วันเสาร์ ที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2567 15:35 น.

การเมือง

16 พ.ย.! สนช.นัดลงมติวาระ 2-3 กม.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง

วันพฤหัสบดี ที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561, 17.56 น.

16 พ.ย.! สนช.นัดลงมติวาระ 2-3 กม.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง 
รมช.คลังแจงยันเป็นการปฏิรูปโครงสร้างระบบภาษีให้ทันสมัย ลดกักตุนที่ดินเพื่อเก็งกำไร

 

เมื่อวันที่ 15 พ.ย. เวลา 14.30 น. ที่รัฐสภา มีการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) โดยมีนายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานสนช. คนที่ 1 ทำหน้าที่ประธานในการประชุม เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. โดยนายวิสุทธิ์ ศรีสุพรรณ รมช.คลัง ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. ชี้แจงถึงสาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติฉบับดังกล่าวว่า เนื่องจากไม่มีการปรับมาเป็นเวลานาน และเพื่อให้อัตราการจัดเก็บภาษีควรเป็นแบบก้าวหน้า ไม่ใช่แบบถดถอยเหมือนในอดีต ไม่มีฐานภาษีซ้ำซ้อนกับภาษีเงินได้ จึงจำเป็นต้องปฏิรูปโครงสร้างระบบภาษีทรัพย์สินให้ทันสมัย เป็นสากล กระตุ้นให้เกิดการใช้ประโยชน์ในที่ดิน และเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บภาษีให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.) รวมทั้งช่วยให้ท้องถิ่นมีงบประมาณเพียงพอในการพัฒนาท้องถิ่นของตนเอง
                


นายวิสุทธิ์ กล่าวอีกว่า เกษตรกรส่วนใหญ่จะมีภาระภาษีลดลงเมื่อเทียบกับภาระภาษีที่เสียในปัจจุบัน โดยใน 3 ปีแรกจะยกเว้นให้ แต่นิติบุคคลที่ทำเกษตรกรรมขนาดใหญ่จะมีภาระภาษีเพิ่มขึ้นกว่าที่เสียในปัจจุบัน และเก็บตั้งแต่ปีแรกเลย ส่วนผู้ที่มีรายได้น้อยและปานกลางที่อยู่อาศัยเพียงหลังเดียว และมีมูลค่าไม่เกิน 50 ล้านบาทจะไม่ต้องเสียภาษี แต่ผู้ที่เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยหลายหลังจะมีภาระภาษีเพิ่มสูงขึ้น และผู้ที่เช่าอยู่อาศัยระยะยาวซึ่งปัจจุบันเป็นผู้รับภาระภาษีทางอ้อมอาจะได้รับประโยชน์จากภาษีที่ลดลง สำหรับธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมส่วนใหญ่จะมีภาระภาษีใกล้เคียงหรือลดลงจากที่เสียอยู่ในปัจจุบัน แต่ธุรกิจขนาดใหญ่ซึ่งมีทรัพย์สินมูลค่าสูง จะมีภาระภาษีสูงขึ้นจากอัตราภาษีก้าวหน้า นอกจากนี้ ธุรกิจที่มีลักษณะเป็นบริการสาธารณะ เช่น สถานศึกษาเอกชน จะได้รับการบรรเทาภาระภาษี
                


นายวิสุทธิ์ กล่าวด้วยว่า สำหรับกลุ่มที่ดินรกร้าง จะมีภาระภาษีเพิ่มขึ้นสูง เพื่อกระตุ้นให้เจ้าของที่ดินนำที่ดินดังกล่าวมาใช้ประโยชน์ ช่วยลดปัญหาการกักตุนที่ดินเพื่อเก็งกำไร และอาจทำให้ผู้ที่ไม่มีที่ดินทำกินสามารถเข้าถึงที่ดินเพื่อใช้ประกอบอาชีพได้ อย่างไรก็ตาม อาจจะส่งผลกระทบให้อปท.บางแห่งมีรายได้จากการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างลดลงบ้างเมื่อเทียบกับปัจจุบัน แต่เมื่อมูลค่าของทรัพย์สินที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเพิ่มสูงขึ้นในอนาคต อปท.ก็จะมีทรัพย์สินที่เข้าสู่ฐานภาษีเพิ่มขึ้น และมีรายได้ภาษีเพิ่มขึ้นในอนาคต

 

จนกระทั่งเวลา 17.45 น. ที่ประชุมสนช.ได้อภิปรายจนครบ 94 มาตราแล้ว นายสุรชัยได้แจ้งต่อที่ประชุมสนช.ว่า เนื่องจากการลงมติในวาระ 2 เป็นรายมาตรานั้นต้องใช้เวลามาก ดังนั้น จึงขอเลื่อนไปลงมติในวาระ 2 และ 3 ในวันที่ 16 พ.ย.แทน พร้อมกับสั่งปิดการประชุม

 

ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า ในบทเฉพาะกาลยังระบุด้วยว่า ให้ร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป เว้นแต่การจัดเก็บภาษีสำหรับที่ดินและสิ่งปลูกสร้างตามร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.2563 เป็นต้นไป

หน้าแรก » การเมือง