วันเสาร์ ที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2567 13:47 น.

การเมือง

แก้ปัญหา​พีมูฟวนในอ่าง “วิษณุ” ตั้งสารพัดกรรมการซื้อเวลา

วันศุกร์ ที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563, 19.01 น.

“วิษณุ” นั่งหัวโต๊ะถกแก้ปัญหา​พีมูฟ ตั้งสารพัดกรรมการวนในอ่างศึกษาแก้ไขความเหลื่อมล้ำ ขายฝัน 3​ เดือนคืบหน้า

วันที่ 14 ก.พ.​63​ ที่ทำเนียบรัฐบาล ได้มีการประชุมคณะกรรมการแก้ไขปัญหาของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม ครั้งที่ 1/2563 โดยมี นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน นายเทวัญ ลิปตพัลลภ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นรองประธาน โดยใช้เวลาในการประชุม 3 ชั่วโมง โดยที่ประชุมได้พิจารณา 2 เรื่อง ได้แก่ กรอบแนวทางการดำเนินการของคณะกรรมการแก้ไขปัญหาของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม และผลการดำเนินการของคณะอนุกรรมการ

กรณีกรอบแนวทางการดำเนินการของคณะกรรมการแก้ไขปัญหาของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม ที่ประชุมมีการกำหนดกรอบให้มีการประชุมคณะกรรมการ 2 เดือนต่อ 1 ครั้ง โดยให้คณะอนุกรรมการ​ 10​ คณะ​ ซึ่งมีรัฐมนตรีเป็นประธาน​มีการประชุมก่อนการประชุมคณะกรรมการ เพื่อนำผลการประชุมมาพิจารณา โดยให้มีข้อสรุปภายใน 90 วัน หากติดขัดให้ได้ข้อสรุปว่าติดขัดที่กฎหมาย หรือติดขัดในส่วนไหนจะได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาต่อไป กรณีที่หาข้อสรุปไม่ได้ให้ นายเทวัญ ลิปตพัลลภ รองประธานคณะกรรมการลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริง ตลอดจนให้หัวหน้าหน่วยงานแจ้งมติคณะกรรมการ และคณะอนุกรรมการไปยังหน่วยงานในระดับปฏิบัติในพื้นที่

กรณีการดำเนินการของคณะอนุกรรมการ ได้มีการจัดประชุม 4​ อนุกรรมการ ได้แก่ อนุกรรมการแก้ไขที่ดินในความรับผิดชอบของกระทรวงทรัพยากร ฯ อนุกรรมการแก้ไขปัญหาที่สาธารณะประโยชน์ฯ คณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาความมั่นคงในที่อยู่อาศัย พื้นที่ทำกิน และพื้นที่ทางจิตวิญญาณของกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเล และชาวกะเหรี่ยง และคณะทำงานประสานงานเร่งรัดติดตามการแก้ไขปัญหาและขับเคลื่อนนโยบาย 9 ด้าน และมีการกำหนดวันประชุม 2​ อนุกรรมการ ส่วนที่เหลืออีก 4​ อนุกรรมการยังไม่ได้กำหนดจัดการประชุม ซึ่งที่ประชุมได้เร่งรัดให้มีการจัดการประชุม

กรณีอนุกรรมการกระทรวงทรัพยากรได้มีการกำหนดกรอบการทำงานให้ได้ข้อสรุปภายใน 90 วัน โดยให้หน่วยงานรายงานการดำเนินการทุก 15 วัน ตลอดจนมีการสั่งการและประสานงานหน่วยงานในพื้นที่ ซึ่งที่ผ่านมามีช่องว่างในการดำเนินการ

ในส่วนคดีความมี 2 เรื่องเร่งด่วนที่กรรมการภาคประชาชนเร่งรัดให้มีการดำเนินการ ได้แก่ กรณีนายซาโหด ภักดี ชาวบ้านเกาะตราครุฑ จ.ระนอง ที่ดินเนื้อที่ 1 ไร่ 2 งาน อัยการสรุปสำนวนสั่งฟ้อง มีข้อเสนอให้มีการประสานงานอัยการจังหวัดให้มีการเลื่อนการสั่งฟ้อง เพื่อรอให้อนุกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง และกรณีบ้านน้ำพุ จังหวัดเลย ซึ่งมีกลไกระดับจังหวัด แต่เจ้าหน้าที่ของกรมป่าไม้ขอสงวนการลงมติในที่ประชุม อีกทั้งมีการจับกุมชาวบ้านเพิ่มเติม มีข้อเสนอให้อธิบดีกรมอุทยานสั่งการให้ยุติการดำเนินการไว้เพื่อให้กรรมการได้ตรวจสอบข้อเท็จจริง นอกจากนี้ มีข้อเสนอให้มีการเร่งรัดทบทวนมติ ครม. วันที่ 26 พ.ย. 61 เรื่องพื้นที่เป้าหมายและกรอบมาตรการแก้ไขปัญหาการอยู่อาศัยและทำกินในพื้นที่ป่าไม้ เนื่องจากแนวทางและมาตรการตามมติ ครม. ดังกล่าว ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงในพื้นที่

กรณีอนุกรรมการแก้ไขปัญหาที่สาธารณะประโยชน์ และที่ดินเอกชนปล่อยทิ้งร้าง ได้ข้อยุติกรณีชุมชนมะลิแก้ว จ.ภูเก็ต และมี 2 กรณีที่หาข้อสรุปไม่ได้ ได้แก่ กรณีชุมชนทับยาง จ.พังงา และกรณีนางหนูเดือน แก้วบัวขาว บ้านหนองกินเพล จ.อุบลราชธานี ทั้งนี้ นายเทวัญ ลิปตพัลลภ รองประธานคณะกรรมการ จะลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีชุมชนทับยางในสัปดาห์หน้า หลังจากนั้นจะลงพื้น​ที่​ตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณี​ชุมชนหนองกินเพลต่อไป

นายจำนงค์ หนูพันธ์ ประธานคณะกรรมการขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม หรือพีมูฟ กล่าวว่า บรรยากาศในการประชุมในวันนี้ดีขึ้นกว่าครั้งที่ผ่านมา ไม่มีการถกเถียงโดยใช้อารมณ์ เนื่องจากได้มีการประชุมอนุกรรมการในบางคณะ และมีการเตรียมการประชุมกันมาก่อน ที่ประชุมมีการกำหนดกรอบการทำงานให้อนุกรรมการมีการประชุมอย่างน้อย 2 เดือนครั้ง การแก้ไขปัญหารายกรณีต้องมีความคืบหน้าภายใน 90 วัน เรื่องที่อนุกรรมการทำไม่ได้ให้คณะกรรมการพิจารณา หากคณะกรรมการตัดสินใจไม่ได้ให้นายกรัฐมนตรี หรือคณะรัฐมนตรีพิจารณา ส่วนเรื่องที่ยังน่าเป็นห่วงคือเรื่องคดีความ เนื่องจากประธานบอกว่าให้เป็นไปตามกระบวนการ

นายจำนงค์ จิตรนิรัตน์ ที่ปรึกษาพีมูฟ กล่าวว่า การประชุมยังไม่มีประสิทธิผลเต็มที่ เนื่องจากอนุกรรมการหลายชุดยังไม่มีการประชุมก่อนหน้านี้ ส่วนอนุกรรมการที่มีการประชุมได้มีการรับรองผลการประชุมให้มีการดำเนินการต่อไป ประธานมีทัศนคติในเชิงบวกในการดำเนินการประชุม มีความเป็นกันเอง ทำให้ทุกคนได้พูด

"การประชุมครั้งหน้า​ ที่มีการประชุมอนุกรรมการครบแล้ว มีการดำเนินการในระดับกระทรวงจะมีรูปธรรมความคืบหน้าในการแก้ไขปัญหามากขึ้น การมอบหมายให้ รมต.ประจำสำนักนายก ฯ ลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงน่าจะมีข้อสรุปในข้อพิพาทที่ยังหาข้อสรุปไม่ได้ น่าจะมีทางออกที่ชัดเจนขึ้น เช่น กรณีบ้านทับยาง โดยอำนาจของประธานต้องเร่งให้กลไกต่าง ๆ อนุกรรมการ คณะทำงาน ประชุมต่อเนื่อง มิฉะนั้นจะเข้าสู่วังวนเดิมเหมือนรัฐบาลชุดที่ผ่านมา ที่มีการเจรจากันหลายปีแต่ไม่มีข้อสรุป เพราะการดำเนินการไม่สม่ำเสมอ ทำให้หน่วยงานต่าง ๆ ไม่กระตือรือร้นในการดำเนินการ" นายจำนงค์กล่าว

หน้าแรก » การเมือง