊ก ยูทูบ ทวิตเตอร์ Tiktokฯลฯ ไทยพีบีเอสมีเป้าหมายเปลี่ยนผ่านองค์กรสู่ Digital First เชื่อมโยงองค์กรให้ทุกส่วนงานเป็นหนึ่งเดียวกัน ด้วยการพัฒนาระบบการทำงาน ทั้งการออกแบบและพัฒนาเนื้อหาพร้อมให้การทำงานในองค์กรเชื่อมต่อกันเป็น One Thai PBS และไม่เป็นเพียงผู้ผลิตเนื้อหาเท่านั้น แต่จะเป็นผู้ที่ช่วยสร้างความแข็งแกร่งและยกระดับผู้ใช้สื่อ โดยเปลี่ยนจากการเป็นผู้ผลิตเนื้อหา 100% เป็นศูนย์กลางผู้ให้บริการเนื้อหาในประเทศไทยที่พร้อมให้การสนับสนุนและทำงานร่วมกับผู้สร้างเนื้อหา

รศ.ดร.วิลาสินี กล่าวว่า เป้าหมายภายใน 3 ปี จากนี้ไทยพีบีเอสต้องทำงานหนักขึ้นเพื่อเสริมความแข็งแกร่งทั้ง 3 ด้านนี้ 1. Value-Based Performance คำนึงถึงประโยชน์สาธารณะเป็นหลักด้วยการดำเนินการที่คุ้มค่าสูงสุด 2. เป็นสื่อที่ได้รับความไว้วางใจสูงสุด 3. รวมบริการทั้งหมดของไทยพีบีเอสเป็นหนึ่งเดียวเพื่อให้เข้าถึงได้ง่ายและเป็นมิตรต่อผู้ใช้ โดยมีแผนลงทุนและการจัดสรรงบประมาณที่จะเน้นบริการดิจิทัลผ่าน Linear TV เพิ่มการเข้าถึงแพลตฟอร์มดิจิทัลมากกว่า 50% ผ่านแพลตฟอร์มและบริการดิจิทัล และตั้งเป้าที่จะบรรลุรายได้มากกว่า 20% ที่มาจากการจัดการทรัพย์สินทางปัญญาและการลงทุน

“ในฐานะสื่อสาธารณะ เราต้องปรับตัวให้ทันกับพฤติกรรมผู้บริโภคออนไลน์ที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ดังนั้นจึงวางแผนที่จะรวมแพลตฟอร์มทั้งหมดเป็น ONE Thai PBS เพื่อแบ่งปันทรัพยากรและข้อมูลเชิงลึกของผู้ชม รองรับความต้องการของคนทุกรุ่นและทุกกลุ่ม”รศ. ดร.วิลาสินี กล่าว