วันพฤหัสบดี ที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2567 12:50 น.

การเมือง

ศอ.บต.ห่วงเศรษฐกิจภาคใต้จัดเวทีเตรียมรับมือหลังโควิด-19

วันเสาร์ ที่ 06 มิถุนายน พ.ศ. 2563, 15.31 น.

ศอ.บต. "ห่วง" เศรษฐกิจภาคใต้ จัดเวที ระดมแนวคิด-ทางออก เตรียมรับมือหลังโควิด-19  "ชู"อุตสาหกรรมแห่งอนาคต "หวัง" เป็นเครื่องจักรเศรษฐกิจขับเคลื่อนภาคใต้

วันที่ 6 มิ.ย.2563  ที่โรงแรมบุรีศรีภู อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา  ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้(ศอ.บต.) จัดประชุมเชิงปฏิบัติการ กระบวนการสร้างการรับรู้และการสร้างการมีส่วนร่วมของภาคเอกชนในพื้นที่ขับเคลื่อนโครงการในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจอำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา โดยมีหน่วยงานภาคราชการ ภาคประชาสังคม รวมทั้งนักธุรกิจ ภาคเอกชน ฯลฯ เข้าร่วมนำเสนอความคิดเห็นเต็มห้องประชุมกว่า 200 คน

นายกวิศพงษ์ สิริธนนนท์สกุล ประธานหอการค้าจังหวัดสงขลา หลัง เปิดเผยว่า "สถานการณ์เศรษฐกิจของพื้นที่ภาคใต้ในช่วงที่ผ่านมาได้ประสบปัญหาทั้งจากภาวะเศรษฐกิจถดถอย ปัญหาด้านต้นทุนการผลิตและราคาของผลผลิตทางการเกษตรไม่ตอบโจทย์ของเป็นรายได้หลักได้ ประกอบกับภาคอุตสาหกรรมและการท่องเที่ยวเกิดความตกต่ำลงตามลำดับ และคาดการณ์ว่าในอนาคตยังคงมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง"
 
ขณะที่ นายสันติ รังสิยาภรณ์รัตน์ ผู้อำนวยการอาวุโส ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคใต้ ได้นำเสนอข้อมูลเศรษฐกิจไทย เศรษฐกิจภาคใต้และเศรษฐกิจจังหวัดสงขลา พบว่า ทั้ง 3 ส่วน ล้วนได้รับผลกระทบจากสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดต่อเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 ทั้งสิ้น โดยเครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจ 5 ตัวหลัก ในภาพรวมหดตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง ส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพด้านเศรษฐกิจของประเทศ ทำให้เกิดภาวะเงินเฟ้อติดลบ และจำนวนการว่างงานเพิ่มขึ้น ที่น่าห่วงอีกประการคือโครงสร้างเศรษฐกิจภาคใต้กว่าร้อยละ 60 ยังคงพึ่งพาภาคเกษตร ท่องเที่ยว การค้าและการผลิตเป็นหลัก และเครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจทั้งหมดยังคงหดตัวมากขึ้น ขณะเดียวกัน รายจ่ายภาครัฐกลับหดตัวสวนทางกับประเทศ คาดการณ์กันว่าจะมีกลุ่มแรงงานที่มีความเสี่ยงต่อการถูกเลิกจ้างกว่า 1.7 ล้านคน ดังนั้นทุกภาคส่วนจึงต้องให้ความสำคัญกับมาตรการฟื้นฟูต่อจากการเยียวยา ไม่ว่าจะเป็นการฟื้นฟูกำลังซื้อในระบบเศรษฐกิจ แรงงาน ภูมิคุ้มกันให้ภาคครัวเรือนและ SMEs ที่เปราะบาง แต่ที่สำคัญที่สุด ต้องรับมือกับความท้าทายของโลกหลังโควิด-19 ที่จะก่อให้เกิดธุรกิจ Sector ใหม่ และการโยกย้ายคน และทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศ อีกด้วย

นายคณิต แสงสุวรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ได้ประชุมทางไกลผ่านสัญญาณโทรทัศน์ เพื่อร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์การพัฒนา ในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก โดยนำเสนอความก้าวหน้าการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกตามเป้าหมายของรัฐบาลที่ต้องการส่งเสริม 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย เพื่อเป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจเพื่ออนาคต โดยขณะนี้ได้มีความก้าวหน้าลงทุนโครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภค เพื่อเพิ่มศักยภาพรองรับการลงทุน และการพัฒนากิจกรรมทางเศรษฐกิจ และอำนวยความสะดวกต่างๆในพื้นที่ รวมทั้งพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ การจัดระบบการสะสมเทคโนโลยีเพื่ออนาคต ที่ยั่งยืนของประเทศไทยอย่างเป็นรูปธรรม

ส่วนตัวแทนของศอ.บต. โดย ดร.ชนธัญ แสงพุ่ม รองเลขาธิการ ศอ.บต. กล่าวว่า        "ศอ.บต. เป็นหน่วยงานรับผิดชอบ ด้านการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้มีการนำเสนอที่มา และความสำคัญของการพัฒนาเศรษฐกิจในพื้นที่ จากการมีเครื่องยนต์เศรษฐกิจใหม่ ตามที่รัฐบาลได้มีมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2559 ประกอบมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2562 และมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 21 มกราคม 2563 ที่ผ่านมา โดยเน้นย้ำใ่นการดำเนินการในเรื่องการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมพื้นที่อำเภอจะนะ เพื่อเป็นเมืองต้นแบบอุตสาหกรรมแห่งอนาคตนั้น เป็นการบังคับใช้มาตรา10 แห่งพ.ร.บ.การบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ.2553 ให้ความสำคัญกับกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชน เพื่อร่วมกันกำหนดและเชื่อมโยงมิติการพัฒนาไปพร้อมกัน เน้นการจัดทำโครงการเพื่อตอบสนองต่อความต้องการของประชาชน ไปพร้อมกับแผนพัฒนาของเอกชน ซึ่งผู้บริหารของภาคเอกชนมีความประสงค์จะเข้าร่วมพัฒนาพื้นที่ ร่วมกับรัฐบาลและประชาชน เพื่อยกระดับเมืองจะนะให้เป็นศูนย์กลางการขนส่งครบวงจร ศูนย์กลางพลังงานไฟฟ้า อุตสาหกรรมสีเขียว อุตสาหกรรมฐานชีวภาพ อุตสาหกรรมเกษตรและอาหารปลอดภัย และอุตสาหกรรมขนส่งทางราง เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาในพื้นที่ไปพร้อมกันอย่างสร้างสรรค์ และเน้นย้ำธุรกิจสีเขียว-สีน้ำเงิน ไม่มีปิโตรเคมีในแผนการพัฒนาแน่นอน ตามที่ผู้บริหารระดับสูง ได้มีเอกสารที่แสดงเจตนารมณ์ ในการดูแลช่วยเหลือประชาชนให้เติบโตไปพร้อมกัน"

 

 

หน้าแรก » การเมือง