วันเสาร์ ที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2568 15:00 น.

ข่าวสังคม

เลขา TSPCA ชี้ทำบุญต้องไม่ทารุณสัตว์ เตือนการทิ้งสัตว์เป็นต้นทางแห่งการทารุณ

วันพฤหัสบดี ที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2568, 14.15 น.

เลขา TSPCA ชี้ทำบุญต้องไม่ทารุณสัตว์ เตือนการทิ้งสัตว์เป็นต้นทางแห่งการทารุณ ปลุกสังคมตระหนักการจับสัตว์ป่าจากธรรมชาติมาเพื่อปล่อยทำบุญเป็นการกระทำที่เข้าข่ายผิดกฎหมาย

วันที่ 9 กรกฎาคม 2568 สมาคมป้องกันการทารุณสัตว์แห่งประเทศไทย (TSPCA) พร้อมด้วยเครือข่ายช่วยเหลือสัตว์ภาคประชาชน และคุณสินจิรา อภัยทาน ผู้ร้องเรียนและผู้รณรงค์โครงการหาบ้านใหม่ให้กอริลลา "บัวน้อย" พร้อมด้วย นายสัตวแพทย์นันทศักดิ์ มุกสิกศิลป์ กองสวัสดิภาพสัตว์และสัตวแพทย์บริการ เจ้าหน้าที่จากกรมปศุสัตว์ พุทธมณฑล ลงพื้นที่ช่วยเหลือสุนัขที่ถูกเจ้าของนำมาปล่อย และร่วมกันรณรงค์ติดป้ายหยุดการทิ้งสัตว์ และร่วมกันพิจารณาให้ความช่วยเหลือเกาะสุนัขซึ่งไม่ได้สังกัดในหน่วยงานราชการแต่อยู่ได้ด้วยเงินบริจาคซึ่งขณะนี้มีประชากรสุนัข ที่ถูกนำมาปล่อย เพิ่มถึง 500 ตัว ณ พื้นที่พุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม

ดร.สาธิต ปรัชญาอริยะกุล เลขาธิการและผู้อำนวยการ สมาคมป้องกันการทารุณสัตว์แห่งประเทศไทย (TSPCA) และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ในคณะกรรมการป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ ตามพระราชบัญญัติป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ.2557 เห็นว่าเนื่องในโอกาสใกล้วันพระใหญ่ของชาวพุทธ คือวันอาสาฬหบูชาและวันเข้าพรรษา ประจำปี 2568 TSPCA ได้จัดกิจกรรม “ทำบุญไม่ทารุณสัตว์” เพื่อเป็นการเผยแพร่รณรงค์เกี่ยวกับการทำบุญที่ไม่เบียดเบียนชีวิตสัตว์ ทั้งนี้การปล่อยสัตว์เป็นสิ่งที่ชาวพุทธนิยมทำกันตามความเชื่อ แต่การปล่อยสัตว์บางชนิดอาจจะเป็นต้นทางแห่งการทารุณสัตว์ แม้จะเกิดจากกุศลเจตนา เพื่อความรู้สึกสบายใจว่าได้บุญโดยเป็นผู้ต่อชีวิตด้วยความเมตตากรุณาต่อสัตว์ แต่ผลกระทบต่อความหลากหลายทางชีวภาพของระบบนิเวศวิทยาและสิ่งแวดล้อม มีมากกว่าที่คิด เช่น การปล่อยปลาบางชนิด ถือเป็นปลาเอเลี่ยนสปีชีส์ สายพันธุ์ต่างถิ่นที่จะรุกรานการดำรงชีวิตอยู่ของปลาในพื้นถิ่น จะเป็นการยับยั้งการสืบพันธุ์ของปลาในพื้นที่ที่ปล่อย ซึ่งจะเป็นการทำลายระบบนิเวศน์ ลดจำนวนลงหรืออาจร้ายแรงถึงปลาพื้นถิ่นบางชนิดอาจสูญพันธุ์ได้ เช่นการปล่อย ปลาดุก หรือ ปลาหมอคางดำ เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม การปล่อยสัตว์เอาบุญตามความเชื่อนั้น ก่อนที่สัตว์จะมาถึงมือผู้ปล่อย สัตว์ต้องผ่านการถูกทารุณไม่ว่าจะการดัก จับ ยิง ต้อน เรียก ล่อ ไล่ ก็ล้วน เป็นการทำให้สภาพชีวิตสัตว์ขาดอิสรภาพตามธรรมชาติ หรือแม้แต่การปล่อยสัตว์ที่ผิดสภาพแวดล้อมจากธรรมชาติเดิม เช่น ปล่อย เต่าในน้ำเชี่ยวที่ไม่มีตลิ่งให้เกาะหรือปล่อยเต่าในน้ำกร่อยเต่าจะค่อยๆตาบอดและตายไปในที่สุด หรือ หอยขมต้องอยู่ในที่ชื้นแฉะ เช่น บึงคลอง ไม่ใช่แม่น้ำ ปลาไหลก็เช่นกัน ไม่รอดในน้ำเชี่ยวไหลแรง  และสำหรับปลาที่จับจากธรรมชาติมาสู่ตลาดเพื่อให้ผู้ซื้อนำไปปล่อยในแม่น้ำก็ ประสบชะตากรรมเดียวกัน หากปล่อยในน้ำที่มีอุณหภูมิและสิ่งแวดล้อมแตกต่างจากที่เคยเติบโตมา ปลาอาจจะปรับตัวไม่ได้ การจับสัตว์ป่าจากธรรมชาติมาเพื่อปล่อยทำบุญนั้น เป็นการกระทำที่เข้าข่ายผิดกฎหมาย เช่น นก เต่า บางชนิด พระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2562 ได้กำหนดห้ามล่าสัตว์ป่าคุ้มครอง ตามมาตรา 12 ประกอบมาตรา 89 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี หรือปรับไม่เกิน 1,000,000 บาท การครอบครองสัตว์ป่าคุ้มครอง ตามมาตรา 17 ประกอบมาตรา 92 จำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 500,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

สำหรับสัตว์เลี้ยง เช่น สุนัขและแมว ก็มักจะมีการปล่อยทิ้งกันเป็นจำนวนมากเพราะ “เมื่อหมดรัก มักถูกทิ้ง” ดังกรณีการลงพื้นที่ดังกล่าววันนี้ เกิดจากมีการร้องเรียนว่า มีครอบครัวสุนัขแม่ลูกอ่อนอันประกอบด้วย สุนัขตัวผู้และแม่ลูกอ่อนถูกนำมาปล่อยและ คลอดลูกออกมาหลายครอกแล้ว เพราะไม่ได้รับการทำหมัน และเริ่มจะเป็นปัญหากับชุมชนซึ่งเกรงการเพิ่มประชากรสุนัขจรและอันตรายจากยวดยานพาหนะทั้งต่อตัวสุนัขจรเองและชุมชนที่สัญจรผ่านไปมา

นอกจากนี้ นโยบายการจัดการกับสุนัขจรของชุมชนบางแห่งคือการงดให้อาหาร ซึ่งอาจจะขัดต่อหลักเมตตาธรรม เพราะอย่างไรเสียสุนัขจรในพื้นที่ก็คุ้นชินกับการใช้ชีวิตอยู่ในชุมชนนั้นนานปีแล้วและถึงแม้คนจะให้หรือไม่ให้อาหารเค้าก็ต้องใช้ชีวิตอยู่ตรงนั้นตามยถากรรม กรณีนี้จึงเห็นควรที่จะขอความร่วมมือให้กรมปศุสัตว์ช่วยทำหมัน และทางสมาคมฯจะประสานหาที่อยู่ใหม่ที่เหมาะสมให้กับครอบครัวสุนัขแม่ลูกอ่อนและลูกๆต่อไป

คุณสินจิรา อภัยทาน ผู้ร้องเรียนซึ่งเห็นด้วยกับหลักการที่ว่า“สัตว์ทุกชนิดควรเป็นอิสระจากความหิวโหย” จึงแจ้งมายังสมาคมป้องกันการทารุณสัตว์ เพื่อขอคำแนะนำและขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยอนุเคราะห์ ในการจัดการที่เป็นรูปธรรมเพื่อให้ความช่วยเหลือครอบครัวแม่สุนัขดังกล่าวและเพื่อเป็นกรณีศึกษาเกี่ยวกับการจัดการสุนัขจรซึ่งมีอยู่นับล้านตัวทั่วประเทศ และเพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหาสวัสดิภาพประชากรสุนัขจรที่เกาะสุนัขในเขตพุทธมณฑล ที่มีจำนวนสุนัขจรล้นถึง 500 ตัวซึ่งอาศัยอยู่ได้ด้วยเงินบริจาคจากผู้มีจิตศรัทธาเมตตาสัตว์ ประเด็นสำคัญที่สุดคือการ ปลุกจิตสำนึกผู้เลี้ยงสุนัขให้เห็นถึงคุณค่าของสิ่งมีชีวิตที่อยู่ในความดูแลและตระหนักว่า“ทุกชีวิตรักสุขเกลียดทุกข์ ”ไม่มีสัตว์เลี้ยงตัวใดสมควรถูกเจ้าของทอดทิ้ง รวมทั้งการทำหมันให้สุนัขจรและแมวจรโดยขยายเครือข่ายการทำหมันไปยังหน่วยงานและองค์กรที่เกี่ยวข้องทั่วประเทศการเพาะพันธ์สัตว์เลี้ยงขายต้องได้รับการอนุญาตและมีกฎหมายควบคุมที่เข้มงวดกว่าที่เป็นอยู่ เพื่อป้องกันการนำพ่อพันธุ์และแม่พันธุ์ที่หมดสภาพมาปล่อย

ทั้งนี้ สมาคมป้องกันการทารุณสัตว์ได้ร่วมกันบูรณาการในการช่วยเหลือจากผู้มีอำนาจทางกฎหมาย คือ ราชการส่วนท้องถิ่นและปศุสัตว์ รวมทั้งอาสาสมัคร ที่จะพยายามจับสุนัขดังกล่าว เพื่อทำหมัน ฉีดวัคซีนป้องกันโรคและหาสถานที่รับเลี้ยงหรือบ้านใหม่ให้สุนัขเหล่านั้น ให้ได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น สำหรับการทิ้งสัตว์ตามพระราชบัญญัติป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ.2557 ได้กำหนดไว้ ตามมาตรา 23 ห้ามมิให้เจ้าของสัตว์ ปล่อย ละทิ้ง หรือกระทำการใดๆ ให้สัตว์พ้นจากการดูแลของตนโดยไม่มีเหตุอันสมควร ถ้าเจ้าของไม่ปฏิบัติหรือฝ่าฝืนมาตรา 23 ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท ตามมาตรา 32 

สำหรับที่ผ่านมา TSPCA ได้รณรงค์เผยแพร่ภาพยนตร์สั้น “ปล่อยนก บุญหรือบาป?” และ “รักไม่ปล่อย” เพื่อสร้างจิตสำนึกและกระตุ้นเตือนเรื่องการปล่อยสัตว์ และขอมติมหาเถรสมาคมฯ มติที่ 410/2561 เรื่องการจัดทำหลักเกณฑ์ วิธีการ ในการปล่อยสัตว์ในวัด โดยกำหนดให้วัดเป็นเขตห้ามเจ้าของสัตว์ นำสัตว์มาปล่อย เป็นเขตห้ามซื้อขายหรือทำธุรกิจเกี่ยวกับการค้าชีวิตสัตว์ภายในวัดเป็นต้น ดังนั้น การทำบุญด้วยการปล่อยสัตว์ถ้าหลีกเลี่ยงได้ก็จะเป็นการดี แต่ถ้ามีความจำเป็นหรือตั้งใจจริงๆ ก็ควรศึกษาข้อมูลประกอบให้ครบถ้วนรอบด้าน และกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ อย่าทำบุญแค่เพื่อความสะดวกสบายใจของตนเองเพียงด้านเดียว เพราะอาจส่งผลมากกว่าที่คิด การมีสติระลึกรู้และปัญญากำกับในการทำบุญจึงจะเป็นบุญทานอันบริสุทธิ์อย่างแท้จริงตามหลักการของศาสนาที่เป็นจริง