วันเสาร์ ที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2567 20:33 น.

ข่าวสังคม

BEDO เปิดศูนย์เรียนรู้การพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพฯเมืองจันทบุรี

วันพุธ ที่ 24 เมษายน พ.ศ. 2567, 17.02 น.

BEDO ร่วมกับ สคทช. เปิดศูนย์เรียนรู้การพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพระดับชุมชน ณ วิสาหกิจชุมชนพัฒนาทรัพยากรชีวภาพตำบลวันยาว จ.จันทบุรี

นางสุวรรณา เตียรถ์สุวรรณ ผู้อํานวยการ BEDO เป็นประธานเปิดศูนย์เรียนรู้การพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพระดับชุมชน พร้อมด้วย ดร.ธนิต ชังถาวร รองผู้อํานวยการ BEDO นายศุภสิทธ์ จำปาวงษ์ ผู้อำนวยการสำนักเศรษฐกิจชีวภาพ ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ หรือ สคทช. โดย ดร.รวีวรรณ ภูริเดช ผู้อำนวยการ สคทช. พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ BEDO เจ้าหน้าที่ สคทช. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมพิธีทำบุญและเปิดศูนย์เรียนรู้การพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพระดับชุมชน เพื่อเป็นสถานที่ในการศึกษา ดูงาน สำหรับวิสาหกิจชุมชน หน่วยงานองค์กรต่างๆ ที่ให้ความสนใจ เกี่ยวกับมะปี๊ดหรือส้มจี๊ด ทรัพยากรชีวภาพที่มีในชุมชน ตั้งแต่การปลูก ดูแลรักษา แปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับชุมชน และการอนุรักษ์สายพันธุ์มะปี๊ดเพื่อให้เกิดการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน รวมถึงกิจกรรมอื่นๆ ที่ชุมชนดำเนินการอยู่ซึ่งมีสมาชิกเครือข่ายทั้งสิ้น 78 ราย และพื้นที่บางส่วนของสมาชิกเป็นพื้นที่ คทช. ที่ได้จัดสรรให้ประชาชนหรือเกษตรกรเข้าอยู่อาศัยและทำกิน

 ในการนี้ นางบุศรินทร์ จ่าพันดุง ประธานวิสาหกิจชุมชนพัฒนาทรัพยากรชีวภาพตำบลวันยาว และนายเกษม จ่าพันดุง กรรมการวิสาหกิจชุมชนฯ นำเยี่ยมชมสวนมะปี๊ด 4 สายพันธุ์ ซึ่งเป็นฐานทรัพยากรที่สำคัญที่นำมาใช้ประโยชน์ และพัฒนา แปรรูปผลิตภัณฑ์ เพื่อสร้างรายได้ให้ประชาชนในพื้นที่ และมีการประชาสัมพันธ์ให้ทราบถึงความสำคัญที่เกี่ยวข้องกับมะปี๊ดและวิถีวัฒนธรรมการกินมะปี๊ดของคนจันทบุรี และได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของพืชมะปี๊ด มีแนวคิดที่จะอนุรักษ์ ฟื้นฟู และส่งเสริมพืชมะปี๊ดให้เป็นพืชทางเลือกที่สร้างฐานเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพในชุมชน โดยวิสาหกิจชุมชนฯ มีการแปรรูปผลผลิตจากมะปี๊ด เช่น น้ำมะปี๊ด แยม แช่อิ่ม กวน ผลสด น้ำมะปี๊ดเกล็ดหิมะ และหมี่กรอบซอสมะปี๊ด โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างอาชีพและสร้างรายได้ให้กับสมาชิกในกลุ่ม ควบคู่ไปกับการดูแลอนุรักษ์ทรัพยากรทางชีวภาพ และทรัพยากรธรรมชาติ

ทั้งนี้ BEDO มีภารกิจในการสร้างความเข้มแข็งชุมชน และวิสาหกิจชุมชนพัฒนาทรัพยากรชีวภาพตำบลวันยาวซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่ คทช. มีรูปแบบการสนับสนุนชุมชนตามศักยภาพ และความพร้อม 4 รูปแบบ คือ

1. การสนับสนุนทางวิชาการและการตลาด สำหรับชุมชนที่มีความเข้มแข็ง และมีผลิตภัณฑ์ได้มาตรฐาน ได้รับเครื่องหมายรับรอง B MARK

2. การสนับสนุนให้ชุมชนเป็น “ศูนย์เรียนรู้การพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพระดับชุมชน” สำหรับชุมชนที่มีฐานการเรียนรู้ที่หลากหลา, มีการดำเนินงานที่เป็น Best Practice

3. การสนับสนุนงบประมาณในการดำเนินโครงการของชุมชน ที่เป็นชุมชนในกลุ่มที่ยังต้องมีการพัฒนาในหลายด้าน เพื่อสามารถดำเนินงานสร้างงาน สร้างรายได้อย่างยั่งยืน

4. การประสานกับเครือข่ายสถาบันการศึกษาดำเนินโครงการสำหรับชุมชนใหม่ เป็นชุมชนที่ต้องเตรียมความพร้อม บ่มเพาะองค์ความรู้ในด้านต่างๆ