วันเสาร์ ที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2567 11:19 น.

การเมือง

มท.1 เร่งขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากสร้างรายได้ประชาชนมีความสุข

วันศุกร์ ที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2562, 20.06 น.

มท.1 เร่งขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากและประชารัฐ (E3) บูรณาการทุกภาคส่วนสู่เป้าหมาย “สร้างรายได้ให้ชุมชน ประชาชนมีความสุข”

เมื่อวันที่ 13 ธ.ค.62 พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในฐานะหัวหน้าทีมภาครัฐ คณะทำงานการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากและประชารัฐ เป็นประธานพิธีเปิดและมอบนโยบายการประชุมเชิงปฏิบัติการพัฒนากลไกขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากและประชารัฐระดับประเทศ โดยมี นายฐาปน สิริวัฒนภักดี กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ในฐานะหัวหน้าทีมภาคเอกชน นายอภิชาติ โตดิลกเวชช์ สมาชิกวุฒิสภา นายฉัตรชัย พรหมเลิศ ปลัดกระทรวงมหาดไทย นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน ดร.มีชัย วีระไวทยะ ประธานกรรมการ บริษัท ประชารัฐรักสามัคคี วิสาหกิจเพื่อสังคม (ประเทศไทย) คณะทำงานการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากและประชารัฐ ผู้บริหารกรมการพัฒนาชุมชน พัฒนาการจังหวัด และภาคีเครือข่ายภาครัฐ ภาคเอกชนจากทั่วประเทศ ร่วมรับมอบนโยบายครั้งนี้กว่า 400 คน ณ ห้องประชุมแกรนด์บอลรูม 2 โรงแรมรามา การ์เด้นส์ ถ.วิภาวดีรังสิต กรุงเทพมหานคร

พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา กล่าวขอบคุณภาคีเครือข่ายภาคเอกชนทุก ๆ หน่วยงานที่ได้ขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากและประชารัฐอย่างต่อเนื่องตลอดระยะเวลา 4 ปีที่ผ่านมา ทำให้ชุมชนได้รับการต่อยอดและส่งเสริมให้เศรษฐกิจฐานรากมีความเข้มแข็ง และในส่วนภาครัฐ "พัฒนากร" ถือเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในฐานะ "พี่เลี้ยง" หรือ "โค้ช" ที่อยู่ใกล้ชิดกับประชาชนและชุมชนที่สุด จึงถือเป็นส่วนสำคัญในการบูรณาการประสานงานกับประชาชนด้วยการต่อยอดตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงใน 5 กระบวนงาน ได้แก่ การเข้าถึงปัจจัยการผลิต การสร้างองค์ความรู้ การตลาด การสื่อสารสร้างการรับรู้เพื่อความยั่งยืน และการบริหารจัดการ และอาศัยเทคนิคการทำงานของภาคเอกชนในการส่งเสริมศักยภาพและพัฒนาสินค้าและบริการของประชาชนในพื้นที่ เช่น รูปแบบผลิตภัณฑ์ ระบบขนส่งกระจายสินค้า และระบบการตลาด โดยผู้ว่าราชการจังหวัดต้องใช้กลไกคณะกรรมการประสานและขับเคลื่อนนโยบายสานพลังประชารัฐประจำจังหวัด (คสป.) เป็นจุดเริ่มต้นของการบูรณาการต่อยอดให้เกิดการพัฒนาดังกล่าว

“ขอชื่นชมการดำเนินการที่ผ่านมา มีผลสำเร็จเป็นรูปธรรมในหลาย ๆ จังหวัด กว่า 900 โครงการ ได้แก่ น่าน ส้ม กาญจนบุรี ผักปลอดสารพิษ สุโขทัย ผ้าขาวม้า เป็นต้น เป้าหมายต่อไป คือ คสป.ต้องดำเนินการขับเคลื่อนทั้ง 5 กระบวนงานอย่างต่อเนื่อง โดยอาจเป็นการพัฒนาสินค้าตัวเดิมให้มีคุณภาพมากยิ่งขึ้น หรือผลิตสินค้าตัวใหม่ และในอนาคตข้างหน้า อาจจะมีการจัดตั้งกองทุนประชารัฐรักสามัคคี เพื่อเป็นช่องทางเข้าถึงแหล่งเงินทุนให้กับผู้ประกอบการ และส่งเสริมเรื่องของการทำการตลาดให้ผู้ประกอบการมีช่องทางในการกระจายสินค้ามากยิ่งขึ้น สำหรับการประชุมเชิงปฏิบัติการในวันนี้ขอให้ทุกคนได้แลกเปลี่ยนข้อมูลโอกาสในการพัฒนา เพื่อนำไปปรับปรุงพัฒนาผลิตภัณฑ์ในแต่ละพื้นที่ต่อไป” พลเอก อนุพงษ์ฯ กล่าว พร้อมได้เยี่ยมชมความก้าวหน้าของการพัฒนากลไกเศรษฐกิจฐานรากและประชารัฐผ่านโครงการระดับประเทศ เช่น โครงการผ้าขาวม้าท้องถิ่น หัตถศิลป์ไทย โครงการสานพลังเพื่อบ้านเกิด โครงการเครื่องสีข้าวขนาดครัวเรือน โครงการโรงพยาบาลอาหารปลอดภัย โครงการสะพายสายแนว และแหล่งตลาดเกษตรอินทรีย์ เกษตรปลอดภัย เป็นต้น

นายฐาปน สิริวัฒนภักดี กล่าวว่าการทำงานของคณะทำงานที่ผ่านมา ได้ดำเนินการตามกรอบความร่วมมือ "ชุมชนลงมือทำ เอกชนขับเคลื่อน รัฐบาลสนับสนุน" โดยน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และพระปฐมบรมราชโองการของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มาขับเคลื่อนเพื่อบรรลุเป้าหมายความยั่งยืน 17 ด้านขององค์การสหประชาชาติ โดยมีความก้าวหน้า คือ สามารถดำเนินโครงการกว่า 900 โครงการ ใน 3,000 ชุมชน 68,000 ครัวเรือน เกิดการลดความเหลื่อมล้ำ และสร้างความยั่งยืนของเศรษฐกิจฐานราก ด้วยพลังชุมชนและศักยภาพของเครือข่าย

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน กล่าวว่าตามที่กระทรวงมหาดไทย ได้รับมอบหมายภารกิจในการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากให้เกิดความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน ตามเป้าหมายของรัฐบาล และยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ให้มีประสิทธิภาพ เกิดผลสัมฤทธิ์อย่างเป็นรูปธรรม โดยคณะทำงานการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากและประชารัฐ (E3) ซึ่งมี พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นหัวหน้าทีมภาครัฐ และมีนายฐาปน  สิริวัฒนภักดี กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) เป็นหัวหน้าทีมภาคเอกชน มีเป้าหมายหลักในการ “สร้างรายได้ให้ชุมชน ประชาชนมีความสุข” ดำเนินการ 5 กระบวนการ ได้แก่ การเข้าถึงปัจจัยการผลิต การสร้างองค์ความรู้ การตลาด การสื่อสารสร้างการรับรู้ เพื่อความยั่งยืน และการบริหารจัดการ มีกลไกขับเคลื่อนงานในพื้นที่ 2 กลไก ได้แก่ คณะกรรมการประสานและขับเคลื่อนนโยบายสานพลังประชารัฐประจำจังหวัด (คสป.) มีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน และบริษัท ประชารัฐรักสามัคคีจังหวัด (วิสาหกิจเพื่อสังคม) จำกัด 76 แห่ง โดยบริษัท ประชารัฐรักสามัคคี วิสาหกิจเพื่อสังคม (ประเทศไทย) จำกัด 1 แห่ง ทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยง ขับเคลื่อนงานภายใต้แนวคิดวิสาหกิจเพื่อสังคม (Social Enterprise : SE) มีเป้าหมายหลักเพื่อสังคม ไม่ใช่เพื่อกำไรสูงสุด รายได้หลักมาจากการขายสินค้าและบริการ กำไรต้องนำไปใช้ขยายผลไม่ใช่ปันผล มีการบริหารจัดการตามหลักธรรมาภิบาลและจดทะเบียนเป็นรูปแบบบริษัท เพื่อให้เกิดการบูรณาการความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน ในการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากให้ไปในทิศทางเดียวกัน นำไปสู่การปฏิบัติให้เกิดผลอย่างต่อเนื่องเป็นรูปธรรม นำไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน

“การขับเคลื่อนการดำเนินงานเศรษฐกิจฐานรากและประชารัฐที่ว่า ชุมชนลงมือทำ เอกชนขับเคลื่อน และรัฐสนับสนุน นั้น กล่าวคือ รัฐบาลให้การสนับสนุนการดำเนินงาน และเอกชน ขับเคลื่อนส่งเสริมให้ชุมชนลงมือทำ เพราะการดำเนินงานจำเป็นต้องมีผู้นำ ซึ่งผู้นำจะทำให้ชุมชนลงมือทำ ส่งผลให้ชุมชนพึ่งพาตนเองได้ในที่สุด อีกทั้งการจัดให้มีคณะทำงานจากส่วนกลางที่จะไปประเมินและส่งผลให้ คสป. เพื่อจะได้ทราบปัญหาและนำไปปรับพัฒนาการขับเคลื่อนให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น สุดท้ายขอเรียนให้ทราบว่า สิ่งที่ ท่าน มท.1 และคุณฐาปน ได้กล่าวในวันนี้ จะส่งไปถึงผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด เพื่อการผลักดันการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง โดยทุกภาคส่วนจะร่วมสานพลังเพื่อทำให้พี่น้องในชุมชนทั่วประเทศมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น สร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ ได้อย่างแท้จริง ซึ่งผลที่เกิดขึ้นจะสำเร็จ เห็นผลช้า เร็ว ไม่สำคัญ จะทำมาก ทำน้อย ก็ไม่สำคัญ แต่ที่สำคัญต้องต่อเนื่อง เพื่อความยั่งยืน” อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน กล่าวทิ้งท้าย

หน้าแรก » การเมือง