วันอาทิตย์ ที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2567 02:32 น.

ข่าวสังคม

มส.ผส.ชูนโยบาย 4 มิติขับเคลื่อนสร้างสังคมสูงวัยที่มีสุขภาวะยั่งยืน

วันศุกร์ ที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567, 19.35 น.

มส.ผส.-สสส.เน้นย้ำความสำคัญการร่วมสร้างสังคมสูงวัยที่มีสุขภาวะยั่งยืน ชูนโยบาย 4 มิติ ด้านสุขภาพ, เศรษฐกิจ, สังคม และสิ่งแวดล้อม สู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ ผ่านการรวบรวมองค์ความรู้จากงานวิจัยแฃะการจัดการความรู้เพื่อผลักดันสู่การใช้งานจริงในระดับพื้นที่และระดับประเทศ

วันที่ 29 พฤศจิกายน 2567 ที่ศูนย์ราชการและคอนเวนชั่นเซ็นเตอร์ แจ้งวัฒนะ กรุงเทพมหานครมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย (มส.ผส.) ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดงานเปิดคลังความรู้ มส.ผส. และ สสส. ประจำปี 2566 หัวข้อ “สานพลังวิชาการสู่งานขับเคลื่อนนโยบาย ร่วมสร้างสังคมสูงวัยให้มีสุขภาวะอย่างยั่งยืน” มุ่งพัฒนานวัตกรรมและงานนโยบายสาธารณะเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุไทยอย่างรอบด้าน รวมถึงการสร้างเครือข่ายและเปิดพื้นที่แลกเปลี่ยน เรียนรู้ และสร้างความตระหนักรู้ให้กับสาธารณะ โดยมีนพ.สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ ประธานมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย เป็นประธานในพิธีเปิดพร้อมบรรยายพิเศษ “การพัฒนานโยบายสาธารณะด้านผู้สูงอายุอย่างมีส่วนร่วมโดยใช้ความรู้เป็นฐาน”

ดร.นพ.ภูษิต ประคองสาย เลขาธิการมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย กล่าวว่า จากข้อมูลสถิติประชากรทางทะเบียนราษฎร (ณ เดือนกันยายน 2567) ประเทศไทยมีจำนวนประชากรทั้งสิ้น 65,969,270 คน เป็นประชากรที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป 13,575,063 คน คิดเป็นร้อยละ 20.58 ของประชากรทั้งประเทศ ถือว่าประเทศไทยเป็นสังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์ (Complete Aged Society) และคาดการณ์ว่าประเทศไทยจะเป็นสังคมสูงวัยระดับสุดยอด (Super Aged Society) ในปี 2576 เมื่อสัดส่วนผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป มากกว่าร้อยละ 28 หรือประชากรอายุ 65 ปีขึ้นไป สูงกว่าร้อยละ 20 ของประชากรทั้งหมด สังคมไทยจึงอยู่ในสภาวการณ์ที่มีผู้สูงวัยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งโครงสร้างอายุที่เปลี่ยนไป กระทบกับโครงสร้างของสังคมไทยโดยรวม ส่งผลต่อการยกระดับขีดความสามารถศักยภาพในการแข่งขันของประเทศและการพัฒนาประเทศในระยะยาว ทั้งระดับมหภาคและจุลภาค ได้แก่ ผลกระทบต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) รายได้ต่อหัวประชากร การออม การลงทุน งบประมาณของรัฐบาลและการคลัง ผลิตภาพแรงงานและการจ้างงาน ผลต่อตลาดผลิตภัณฑ์และบริการด้านต่างๆ โดยเฉพาะด้านภาระทางการคลังและด้านสุขภาพ

ดร.นพ.ภูษิต กล่าวต่อว่าผลการศึกษาวิจัย และงานวิชาการที่ผ่านมาของ มส.ผส. และ สสส. พบว่ามีข้อค้นพบและบทเรียนสำคัญจากการดำเนินงานที่เป็นประโยชน์จำนวนมาก และเป็นผลงานองค์ความรู้ที่เป็นรูปธรรม อาทิ กลไกการทำงาน ผลงานเชิงนวัตกรรม รูปแบบ เครื่องมือ และวิธีการทำงานต่าง ๆ ที่สามารถทำงานได้จริงในระดับพื้นที่ และเกิดการขับเคลื่อนระดับนโยบายได้ในเชิงประจักษ์ ซึ่งหากมีการรวบรวม วิเคราะห์ และสังเคราะห์ให้เป็นแบบอย่างที่ดี จะสามารถเป็นตัวอย่างของการนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ในวงกว้าง ตลอดจนเป็นโอกาสสำคัญในการผลักดันข้อเสนอเชิงนโยบายสู่องค์กรหลักที่เกี่ยวข้องให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างยั่งยืน โดยการสร้างหลักประกันความมั่นคงทางเศรษฐกิจสำหรับผู้สูงอายุ พัฒนาระบบการจ้างงานผู้สูงอายุให้เกิดรูปธรรม พร้อมทั้งสนับสนุนระบบสวัสดิการทางสังคมที่เหมาะสมให้แก่ผู้สูงอายุ ผ่านการดำเนินงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ทั้งเรื่องที่อยู่อาศัยที่เหมาะสม และการสร้างการมีส่วนร่วมที่สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน

“องค์ความรู้จากงานวิจัยที่สำคัญภายใต้แผนงานฯ ประกอบด้วยกลไกการทำงานและผลงานเชิงนวัตกรรม และเครื่องมือต่าง ๆ ที่พัฒนาขึ้น เช่น การสร้างเครือข่ายการดูแลผู้มีภาวะสมองเสื่อมแบบครบวงจรในพื้นที่จังหวัดปัตตานี การพัฒนาต้นแบบการเสริมสุขภาพด้วยซอฟต์แวร์วิเคราะห์ภาวะสุขภาพ และการศึกษาความเปราะบางของเกษตรกรสูงวัยต่อภัยแล้งและการตอบสนองต่อปัจจัยคุกคามดังกล่าว ซึ่งผลลัพธ์เหล่านี้จะช่วยสนับสนุนการตัดสินใจเชิงนโยบายในระดับประเทศและระดับท้องถิ่นได้อย่างเป็นรูปธรรม ทั้งนี้ ยังได้มีการจัดทำงานสังเคราะห์เอกสารเชิงวิชาการและเวทีระดมสมองในประเด็น การส่งเสริมการทำงานสำหรับผู้สูงอายุ การพัฒนารูปแบบการดูแลผู้สูงอายุเพื่อป้องกันภาวะสมองเสื่อม และการจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายเพื่อพัฒนาที่อยู่อาศัยที่ปลอดภัยและตอบโจทย์คุณภาพชีวิตสำหรับผู้สูงอายุ โดยมุ่งเน้นการสนับสนุนท้องถิ่นในการดำเนินการรองรับสังคมสูงวัยได้อย่างเหมาะสม การรวบรวมและสังเคราะห์องค์ความรู้จากผลงานที่ผ่านมา จะช่วยผลักดันข้อเสนอเชิงนโยบายที่สำคัญต่อองค์กรหลักที่เกี่ยวข้อง และนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืนทั้งในด้านเศรษฐกิจและสังคม” ดร.นพ.ภูษิต กล่าว

ด้านนางภรณี ภู่ประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ (สำนัก 9) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า การสร้างการมีส่วนร่วมทางสังคมถือเป็นปัจจัยสำคัญในการรองรับสังคมสูงวัยที่มีสุขภาพและความยั่งยืน โดย สสส. ได้ร่วมมือกับภาคีเครือข่ายในภารกิจพัฒนาระบบรองรับสังคมสูงวัยอย่างครบวงจร พร้อมทั้งส่งเสริมการเตรียมความพร้อมของประชากรก่อนเข้าสู่วัยสูงอายุ รวมถึงขับเคลื่อนการพัฒนาเมืองให้น่าอยู่และเป็นมิตรกับผู้สูงอายุในทุกมิติ ซึ่งครอบคลุมด้านสุขภาพ เศรษฐกิจ สังคม และสภาพแวดล้อม โดยใช้ข้อมูลความรู้จากงานวิชาการต่างๆ ที่เกิดขึ้นมาขับเคลื่อนการดำเนนิงานในมิติต่าง ๆ เช่น มิติด้านสุขภาพ สสส. ให้ความสำคัญกับการสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับสุขภาพสำหรับผู้สูงอายุผ่านชุดความรู้ที่เหมาะสม พร้อมทั้งสนับสนุนการพัฒนาระบบดูแลผู้สูงอายุที่มีภาวะสมองเสื่อม รวมถึงส่งเสริมการเสริมสร้างความแข็งแรงของร่างกายเพื่อป้องกันปัญหาการหกล้ม มิติด้านเศรษฐกิจ สสส. มุ่งเน้นการสร้างความมั่นคงทางรายได้ให้ผู้สูงอายุ โดยเปิดโอกาสให้ผู้สูงอายุได้พัฒนาทักษะใหม่ เพิ่มโอกาสการจ้างงาน และสร้างรายได้เพื่อเสริมสร้างความมั่นคงในชีวิต มิติด้านสังคม มุ่งเน้นการสร้างความเข้มแข็งของชมรมผู้สูงอายุ การเพิ่มพื้นที่สำหรับกิจกรรมที่ตอบโจทย์ผู้สูงอายุ และการเสริมทักษะความรู้ด้านเทคโนโลยีผ่านระบบเรียนรู้ออนไลน์ เป็นหัวใจสำคัญของการดำเนินงานในมิติสังคม นอกจากนี้ ยังได้ส่งเสริมกิจกรรมโรงเรียนผู้สูงอายุและจัดตั้งธนาคารเวลาเพื่อสร้างระบบการดูแลที่ยั่งยืน มิติสภาพแวดล้อม เพื่อปรับตัวให้เหมาะสมกับการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากร สสส. ยังมุ่งส่งเสริมการปรับปรุงสภาพแวดล้อมให้เหมาะกับผู้สูงอายุ ทั้งในที่พักอาศัยและสถานที่สาธารณะ โดยจัดให้มีสิ่งอำนวยความสะดวกที่เอื้ออำนวยต่อการดำเนินชีวิตของผู้สูงวัย ซึ่ง สสส. และภาคีเครือข่าย คาดหวังว่าการดำเนินงานที่เกิดขึ้นจะสามารถพัฒนาระบบรองรับสังคมสูงวัยได้อย่างเป็นรูปธรรมและสอดคล้องกับนโยบายของภาครัฐ พร้อมทั้งช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุในทุกมิติ เพื่อสร้างสังคมที่ดีและยั่งยืนในอนาคต

ภายในงานยังจัดให้มีพื้นที่เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างผู้กำหนดนโยบายและนักวิชาการจากหน่วยงาน และองค์กรต่างๆ โดยการนำเสนอผลการสังเคราะห์งานวิชาการ เพื่อหาข้อสรุปร่วมและผลักดันข้อเสนอเชิงนโยบาย นอกจากนี้ยังมีการออกบูธเพื่อเผยแพร่นวัตกรรมในการดูแลผู้สูงอายุและองค์ความรู้ทางวิชาการที่เกี่ยวข้องจากภาคีเครือข่าย อาทิ ศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ, สถาบันการการเรียนรู้การสร้างเสริมสุขภาพ, ธนาคารออมสิน, โรงพยาบาลผู้สูงอายุและศูนย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู Chersery home