วันศุกร์ ที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2567 17:30 น.

ต่างประเทศ

วิจัยยูเอ็นชี้!มนุษย์ต้องกินผักแทนเนื้อลดโลกร้อน

วันเสาร์ ที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2562, 19.41 น.

วันที่ 10 ส.ค.2562 คณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ (IPCC) ขององค์การสหประชาชาติ (UN) เผยรายงานว่านอกจากการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์แล้ว มนุษยชาติจะต้องเปลี่ยนแปลงการผลิตอาหารและจัดการปัญหาเกี่ยวกับการใช้ที่ดินควบคู่ไปด้วย ไม่ว่าจะเป็นดินเสื่อมโทรมจากการทำเกษตรกรรม การตัดไม้ทำลายป่า เพื่อไม่ให้ภาวะโลกร้อนเลวร้ายไปกว่าเดิม          

รายงานดังกล่าวระบุว่าการเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากรโลกและรูปแบบการบริโภคอาหารที่เปลี่ยนไปส่งผลให้เกิดการใช้ที่ดินและน้ำเพื่อการเกษตรกรรมสูงขึ้นในระดับที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ทั้งโลกมีพื้นดินที่ไม่มีน้ำแข็งปกคลุมราว 510 ล้านตารางกิโลเมตร ทว่ามนุษย์เรากลับใช้แผ่นดินทำการเกษตรกรรมไปถึง 1 ใน 3 หนำซ้ำส่วนใหญ่ยังใช้ไปกับการปลูกพืชที่เป็นอาหารสัตว์ แทนที่จะเป็นการปลูกพืชที่เป็นอาหารของมนุษย์
          
การบริโภคอาหารของมนุษย์คือปัจจัยสำคัญที่เร่งให้เกิดการเปลี่ยนแปลง โดยครึ่งหนึ่งของก๊าซมีเทน ซึ่งเป็นก๊าซเรือนกระจกที่กักเก็บความร้อนได้มากกว่าก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ถึง 30 เท่า มาจากการเลี้ยงสัตว์ และ 75% ของการปล่อยก๊าซไนตรัสออกไซด์ ที่ร้ายแรงกว่าก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ถึง 300 เท่า เกิดจากการใช้ปุ๋ยไนโตรเจน อีกทั้งยังต้องใช้ทรัพยากรน้ำจำนวนมหาศาล (ปริมาณ 1 กิโลกรัม) เช่น
          
เนื้อวัว 15,415 ลิตรเนื้อแกะ 10,412 ลิตรเนื้อหมู 5,988 ลิตรเนื้อไก่ 4,325 ลิตรแอปเปิล 822 ลิตรกล้วย 790 ลิตรมะเขือเทศ 287 ลิตรกะหล่ำปลี 237 ลิตรจะเห็นว่าอาหารประเภทเนื้อสัตว์ใช้น้ำมากกว่าผักผลไม้ ที่ประชุม IPCC จึงเสนอแนะให้พลเมืองโลกหันมารับประทานอาหารที่มีผักและผลไม้เป็นส่วนประกอบหลักแทนการบริโภคเนื้อสัตว์ที่เป็นตัวการของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตัวการสำคัญที่ทำให้อุณหภูมิโลกสูงขึ้น โดยคาดว่าหากมนุษย์เปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคจะช่วยลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ปีละ 8,000 ล้านตันภายในปี 2050
          
อย่างไรก็ดี แอนดรูว์ ลอฟตัส เจ้าของฟาร์มวัวในสหราชอาณาจักร แย้งว่ารายงานดังกล่าวทำให้ผู้บริโภคเข้าใจผิด เพราะเนื้อวัวที่ผลิตในสหราชอาณาจักรเป็นเนื้อที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกน้อยที่สุดในโลก ทั้งยังอ้างว่าการนำเข้าผักผลไม้จากทั่วโลกก็เป็นอันตรายกับสิ่งแวดล้อมเช่นกัน