วันศุกร์ ที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2567 10:34 น.

การเมือง

16ก.ย.! ศบค.เผยพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่อีก 10 รายมาจาก 5 ปท.

วันพุธ ที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2563, 11.17 น.

เมื่อวันที่ 16 ก.ย. 2563 ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในประเทศวันนี้ว่า พบผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อรายใหม่ 10 คน เดินทางมาจากอินเดีย 2 คน อินโดนีเซีย 2 คน เมียนมา 1 คน เอธิโอเปีย 1 คน และเยเมน 4 คน          

สำหรับจำนวนผู้ป่วยยืนยันสะสมล่าสุดอยู่ที่ 3,490 คน เป็นผู้ป่วยที่ติดเชื้อภายในประเทศ 2,445 คน และผู้ป่วยที่ตรวจพบในสถานที่กักกันที่รัฐจัดให้ 552 คน จำนวนผู้ป่วยรักษาหายแล้วอยู่ที่ 3,316 คน และยังมีผู้ป่วยรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล 116 คน ขณะที่ยอดผู้เสียชีวิตสะสมคงเดิมที่ 58 คน

สธ. เร่งหาผู้สัมผัส หลังเมียนมาพบเด็กติดโควิดจากไทย คาดลักลอบออกนอกปท.
 
นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่าได้รับรายงานว่าเด็กอายุ 2 ขวบ ชาวเมียนมาได้เดินทางออกจากประเทศไทยพร้อมมารดาในวันที่ 4  กันยายน 2563 และต่อมามีการรายงานข่าวการตรวจพบการติดเชื้อโควิด-19 ของเด็กคนดังกล่าวในวันที่ 13 กันยายน 2563 จนเป็นเหตุให้นายอำเภอเมียวดีประกาศเคอร์ฟิวในเวลาต่อมา 14 กันยายน 2563 นั้น กรมควบคุมโรค ได้สั่งการให้ดำเนินการตรวจสอบข้อมูลทั้งจากช่องทางการประสานข้อมูลผ่านกลไกกฎอนามัยระหว่างประเทศ (International Health Regulation) ช่องทางการทูต ทางองค์การอนามัยโลก (WHO) และข้อมูลจากช่องทางเข้าออกระหว่างพรมแดนระหว่างประเทศ  
          
โดยในเบื้องต้น จากการตรวจสอบผู้เดินทางผ่านช่องทางเข้าออกระหว่างประเทศอำเภอแม่สอด-เมียวดี ไม่พบว่ามีรายงานการผ่านเข้าออกประเทศไทยของเด็กชาวเมียนมา และมารดาดังกล่าวในวันที่ 4 กันยายน 2563 ซึ่งสันนิษฐานว่าอาจจะเป็นการเดินทางออกไปโดยใช้ช่องทางธรรมชาติ หรือช่องทางอื่นที่ไม่สามารถตรวจสอบ ซึ่งมีอยู่มากกว่า 50 ช่องทาง และยากต่อการควบคุมการเข้าออก
          
อย่างไรก็ตาม กรณีดังกล่าวยังต้องทำการค้นหาข้อมูล โดยการประสานงานทั้งในและระหว่างประเทศ เพื่อให้ได้ข้อมูลแหล่งที่อยู่อาศัยของเด็กและครอบครัว เพื่อค้นหาผู้สัมผัส ทำการตรวจหาผู้ติดเชื้อ และดำเนินมาตรการป้องกันควบคุมโรคที่เหมาะสมต่อไป  นอกจากนี้ ยังต้องเฝ้าระวังสถานการณ์ของประเทศเมียนมาอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง
          
ที่ผ่านมากระทรวงสาธารณสุข โดยกรมควบคุมโรค ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้นำรถเก็บตัวอย่างชีวนิรภัย พระราชทาน ออกค้นหาผู้ติดเชื้อเชิงรุก ที่ อ.แม่สอด จ.ตาก เมื่อวันที่ 8-9 กันยายน 2563 รวม 2 วันตรวจทั้งคนไทยและต่างด้าว จำนวน 2,635 ราย จำแนกเป็น รร.อิสลามศึกษา 1,041 คน เป็นต่างด้าว(มุสลิม) 660 คน คนไทย 381 คน, รร.วังตะเคียน 713 คน เป็นชาวเมียนมา 284 คน คนไทย  429 คน, อบต.แม่กาษา 558 คน เป็นชาวเมียนมา 47 คน คนไทย 511 คน และเรือนจำแม่สอด  323 คน เป็นต่างชาติ 137 คน คนไทย 186 คน ผลไม่พบการติดเชื้อแม้แต่รายเดียว
          
กรมควบคุมโรค ขอยืนยันว่าประเทศไทยมีมาตรการเฝ้าระวัง ทั้งการคัดกรองผู้ที่มีอาการทางเดินหายใจ เฝ้าระวังในกลุ่มประชากรเสี่ยง รวมถึงมีการสอบสวนติดตามผู้สัมผัสให้ครบถ้วน ขอให้ประชาชนมั่นใจในมาตรการป้องกันควบคุมโรคโควิด-19 ที่เข้มงวดของประเทศไทย รวมถึงการป้องกันและจำกัดการแพร่ระบาดของโรค แม้จะมีการระบาดอย่างต่อเนื่องในประเทศเพื่อนบ้าน


กรมอนามัย กำชับร้านอาหาร-ผับ-บาร์ เข้ม 9 แนวทางปฎิบัติป้องกันโควิด-19
  
พญ.พรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า จากข้อมูลสถานการณ์คนต่างด้าวของสำนักบริหารต่างด้าว กรมการจัดหางาน เมื่อเดือนก.ค.63 พบมีจำนวนคนต่างด้าวที่ได้รับอนุญาตในประเทศไทย 2,419,452 คน ส่วนใหญ่ทำงานในกิจการร้านอาหารและเครื่องดื่ม มีทั้งทำหน้าที่ปรุงประกอบอาหาร สัมผัสอาหาร และให้บริการแก่ลูกค้าที่เข้ามานั่งรับประทานหรือซื้อกลับบ้าน รวมไปจนถึงร้านที่ให้บริการด้านความบันเทิงร่วมด้วย เช่น การจัดแสดงคอนเสิร์ต ผับ บาร์ เป็นต้น
          
จากผลการตรวจประเมินเพื่อการเฝ้าระวังกิจการประเภทร้านอาหารและเครื่องดื่มของกรมอนามัยล่าสุด จำนวน 164 แห่ง พบว่าในร้านอาหารและเครื่องดื่ม มีจุดบริการล้างมือ 96% กำหนดจำนวนผู้เข้าใช้บริการเพื่อลดความแออัด 90% เว้นระยะห่างระหว่างบุคคล 81% สวมหน้ากาก 80% แต่ยังคงต้องเน้นย้ำการทำความสะอาดจุดสัมผัสบ่อยที่พบเพียง 77%
          
นอกจากนี้ จากการสำรวจสถานบริการประเภทผับ บาร์ คาราโอเกะ ลานเบียร์ โรงเบียร์ โรงเหล้า จำนวน 93 แห่งทั่วประเทศ พบว่าสถานบริการทุกแห่งมีจุดบริการล้างมือ แต่กำหนดจำนวนผู้เข้าใช้บริการเพื่อลดความแออัดได้เพียง 80% เว้นระยะห่างระหว่างบุคคล 83% สวมหน้ากาก 92% และมีการทำความสะอาด 96%
          
สำหรับผู้ประกอบการที่มีแรงงานต่างด้าวที่ทำงานในสถานที่เหล่านี้ นอกจากจะต้องดูแลด้วยการพาไปขึ้นทะเบียนให้ถูกต้องและตรวจคัดกรองโรคให้เรียบร้อยแล้ว ยังคงต้องปฏิบัติตามคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุขอย่างต่อเนื่อง เพื่อป้องกันการแพร่กระจายโรคโควิด-19 ดังนี้
          1) ให้มีระบบการคัดกรองพนักงานหรือผู้ให้บริการ และผู้มาใช้บริการ
          2) ให้พนักงานหรือผู้ให้บริการ และผู้มาใช้บริการ ต้องสวมหน้ากากผ้าหรือหน้ากากอนามัยตลอดเวลา ยกเว้นนักร้อง นักดนตรี ให้ถอดหน้ากากผ้าหรือหน้ากากอนามัยในช่วงเวลาแสดงดนตรีหรือร้องเพลง และจัดให้มีอุปกรณ์ป้องกันตนเองที่จำเป็นสำหรับพนักงาน คัดกรองพนักงานต้อนรับ พนักงานเสิร์ฟอาหารและเครื่องดื่ม เช่น แผ่นใสครอบหน้า (Face shield) ถุงมือ เป็นต้น
          3) จัดให้มีที่ล้างมือพร้อมสบู่ หรือเจลแอลกอฮอล์ไว้บริการในบริเวณต่างๆ ของสถานบันเทิง
          4) จำกัดจำนวนผู้มาใช้บริการไม่ให้แออัด
          5) ลดระยะเวลาโดยการจองทางออนไลน์ และลดการสัมผัส เช่น มีระบบการจ่ายเงินแบบออนไลน์ใช้ถาดหรืออุปกรณ์ในการรับเงิน เป็นต้น
          6) มีการจัดระยะห่างที่เหมาะสมระหว่างบุคคล โต๊ะในร้าน และระหว่างเวทีกับผู้มาใช้บริการ
          7) ควบคุมไม่ให้มีกิจกรรมอื่นที่ใช้เสียงดัง (นอกจากการแสดงบนเวที) หรือกิจกรรมอื่นๆ ที่อาจมีความเสี่ยงต่อการรักษาระยะห่างระหว่างบุคคลและการแพร่กระจายเชื้อ
          8) ให้ทำความสะอาดพื้นที่หรือบริเวณที่มีการสัมผัสร่วมกัน
          9) จัดให้มีการระบายอากาศที่ดี กรณีสถานที่อยู่ในอาคารหรือเป็นพื้นที่ปิด ควรจัดทำระบบระบายอากาศหรือปรับอากาศให้มีอัตราการหมุนเวียนของอากาศอย่างเพียงพอ และทำความสะอาดเครื่องปรับอากาศอย่างสม่ำเสมอ

 

หน้าแรก » การเมือง

Top 5 ข่าวการเมือง