วันพฤหัสบดี ที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2567 00:08 น.

ต่างประเทศ

"ซูจี"ปรากฏตัวขึ้นศาล! ถูกแจ้งข้อหาเพิ่มยุยงปลุกปั่น

วันจันทร์ ที่ 01 มีนาคม พ.ศ. 2564, 15.58 น.

วันที่ 1 มีนาคม พ.ศ.256  สำนักข่าวต่างประเทศรายงาน นางออง ซาน ซู จี ที่ปรึกษาแห่งรัฐเมียนมา ได้ปรากฏตัวครั้งแรกเพื่อขึ้นศาลในกรุงเนปิดอว์ผ่านระบบวิดีโอ หลังถูกกองทัพเมียนมาควบคุมตัวตั้งแต่รัฐประหารเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์

ทนายความของซู จี เผยว่า ลูกความวัย 75 ปี ดูมีสุขภาพแข็งแรงดีระหว่างให้การต่อศาล แต่ดูเหมือนน้ำหนักลดลง เธอถูกตั้งข้อหาอาญาฐานครอบครองวิทยุสื่อสารที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนจำนวน 6 เครื่อง และข้อหาฝ่าฝืนกฎหมายจัดการภัยพิบัติทางธรรมชาติด้วยการละเมิดมาตรการจำกัดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 จากการจัดงานชุมนุมช่วงหาเสียงเลือกตั้งทั่วไปเดือนพฤศจิกายนปีก่อน 

ล่าสุดเธอถูกตั้งข้อหาเพิ่มในวันนี้ตามมาตราในประมวลกฎหมายอาญาที่ใช้มาตั้งแต่สมัยเป็นอาณานิคมอังกฤษ ห้ามเผยแพร่ข้อมูลที่อาจทำให้ตกใจหรือตื่นกลัว หรือทำลายความสงบสุขของประชาชน ศาลกำหนดเปิดการไต่สวนครั้งต่อไปในวันที่ 15 มีนาคม

รายงานเอเอฟพีและบีบีซีอ้างคำกล่าวของทนายความว่า การไต่สวนในศาลเมื่อวันจันทร์ นางซูจีโดนตั้งข้อหาเพิ่มอีก 2 ข้อหา ฐานฝ่าฝืนข้อห้ามควบคุมโควิด-19 ระหว่างการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งเมื่อปีที่แล้ว และฐานสร้างความหวาดกลัวและตื่นตกใจ ยังไม่ชัดเจนว่าข้อหาใหม่มีโทษเท่าใด การไต่สวนถูกเลื่อนไปเป็นวันที่ 15 มีนาคม
          
เมียนมานาวรายงานในวันเดียวกันด้วยว่า ประธานาธิบดีวิน มยิน ก็โดนตั้งข้อหาเพิ่มเช่นกันฐานปลุกระดม
          
ขณะที่สถานการณ์ในนครย่างกุ้ง เมืองใหญ่ที่สุดของประเทศตึงเครียดอีกครั้ง ผู้เห็นเหตุการณ์เผยว่า ตำรวจใช้ระเบิดเสียงและแก๊สน้ำตาสลายผู้ชุมนุม หลังจากเมื่อวานนี้เกิดความรุนแรงที่สุดนับตั้งแต่มีการชุมนุมต่อต้านรัฐประหาร มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 18 คนในการปะทะกันในหลายเมืองทั่วประเทศ


ญี่ปุ่นประณามหลังผู้ประท้วงในเมียนมาถูกยิงเสียชีวิต
 
นายคัตสึโนบุ คาโตะ หัวหน้าเลขาธิการคณะรัฐมนตรีญี่ปุ่นในฐานะโฆษกรัฐบาลให้สัมภาษณ์ในช่วงแถลงข่าวว่า "การใช้กำลังตอบโต้ผู้ชุมนุมประท้วงด้วยความสงบเป็นสิ่งที่ไม่อาจยอมรับได้ และเราขอเรียกร้องอย่างถึงที่สุดเพื่อให้กองกำลังรักษาความมั่นคงของเมียนมายุติการใช้ความรุนแรงกับพลเรือนโดยทันที"

นายโจเซป บอร์เรลล์ หัวหน้าฝ่ายนโยบายต่างประเทศของสหภาพยุโรป (อียู) ออกแถลงการณ์ยืนยันว่า อียูจะดำเนินมาตรการตอบโต้ต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในเมียนมา และย้ำให้กองทัพหยุดใช้กำลังกับพลเรือนทันที และอนุญาตให้ประชาชนใช้สิทธิในการแสดงความเห็นและชุมนุมได้อย่างเสรี โดยเร็วๆนี้ อียูมีมติเห็นพ้องให้คว่ำบาตรกองทัพเมียนมาสืบเนื่องจากการก่อรัฐประหารเมื่อวันที่ 1 ก.พ.และให้ระงับความช่วยเหลือด้านการพัฒนา แต่ยังยังอยู่ในขั้นสรุปรายละเอียดและจะมีผลบังคับใช้ก็ต่อเมื่อประกาศอย่างเป็นทางการ
          
นอกจากนี้กระทรวงต่างประเทศตุรกี ประณามการใช้กำลังเกินกว่าเหตุของกองทัพเมียนมา และแสดงความกังวลว่าเสถียรภาพในเมียนมากำลังถดถอยหลังการรัฐประหาร และสำนักงานกิจการต่างประเทศอังกฤษ เรียกร้องให้เมียนมายุติความรุนแรงและฟื้นฟูประชาธิปไตย

มาเลเซียเรียกร้องอาเซียนแก้ไขวิกฤตเมียนมา  
          
นายฮิชแชมมุดดิน ฮุสเซน รัฐมนตรีต่างประเทศมาเลเซีย กล่าวว่า สมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) ควรมีบทบาทอย่างสร้างสรรค์ในการแก้ไขวิกฤตการณ์ในเมียนมา
          
นอกจากนี้ นายฮิชแชมมุดดินยังเรียกร้องให้ทุกฝ่ายใช้ความอดกลั้น และหลีกเลี่ยงจากการใช้ความรุนแรง หลังจากมีผู้เสียชีวิตจากการประท้วงการก่อรัฐประหารในเมียนมาถึง 18 รายเมื่อวานนี้
          
"เรามีความกังวลต่อการบาดเจ็บและการสูญเสียชีวิตของผู้บริสุทธิ์ในเมียนมา" นายฮิชแชมมุดดินกล่าวในระหว่างการเดินทางเยือนบูรไน ซึ่งเป็นประธานอาเซียนในปีนี้
          
"เป็นเรื่องสำคัญที่อาเซียนจะต้องมีการหารืออย่างสร้างสรรค์และตรงไปตรงมากับเมียนมาและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมดเพื่อแสดงให้เห็นว่าอาเซียนมีประสิทธิภาพสอดคล้องกับความคาดหวังของประเทศนอกกลุ่ม และหลีกเลี่ยงการตอบโต้แต่เพียงฝ่ายเดียวที่อาจส่งผลกระทบต่อภูมิภาค" นายฮิชแชมมุดดินกล่าว

อาเซียนเตรียมจัดประชุมพรุ่งนี้  
 
สมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) เตรียมจัดการประชุมพิเศษในระดับรัฐมนตรีต่างประเทศในวันพรุ่งนี้ เพื่อหารือเกี่ยวกับวิกฤตการเมืองในเมียนมา
การประชุมดังกล่าวถือเป็นการประชุมครั้งแรกของอาเซียน  สมาชิกส่วนใหญ่ของอาเซียนต่างแสดงความพร้อมที่จะเข้าร่วมการประชุม ขณะที่มีการเชิญนายวันนะ หม่อง ลวิน รัฐมนตรีต่างประเทศของเมียนมา เข้าร่วมการประชุมเช่นกัน โดยรัฐมนตรีต่างประเทศของชาติสมาชิกอาเซียนบางส่วนอาจเดินทางเข้าร่วมการประชุมดังกล่าวที่กรุงจาการ์ตา อินโดนีเซีย ขณะที่บางส่วนอาจเข้าร่วมการประชุมผ่านระบบวิดีโอ คอนเฟอเรนซ์
          
การประชุมดังกล่าวมีขึ้น หลังมีการจัดการเจรจา 3 ฝ่ายที่กรุงเทพฯ ระหว่างนายวันนะ หม่อง ลวิน รัฐมนตรีต่างประเทศของเมียนมา, นางเร็ตโน มาร์ซูดี รัฐมนตรีต่างประเทศของอินโดนีเซีย และนายดอน ปรมัติวินัย รัฐมนตรีต่างประเทศของไทย เมื่อวันที่ 24 ก.พ.ที่ผ่านมา