วันพฤหัสบดี ที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2567 04:03 น.

การเมือง

"เฉลิมชัย"สั่งการทุกหน่วยฝ่าโควิด-19เร่งบริหารจัดการผลไม้ภาคตะวันออก

วันพุธ ที่ 08 เมษายน พ.ศ. 2563, 09.07 น.

 "เฉลิมชัย"สั่งการทุกหน่วยฝ่าโควิด-19เร่งบริหารจัดการผลไม้ภาคตะวันออก ขณะที่ "พาณิชย์"รวมมาตรการทางการค้าหวังพลิกวิกฤตเป็นโอกาสส่งออกสินค้าเกษตรไทย ทางด้าน "ธนกร" คาดคลังจ่ายเยียวยา5พันวันแรก2.5 แสนคน แนะประชาชนกดตู้เอทีเอ็ม ส่วน  "ลดาวัลลิ์"เสนอ"บิ๊กตู่"ถึงฝ่ายค้านร่วมแก้โควิดแห่งชาติ

วันที่ 8 เมษายน พ.ศ.2563 นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์กล่าวว่า ขณะนี้ผลไม้ภาคตะวันออกเริ่มให้ผลผลิตแล้ว โดยสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) รายงานว่า ไม้ผล 4 ชนิดได้แก่ ทุเรียน มังคุด เงาะ และลองกองมีผลผลิตรวม 995,501ตัน เพิ่มขึ้นจากปี 2562 ที่มีจำนวน 886,959 ตัน หรือเพิ่มขึ้น ร้อยละ12 โดย ทุเรียนให้ผลผลิต 550,035 ตัน เงาะ 210,637 ตัน  มังคุด 212,345 ตัน และลองกอง 22,484 ตัน โดยผลผลิตจะออกมากช่วงปลายเดือนเมษายนต่อเนื่องถึงกลางเดือนพฤษภาคม ขณะนี้ราคาผลไม้ต้นฤดูเกณฑ์สูง จุดรวบรวมหรือล้งปรับเปลี่ยนการรับซื้อผลผลิตทุเรียนแบบเหมาสวนเป็นการเหมาแบบตีราคาเดือนต่อเดือนซึ่งเดือนมีนาคมอยู่ที่130-155 บาทต่อกิโลกรัม ส่วนราคาเหมาล่วงหน้าเดือนเมษายนถึงวันที่ 10 พฤษภาคมอยู่ที่ 15-130 บาทต่อกิโลกรัมซึ่งเกษตรกรพึงพอใจ

ขณะนี้จีนซึ่งเป็นตลาดใหญ่ซึ่งนำเข้าผลไม้จากไทยมีสัญญานความต้องการทุเรียนและมังคุด แต่จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ยังยืดเยื้ออยู่ส่งผลให้ระบบขนส่งและการนำสินค้าผ่านด่านศุลการกรของจีนยังไม่เป็นปกติ ตลาดต่างประเทศกำหนดเข้มเกี่ยวกับคุณภาพและความปลอดภัยของสินค้าเกษตรเพิ่มเติมจากที่มีมาตรฐาน GAP และ GMP โดยเน้นมาตรฐานตรวจรับรองการปลอดเชื้อของสินค้าและบรรจุภัณฑ์ด้วยซึ่งสั่งการให้กรมวิชาการเกษตรเร่งดำเนินการเพื่ออำนวยความสะดวกในการส่งออก ขณะเดียวกันให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทำแผนปฏิบัติการรองรับการบริหารจัดการ กรณีที่การส่งออกลดลง โดยเน้นส่งเสริมการบริโภคภายในประเทศ จำหน่ายตรงกับผู้บริโภค จำหน่ายผ่านหน่วยงานราชการหรือวิสาหกิจชุมชนต่างๆ  ซื้อขายผ่านกลไกสหกรณ์การเกษตร รวมถึงตลาด Modern Trade ตลาดกลางสินค้าเกษตรต่างๆ และการซื้อขายผ่านระบบ online ตลอดจนแปรรูปผลผลิตเพื่อเพิ่มมูลค่าและยืดอายุสินค้าเกษตร ทั้งนี้กำหนดแนวทางส่งเสริมการบริโภคสินค้าเกษตรในประเทศซึ่งมีคุณภาพดีเยี่ยมภายใต้ คำขวัญ "ซื้อสินค้าเกษตรไทย เกษตรกรอยู่ได้ ประเทศไทยอยู่รอด" 

"พาณิชย์"รวมมาตรการทางการค้าหวังพลิกวิกฤตเป็นโอกาสส่งออกสินค้าเกษตรไทย

นายวีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ได้สั่งการให้กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ติดตามมาตรการทางการค้าที่ประเทศต่างๆ ใช้รับมือกับการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 พบว่าประเทศต่างๆ ได้มีการใช้มาตรการจำกัดการส่งออกสินค้าที่จำเป็น เช่น สินค้าอาหาร และสินค้ากลุ่มหน้ากากและอุปกรณ์ทางการแพทย์ เพื่อป้องกันการขาดแคลนในประเทศ  ตลอดจนมาตรการยกเลิกการเก็บภาษีนำเข้ากับสินค้าที่ผลิตไม่เพียงพอในประเทศและจำเป็นต้องนำเข้า ซึ่งข้อมูลเหล่านี้จะเป็นประโยชน์ต่อการหาตลาดให้กับสินค้าเกษตรไทยที่มีปริมาณผลิตมากเกินความต้องการในประเทศ และจะเป็นโอกาสในการขยายการส่งออกของไทยในภาวะวิกฤติเพื่อสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรและผู้ประกอบการไทย 

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า จากการติดตามมาตรการทางการค้าของประเทศต่างๆ เพื่อรับมือกับการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 พบว่าหลายประเทศยกเลิกการเก็บภาษีนำเข้าสินค้าหน้ากากอนามัย อุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล (Personal Protective Equipment : PPE) หรืออุปกรณ์ทางการแพทย์ที่จำเป็นสำหรับรักษาหรือรับมือโควิด-19 เป็นการชั่วคราว เช่น บูรไน สปป.ลาว ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย นิวซีแลนด์ สหภาพยุโรป ฮ่องกง และรัสเซีย เป็นต้น และมีหลายประเทศกำหนดเงื่อนไขส่งออก หรือห้ามส่งออกหน้ากากอนามัย ชุด PPE เครื่องช่วยหายใจ หรืออุปกรณ์ที่จำเป็นทางการแพทย์ เป็นการชั่วคราว เช่น อินเดีย สหภาพยุโรป ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย รัสเซีย สปป.ลาว อินโดนีเซีย มาเลเซีย และเวียดนาม เป็นต้น

นางอรมน เพิ่มเติมว่า นอกจากนี้ยังมีมาตรการทางการค้าอื่นๆ ที่หลายประเทศนำมาใช้ในช่วงการระบาดของไวรัสโควิด-19 เช่น อินโดนีเซีย ยกเลิกการกำหนดให้ต้องขอใบอนุญาตนำเข้ากระเทียมและหัวหอม (brown onion) จากกระทรวงการค้า และกระทรวงเกษตร เป็นการชั่วคราว จนถึงเดือนพฤษภาคม 2563 รวมทั้งเตรียมลดภาษีนำเข้ากับสินค้า 749 รายการ เช่น ถั่วเหลือง ข้าวโพด อาหาร สิ่งทอ รองเท้า เซรามิกส์ และอุปกรณ์โทรคมนาคม ตลอดจนจะยกเลิกภาษีนำเข้าและเพิ่มโควตานำเข้าน้ำตาลจากอินเดีย ออสเตรเลีย และไทย เป็นต้น สหรัฐฯ ยกเว้นการเก็บภาษีนำเข้ากับสินค้าอุปกรณ์ทางการแพทย์เพื่อรักษาหรือป้องกันโควิด-19 จากจีน เป็นการชั่วคราว ยกเลิกการห้ามนำเข้าถุงมือยางจากมาเลเซียเป็นการชั่วคราวจากเดิมห้ามนำเข้าเพราะเหตุผลด้านแรงงาน จีน อนุญาตให้ส่งออกหน้ากากอนามัยเฉพาะที่ได้รับอนุญาตจากหน่วยงานบริหารสินค้าทางการแพทย์ (National Medical Product Administration: NMPA) ออสเตรเลีย สนับสนุนเครื่องบินเพื่อขนส่งอาหารสดที่เดิมไม่สามารถส่งออกได้ ไปยังจีน ญี่ปุ่น สิงคโปร์ ฮ่องกง UAE และเปิดโอกาสให้ขนส่งนำอุปกรณ์ทางการแพทย์และยาจำเป็นเพื่อรักษาโควิด-19 ในเที่ยวกลับ และรัสเซีย ห้ามการส่งออกธัญพืชชั่วคราว เป็นต้น

ทั้งนี้ ผู้ประกอบการ สามารถติดตามข้อมูลเกี่ยวกับมาตรการทางการค้าเพื่อรับมือกับการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ของประเทศต่างๆ ได้ ผ่านเว็บไซต์ของกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ www.dtn.go.th

"ธนกร"คาดคลังจ่ายเยียวยา5พันวันแรก2.5 แสนคน แนะประชาชนกดตู้เอทีเอ็ม 

นายธนกร วังบุญคงชนะ เลขานุการรมว.คลัง  เปิดเผยถึงมาตรการเยียวยา5000 บาทว่า  ประชาชนผู้ได้รับสิทธิ์เงินเยียวยา 5,000 บาทกลุ่มแรกซึ่งจะมีการแจ้งผล และโอนเงินให้ในวันนี้(8 เม.ย.)มีประมาณ 250,000 ราย ทั้งนี้ การประกาศสิทธิ์จะทยอยประกาศผลและจ่ายเงินในแต่ละวันตามลำดับผลการคัดกรอง ไม่ได้กำหนดโควต้าว่าจะจ่ายวันละกี่คน สำหรับผู้ที่ใช้พร้อมเพย์ที่ผูกกับเลขบัตรประชาชนไว้จะสะดวกมาก เพราะเงินจะเข้าในบัญชีเลย สามารถทำธุรกรรมทางการเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์ผ่านบัญชีธนาคารใดก็ได้ที่ผูกไว้ แต่สำหรับประชาชนที่ไม่มีพร้อมเพย์ เมื่อได้รับเงินแล้วขอแนะนำให้ใช้การถอนเงินสดจากตู้ ATM หรือ Net Banking เป็นหลัก อย่าพยายามไปใช้บริการที่สาขาธนาคารเป็นจำนวนมากๆ เพราะจะเสี่ยงติดเชื้อโควิด-19 

นายเทพไท เสนพงศ์ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า อยากจะตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับการจำกัดจำนวนผู้มีสิทธิ์ได้รับการเยียวยา 9 ล้านคนนั้น เป็นจำนวนที่ครอบคลุมผู้ด้อยโอกาสทางสังคมทั้งหมดหรือไม่ รัฐบาลประเมินตัวเลขจากข้อมูลใด เพราะที่ผ่านมารัฐบาลเคยประเมินตัวเลขผู้ที่ได้รับการเยียวยาผิดพลาด เคยตั้งไว้จำนวน 3 ล้านคน แต่กลับมีผู้ลงทะเบียนขอใช้สิทธิเลือกตั้งเยียวยามากถึง 24 ล้านคน ถ้าใช้ฐานข้อมูลที่ได้ลงทะเบียนไว้ และมีการคัดกรองให้เหลือ 9 ล้านคน จะเป็นการตัดสิทธิ์ผู้เดือดร้อนที่แท้จริงจำนวนมากหรือไม่ เกรงว่ายังไม่ครอบคลุมผู้เดือดร้อนได้ทั้งหมด  

นายราเมศ รัตนะเชวง โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ ได้กล่าวถึงการทำงานของบุคลากรของพรรคในแต่ละพื้นที่ว่า ตั้งแต่เริ่มการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด 19 บุคลากรของพรรคที่อยู่ประจำแต่ละพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็น ส.ส. อดีต ส.ส. สาขาพรรค และตัวแทนพรรคประจำจังหวัดประจำเขตเลือกตั้ง ได้ร่วมกันช่วยเหลือพี่น้องประชาชนในทุกๆด้าน หลายพื้นที่ ส.ส.ได้จัดทำหน้ากากผ้า เจลล้างมือเพื่อแจกจ่ายพี่น้องประชาชน รวมถึงการสนับสนุนการปฏิบัติงานของบุคลากรทางการแพทย์ ทุกปัญหาความเป็นอยู่ ประชาชนสามารถใช้บริการ ขอคำปรึกษา ขอความช่วยเหลือจากบุคลากรของพรรคได้ทุกคน 

นายราเมศ ยังกล่าวต่อว่านอกจากนี้ยังมีกำลังสำคัญหลักในส่วนของรัฐมนตรีทุกคนในส่วนของพรรค ที่ได้ทำงานประสานกับทุกพื้นที่ เช่นกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นกระทรวงที่เกี่ยวข้องกับความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชน พร้อมเต็มที่ในการดูแล สถานการณ์นี้เราคนไทยทุกคนจะช่วยกันคนละไม้ละมือก้าวข้ามไปด้วยกัน

 "ลดาวัลลิ์"เสนอ"บิ๊กตู่"ถึงฝ่ายค้านร่วมแก้โควิดแห่งชาติ

นางลดาวัลลิ์ วงศ์ศรีวงศ์ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงแรงงานเปิดเผยว่า ตนเห็นด้วยที่พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชานายกรัฐมนตรีประกาศให้สถานการณ์โควิด-19เป็นวาระแห่งชาติ เพื่อให้การแก้ปัญหา
มีประสิทธิภาพเกิดผลดีต่อประเทศและประชาชน ตนขอเสนอให้พล.อ.ประยุทธ์ตั้ง “คณะกรรมการร่วมยุทธศาสตร์
แก้วิกฤตการณ์ไวรัสโควิดแห่งชาติ” โดยเชิญตัวแทนพรรคฝ่ายค้าน พรรคร่วมรัฐบาลมาเข้าร่วม ขณะเดียวกันในคณะกรรมการชุดนี้ นอกจากมีตัวแทนครม. ควรมีภาคส่วนอื่นๆที่สำคัญ เช่น สภาหอการค้าฯ สภาอุตสาหกรรมฯ สมาคมธนาคารฯ ธนาคารแห่งประเทศไทย แพทย์ เป็นต้น
   
นางลดาวัลลิ์กล่าวว่า อำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการร่วมฯ ได้แก่ กำหนดยุทธศาสตร์ นโยบายและติดตามการแก้ไขปัญหาผลกระทบด้านต่างๆ ควบคุมตรวจสอบการแก้ปัญหาความเดือดรัอนของประชาชนและภาคส่วนต่างๆอย่างทั่วถึง มีประสิทธิภาพ และมีความเสมอภาค
   
"หากทำได้ตามนี้ ถือเป็นมิติใหม่ที่รัฐบาลใจกว้าง ทอดไมตรีให้ฝ่ายค้านมาร่วมมือกันแก้วิกฤตชาติที่เปรียบได้กับสงครามโรคระบาด ที่ทำกันอยู่ เป็นเรื่องของรัฐบาลฝ่ายเดียว มีศูนย์บริหารโควิด นายกฯเป็นประธาน และศูนย์ย่อย10ศูนย์ มีหลายเรื่องที่ฝ่ายค้านไม่เห็นด้วย มีหลายอย่างที่ฝ่ายค้านเสนอแนะผ่านสื่อไปถึงรัฐบาล แต่รัฐบาลก็ไม่ได้สนใจ ตอนนี้นายกฯให้สัมภาษณ์แล้วว่ายินดีรับข้อสังเกตจากทุกหน่วยงาน และยังขอให้เห็นใจรัฐบาลด้วย ตนจึงเสนอให้นายกฯตั้งคณะกรรมการร่วมยุทธศาสตร์แก้วิกฤติไวรัสโควิดแห่งชาติขึ้นมา"
    
นางลดาวัลลิ์กล่าวอีกว่า  เพื่อให้การทำงานซึ่งต้องประชุมมีความคล่องตัว ควรประชุมสัปดาห์ละครั้ง ทุกคนมาร่วมเห็นหน้ากัน เว้นระยะห่าง คณะกรรมการร่วมฯนี้อาจสลายตัวเมื่อเปิดประชุมสภาฯหรือตามแต่ทุกฝ่ายจะเห็นสมควร 

 

หน้าแรก » การเมือง