วันศุกร์ ที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2567 02:19 น.

ประกัน

ทิพยประกันภัย จัดโครงการ ทิพยสืบสาน รักษา ต่อยอด นวัตกรรมศาสตร์พระราชา ครั้งที่ 7

วันจันทร์ ที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2563, 17.13 น.
ทิพยประกันภัย จัดโครงการ ทิพยสืบสาน รักษา ต่อยอด นวัตกรรมศาสตร์พระราชา ครั้งที่ 7
 
 
ทิพยประกันภัย จัดโครงการ ทิพยสืบสาน รักษา ต่อยอด นวัตกรรมศาสตร์พระราชา ครั้งที่ 7 “ตอน โครงการอนุรักษ์ป่าสงวนแห่งชาติป่ากุยบุรี อันเนื่องมาจากพระราชดำริ แก้ปัญหาคนกับช้างอย่างยั่งยืน ปลูกป่าในใจคน” นำคณะครูจากทั่วประเทศร่วมโครงการ ถ่ายทอดนวัตกรรมการเรียนรู้สู่เยาวชนรุ่นใหม่
 
 
ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้ ของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ได้พระราชทานแนวทางในการแก้ไขปัญหาของประเทศชาติและประชาชน รวมทั้งโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริมากมายหลากหลายโครงการ จนก่อเกิดเป็น “ศาสตร์พระราชา” ที่ประชาชนต่างน้อมนำมาปฏิบัติ จนมีสภาพชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้น และมีความสุขมากขึ้นโดย นางวิชชุดา ไตรธรรม ที่ปรึกษากรรมการผู้จัดการใหญ่ ทิพยประกันภัย รศ.นพ.สุริยเดว ทรีปาตี ผู้อำนวยการศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน)  ดร.ดนัย จันทร์เจ้าฉาย ประธานมูลนิธิธรรมดี พร้อมด้วยกองทัพภาคที่ 1 มูลนิธิประเทศไทยใสสะอาด สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน) กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ จัดโครงการ ทิพยสืบสาน รักษา ต่อยอด นวัตกรรมศาสตร์พระราชา ครั้งที่ 7  “โครงการอนุรักษ์ป่าสงวนแห่งชาติป่ากุยบุรี อันเนื่องมาจากพระราชดำริ แก้ปัญหาคนกับช้างอย่างยั่งยืน ปลูกป่าในใจคน” โดยนำคณะครูอาจารย์จากสถาบันการศึกษาต่างๆ ทั่วประเทศ กว่า 30 สถาบัน ร่วมเรียนรู้ศาสตร์พระราชา โดยเรียนรู้แนวคิด “ขาดทุน คือกำไร” กับวิถีเศรษฐกิจพอเพียง ของคนในชุมชนอำเภอกุยบุรี พร้อมร่วมกันสร้างนวัตกรรมการเรียนรู้และปลูกฝังคุณธรรม 4 ประการ พอเพียง วินัย สุจริต จิตอาสา ให้กับเยาวชน 
 
 
พร้อมศึกษากิจกรรมการแปรรูปผลิตภัณฑ์ที่มีอยู่ในท้องถิ่นโดยการนำสับปะรด มาแปรรูปเป็นกระดาษใบสับปะรด ซึ่งได้รับการจดทะเบียนเป็นสินค้า OTOP ปี 2559 เป็นหนึ่งในสินค้านวัตวิถีที่สร้างรายได้ให้กับคนในชุมชน สมาชิกบ้านรวมไทย หมู่บ้านต้นแบบด้านการท่องเที่ยวภายใต้โครงการ “ชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี” ของจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ รวมถึงผลิตภัณฑ์ต่างๆ
 
 
กิจกรรมไฮไลท์ของโครงการตามรอยพระราชาในครั้งนี้ คือการศึกษาศาสตร์ของพระราชา แก้ปัญหาคนกับช้างอย่างยั่งยืน ปลูกป่าในใจคนกับทางอุทยานแห่งชาติกุยบุรี ซึ่งคณะครูอาจารย์ที่เข้าร่วมกิจกรรมจะได้เรียนรู้โครงการอนุรักษ์และฟื้นฟูสภาพป่าบริเวณป่าสงวนแห่งชาติป่ากุยบุรี   อันเนื่องมาจากพระราชดำริ โดยทรงมีพระราชดำริให้ปลูกป่า ฟื้นฟูระบบนิเวศ  เพื่อยังความชุ่มชื้นคืนธรรมชาติและเป็นแหล่งอาศัยของสัตว์ป่าทั้งปวง ตามพระราชดำรัสคนกับช้างว่า “ช้างป่าควรอยู่ในป่า เพียงแต่ต้องทำให้ในป่านั้นมีอาหารช้างเพียงพอ” พร้อมทั้งร่วมกิจกรรมการสร้างฝายชะลอน้ำ ณ พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติกุยบุรี เพื่อเพิ่มแหล่งกักเก็บน้ำ ให้ผืนป่าแห่งนี้มีความชุ่มชื้น และชะลอการไหลของน้ำ ให้ไหลช้าลง ลดการสูญเสียส่งผลให้พื้นที่ป่าไม้ยังคงความอุดมสมบูรณ์ ดังแนวคิดการพื้นฟูผืนป่า ตามแนวพระราชดำริ
 
 
นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมสำหรับคณะครูอาจารย์ โดยให้ถอดบทเรียนหลังจากการลงพื้นที่เรียนรู้ด้วยการปฏิบัติแล้วนั้น จะนำโดยนายอดุลย์ ดาราธรรม นายกสมาคมนักเรียนเก่า AFS ประเทศไทย ผ่านเกมกระดานสื่อการเรียนรู้ 3 แบบ ได้แก่ “Game of Our Nation” ที่สอดแทรกคุณธรรม 4 ประการ คือ พอเพียง วินัย สุจริต จิตอาสา “The Medici Effect 9” ถอดบทเรียนและต่อยอดสร้างสรรค์เป็นนวัตกรรมจากกิจกรรมตามรอยพระราชา และ “The King's Journey Learn English an Example of an Invention” เรียนรู้ภาษาอังกฤษจากหนังสือชุด King Bhumibol Adulyadej of Thailand ซึ่งคณะครูอาจารย์สามารถนำนวัตกรรมการเรียนรู้ไปต่อยอดการเรียนการสอนสำหรับเยาวชนต่อไป
 
สำหรับกิจกรรม “ทิพยสืบสาน รักษา ต่อยอด นวัตกรรมศาสตร์พระราชา” ได้จัดมารวมครั้งนี้เป็นครั้งที่ 7  ได้แก่ ชุมชนบ้านศาลาดิน จังหวัดนครปฐม, ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบน อันเนื่องมาจากพระราชดำริจังหวัดจันทบุรี , โครงการชั่งหัวมัน ตามพระราชดำริ - โครงการหุบกะพง จังหวัดเพชรบุรี , เขื่อนขุนด่านปราการชล – ศูนย์ภูมิรักษ์ จังหวัดนครนายก , โครงการพัฒนาชุมชนบ้านอ่างเอ็ด จังหวัดจันทบุรี , มหาชีวาลัยอีสาน จังหวัดบุรีรัมย์ และ อุทยานแห่งชาติกุยบุรี อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์