วันศุกร์ ที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2567 15:29 น.

การเมือง

"สมคิด"หนุนนำแนวเศรษฐกิจพอเพียง พลิกวิกฤติผลกระทบโควิด-19

วันศุกร์ ที่ 27 มีนาคม พ.ศ. 2563, 13.52 น.

"สมคิด"นำเคาะมาตรการดูแลและเยียวยาเศรษฐกิจจากผลกระทบโควิด-19 ชุดที่ 3 ใช้วิกฤตให้เป็นโอกาส หนุนใช้โมเดลแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงในรัชกาลที่ 9 เร่งสร้างความเข้มแข็งในท้องถิ่นฟื้นฟูเศรษฐกิจฐานราก

วันที่  27 มี.ค.63 ที่ประชุมร่วมคณะกรรมการเพื่อกำหนดมาตรการดูแลและเยียวยาผลกระทบทางเศรษฐกิจจากการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ซึ่งประกอบด้วย กระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สมาคมธนาคารไทย และสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)โดยมีนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธานได้มีการหารือเรื่องของมาตรการดูแลผลกระทบทางเศรษฐกิจจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในระยะที่ 3 หรือมาตรการชุดที่ 3

นายสมคิด  กล่าวว่า ในขณะนี้สถานการณ์ของเศรษฐกิจเริ่มหยุดชะงัก ประชาชนถูกจำกัดให้ต้องอยู่ที่บ้านเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 โดยรัฐบาลจะทำทุกวิถีทางเพื่อให้โรคระบาดนี้หยุดการแพร่ระบาดให้เร็วที่สุด เพื่อให้การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจเป็นไปได้ด้วยเร็ว

ทั้งนี้ที่ประชุมได้มอบหมายให้กระทรวงการคลังเตรียมการออกมาตรการชุดที่ 3 เนื่องด้วยมีประชาชนส่วนใหญ่เดินทางกลับภูมิลำเนา ซึ่งอาจจะทำให้ไม่มีงานทำในชุมชนของตนเอง จึงต้องมีการออกมาตรการพิเศษเพื่อที่จะช่วยคนกลุ่มนี้ให้มีงานทำในชุมชนต่างๆ โดยให้สามารถทำงานได้ภายในบ้าน หมู่บ้าน หรือภายในจังหวัดที่อยู่อาศัยได้ ซึ่งเป็นกิจกรรมทางเศรษฐกิจภายในท้องถิ่น ให้สามารถมีรายได้ และประคับประคองเศรษฐกิจของประเทศใน 2-3 เดือนข้างหน้าได้

สำหรับการดำเนินการดังกล่าวจะต้องสอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงที่กำลังเกิดขึ้น และถือโอกาสใช้วิกฤตนี้สร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนท้องถิ่น ในรูปแบบ "เศรษฐกิจพอเพียงตามแนวทางพระราชดำริในรัชกาลที่ 9 เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจชาติ" 

ซึ่งจะจัดสรรงบประมาณกระจายไปในหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อใช้ในการสร้างความเข้มแข็งภายในท้องถิ่น ให้มีการผลิต การจ้างงาน สร้างตลาด โดยมี กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) และ ธ.ออมสิน เป็นแกนหลัก และต้องหาช่องทางการตลาด ซึ่งจะต้องมีหน่วยงานอื่นๆเข้ามาสนับสนุน เช่น ปตท. มีสถานีบริการน้ำมันเป็นพื้นที่กระจายสินค้า เป็นต้น นี่คือโอกาสที่เกิดขึ้น

"อย่างไรก็ตามงบประมาณที่ใช้ ซึ่งมีการกล่าวถึง การใช้ พ.ร.ก.กู้เงินจำนวน 200,000 ล้านนั้น ก็สามารถทำได้เนื่องจากความเข้มแข็งทางการเงินการคลังของประเทศนั้นยังอยู่ในเสถียรภาพที่ดีอยู่" นายสมคิดกล่าว

ด้านนายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ในขณะนี้ได้มีการเตรียมการการเร่งจัดทำโครงการไว้แล้วบางส่วน โดยมีเหตุผลเฉพาะหน้าคือการแก้ไขปัญหาและดูแลผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19

ทั้งในส่วนของประชาชน และผู้ประกอบการ ขณะที่การจัดสรรงบประมาณต่อจากนี้นั้น จะต้องดูแลครอบคลุมทั้งเรื่องของประชาชน ผู้ประกอบการ ธุรกิจ และเศรษฐกิจของประเทศควบคู่ไปด้วย ซึ่งจะต้องเร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศ ด้วยการฟื้นฟูเศรษฐกิจในระดับฐานรากให้แข็งแกร่ง

หน้าแรก » การเมือง