วันเสาร์ ที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2567 04:45 น.

ประกัน

ทิพยประกันภัยพาศึกษาดูงาน”เอออน” ถอดรหัส”มหันตภัยใต้ฝุ่น-แผ่นดินไหว”เมืองซามูไร

วันอังคาร ที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2562, 12.00 น.

ทิพยประกันภัยพาศึกษาดูงาน”เอออน”

ถอดรหัส”มหันตภัยใต้ฝุ่น-แผ่นดินไหว”เมืองซามูไร

 

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา บริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน) ได้พาคณะสื่อมวลชน สายข่าวประกัน เหินฟ้าสู่เมืองโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น เพื่อศึกษางานเกี่ยวกับการบริหารจัดการความเสี่ยงทางภัยธรรมชาติ โดยเฉพาะ การเข้าเยี่ยมชมบริษัท เอออน เพื่อศึกษาวิธีการบริหารจัดการความเสี่ยงจากภัยพิบัติของประเทศญี่ปุ่น  นำโดยผู้บริหาร ดร.สมพร สืบถวิลกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ และคุณวิชชุดา ไตรธรรม ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ และทีมประชาสัมพันธ์ของ บมจ.ทิพยประกันภัย

 

 

ทั้งนี้ คณะผู้บริหารของเอออน โดย Mr. Oriol Gaspa Rebull, Head of Analytics, Aon Japan Reinsurance Solutions ได้บรรยายให้กับคณะสื่อมวลชนสายข่าวประกัน โดยเฉพาะเกี่ยวกับความรุนแรงของมหันตภัยในประเทศญี่ปุ่นที่สร้างความเสียหายทั้งจากพายุไต้ฝุ่นและแผ่นดินไหวบ่อยครั้ง มหันตภัยที่ร้ายแรง อาทิ ไต้ฝุ่นเจบี ในปี 2018 ที่สร้างความเสียหายต่อการประกันภัยถึง 960 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และไต้ฝุ่นฮากิบิสในช่วงเดือนที่ผ่านมาที่ค่าความเสียหายยังเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆในปัจจุบัน ทางด้านแผ่นดินไหว ญี่ปุ่นประสบกับความเสียหายจากไต้ฝุ่นโทโฮคุ ในปี 2011 มากถึง 16,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ นอกจากนี้แผ่นดินไหวคุมาโมโต้ ในปี 2016 ยังสร้างความเสียหายต่อการประกันภัยถึง 506 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ความเสียหายนี้ส่งผลกระทบต่อทุกภาคส่วน ทั้งประชาชน พื้นที่เศรษฐกิจ และการโทรคมนาคมของประเทศ เช่น สนามบินคันไซ และรถไฟชินคันเซ็น ที่ต้องหยุดชะงักตามไปด้วย

 

 

นอกจากนี้ในประเทศญี่ปุ่นที่มักเผชิญมหันตภัยที่สร้างความเสียหายอย่างรุนแรงต่อเนื่อง เป็นที่ทราบกันดีว่าประเทศญี่ปุ่นสามารถฟื้นตัวจากภัยพิบัติได้อย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะบริษัทประกันภัยในประเทศญี่ปุ่นที่แม้จะประสบกับความเสียหายจากมหันตภัยใหญ่ๆบ่อยครั้ง กลับสามารถบริการจัดการความเสี่ยงได้อย่างยอดเยี่ยมและสามารถเติบโตธุรกิจได้อย่างต่อเนื่อง กลยุทธ์ในการบริหารจัดการ

 

 

สำหรับ Ms. Sayaka Ochi, Head of Catastrophe Modelling, Aon Japan Reinsurance Solutions ได้แนะนำเทคโนโลยีที่ใช้ในการประเมินความเสียหาย หรือ Catastrophe Model โปรแกรมต่างๆ ได้แก่ RMS, AIR, CoreLogic, และ Aon Impact Forecasting ที่มีมากว่า 24 ปี ทั้งนี้บริษัทประกันภัยต่างๆในประเทศญี่ปุ่นได้เก็บข้อมูลที่อยู่ของผู้รับประกันภัยแต่ละรายอย่างละเอียดถึงระดับละติจูด ลองจิจูด ปีที่ก่อสร้าง และจำนวนชั้นของอาคาร และใช้โปรแกรมเหล่านี้เพื่อประเมินความเสี่ยงที่เหมาะสมกับการกระจายตัวทางความเสี่ยงในแต่ละพื้นที่การรับประกันภัยของบริษัท เมื่อประเมินความเสี่ยงต่อภัยต่างๆได้อย่างแม่นยำแล้ว ทางบริษัทประกันภัยในประเทศญี่ปุ่นจะวางกลยุทธ์ในการจัดโครงสร้างโปรแกรมการประกันภัยต่อไปยังต่างประเทศเพื่อป้องกันความเสียหายอย่างรุนแรงในอนาคตโดยการกระจายความเสี่ยง โดยในประเทศญี่ปุ่นภาครัฐมีการกำหนดให้แต่ละบริษัทซื้อประกันภัยต่อขั้นต่ำที่ค่าความเสียหาย 1 ใน 200 ปี คุ้มครองถึงอัตราความเสียหายได้ถึงร้อยละ 99.5%

 

 

ทั้งนี้บริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน) ได้มีการเริ่มใช้นวัตกรรมในการบริหารความเสี่ยงด้านมหันตภัยหรือ Catastrophe Model แบบเดียวกับที่ญี่ปุ่นใช้แล้ว โดยการประเมินความเสี่ยงภัยน้ำท่วมจากโปรแกรม Aon Impact Forecasting และแผ่นดินไหวจากโปรแกรม AIR สื่อให้เห็นว่าทิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน) เป็นผู้นำด้านนวัตกรรมและเล็งเห็นถึงความสำคัญของการบริการจัดการความเสี่ยงภัยธรรมชาติอย่างแท้จริง

 

สำหรับการเยี่ยมชมในครั้งนี้ทางคณะผู้เข้าเยี่ยมชมได้ให้ความสนใจในรายละเอียดและซักถามกันเป็นอย่างมาก ซึ่งความรู้ ความเชี่ยวชาญ และเทคโนโลยีใหม่ๆ จากการบรรยายดังกล่าวเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการนำไปประยุกต์ใช้ในประเทศไทยที่กำลังประสบกับภัยธรรมชาติ ทั้งน้ำท่วม และแล้ง ต่อไป เพื่อการพัฒนาศักยภาพการบริหารธุรกิจประกันภัยของไทยอย่างยั่งยืน