วันเสาร์ ที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2567 08:15 น.

ต่างประเทศ

"ไบเดน"สั่งแบน"ทับทิม"เมียนมา อินโดฯเดินสายอาเซียนหาทางออก

วันพุธ ที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564, 09.46 น.

เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2564 หลังจากเผด็จการทหารเมียนมาได้ก่อรัฐประหารส่งผลให้ประชาชนออกมาประท้วงทั้งประเทศ โดยวันที่ 23 กุมภาพันธ์ ยังคงมีผู้ออกมาประท้วงต่อต้านรัฐประหารในเมียนมา แม้จะมีจำนวนน้อยกว่าหนึ่งวันก่อนหน้านี้ ทั้งนี้สื่อทางการเมียนมารายงานว่า พลเอกอาวุโส มิน อ่อง ลาย กล่าวระหว่างประชุมสภาปกครองประเทศให้ภาครัฐเร่งการใช้จ่ายเงิน ลดการนำเข้า เพิ่มการส่งออกเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ และขอให้ใช้พลังงานไปกับการฟื้นฟูเศรษฐกิจที่กำลังทรุดหนัก พร้อมกับย้ำว่าทางการยังคงเดินไปบนเส้นทางประชาธิปไตย และขอให้เจ้าหน้าที่ตำรวจใช้กำลังให้น้อยที่สุด อาทิ ใช้กระสุนยางในการรับมือกับกลุ่มผู้ประท้วง พร้อมกันนี้ก็มีรายงานทหารเมียนมาได้ปะทะกับกองกำลังว้า เนื่องจากเข้าไปสกัดไม่ให้ประชาชนประท้วง

ขณะที่นายโจ ไบเดน  ประธานาธิบดีประเทศสหรัฐอเมริกา ได้ออกคำสั่งและกำหนดมาตรการคว่ำบาตรต่อเผด็จการทหารเมียนมา ซึ่งหนึ่งในมาตรการคือการห้ามนำเข้าอัญมณี "ทับทิม" เมียนมา จาก 3 บริษัทใหญ่ คือ Myanmar Ruby Enterprise, Myanmar Imperial Jade Co. และ Cancri (Gems and Jewellery) Co. จากทั้ง 3 บริษัทนี้มีเจ้าของหรือเป็นบริษัทในเครือซึ่งควบคุมหรือมีความเกี่ยวพันกับกองทัพของเมียนมา ในเบื้องต้น Ms.Sara Yood ที่ปรึกษาอาวุโสของ Jewelers Vigilance Committee (JVC) ได้แนะนำให้นักธุรกิจที่ทำการค้าและนำเข้าสินค้าอัญมณีจากบริษัทดังกล่าวให้ยุติการติดต่อหรือการเจรจาการค้าในทันที
          
อย่างไรก็ดีในอดีตสหรัฐฯเคยออกพระราชบัญญัติห้ามนำเข้าทับทิมและหยกจากเมียนมา(The JADE Act) ในสมัยประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุช ซึ่งเป็นกฎหมายที่ห้ามการนำเข้า ทับทิมและหยกที่มีถิ่นกำเนิดจากเมียนมา แม้ว่าจะถูกนำไปพัฒนาปรับปรุงหรือเจียระไนในประเทศอื่นก็ตาม ปัญหาดังกล่าวอาจส่งผลต่อผู้นำเข้าของสหรัฐฯ รวมถึงนักธุรกิจไทยที่อาจประสบความยุ่งยากในการชี้แจงแหล่งกำเนิดสินค้าของสินค้าดังกล่าว จากสหรัฐฯมีความสงสัยว่าทับทิมจากไทยอาจจะมาจากเมียนมา ก่อนสหรัฐฯได้ยกเลิกมาตรการในปี 2559 สมัยประธานาธิบดีโอบามา
          
สคต. ณ กรุงย่างกุ้งระบุอีกว่า ตลาดสหรัฐฯมีความต้องการทับทิมเป็นจำนวนมาก ดังนั้นหากมีการคว่ำบาตรในมุมกว้าง อาจเกิดอุปสรรคต่อไทย เพราะไทยเป็นศูนย์กลางส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับที่สหรัฐฯให้ความไว้วางใจ อาจถูกลดลำดับความสำคัญลง เนื่องจากทับทิมไทยส่วนใหญ่มีแหล่งกำเนิดจากเมียนมา ขณะที่ในปี 2563 การนำเข้าทับทิมของสหรัฐฯจากทั่วโลก (HS7103910010) มีมูลค่า 3,598.42 ล้านบาท (119.94 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) โดยนำเข้าจากไทยเป็นอันดับ 1 มูลค่า 1,103.69 ล้านบาท (36.78 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) หรือมีสัดส่วน 30.67% ของการนำเข้า

อินโดฯเดินสายหาทางออกเมียนมา

นางเร็ตโน มาร์ซูดี รัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน เดินสายเยือนประเทศสิงคโปร์และบรูไน เพื่อระดมความสนับสนุนให้มีการจัดประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนว่าด้วยสถานการณ์ในเมียนมา โดยในวันที่ 24 มีนาคมนี้ นางเร็ตโนจะหารือกับนายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของไทย 

ทั้งนี้ นางเร็ตโนให้สัมภาษณ์ว่า เมียนมาควรต้องดำเนินการตามความต้องการของประชาชนที่จะกลับสู่ประชาธิปไตยภายใต้การมีส่วนร่วมของทุกฝ่าย พร้อมกับเรียกร้องให้ทุกฝ่ายใช้ความอดทนอดกลั้นให้มากที่สุด เพื่อหลีกเลี่ยงสถานการณ์นองเลือด อินโดนีเซียสนับสนุนประชาชนชาวเมียนมา และเห็นว่าสิ่งที่มีความสำคัญสูงสุดคือสวัสดิภาพและความปลอดภัยของประชาชน

ทั้งนี้ล่าสุดมีรายงานว่า นางเร็ตโนยกเลิกที่จะเดินทางไปเยือนเมียนมาแล้ว