วันอังคาร ที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2568 15:01 น.

การเมือง

"ส.ส.กลุ่มดาวฤกษ์"แก้คนเร่ร่อนคนไร้ที่พึ่งและขอทาน

วันพุธ ที่ 06 มกราคม พ.ศ. 2564, 15.13 น.

"ส.ส.กลุ่มดาวฤกษ์"ร่วมกับ "สำนักงานเขตบางกะปิ-กองคุ้มครองสวัสดิภาพฯ-สน.ลาดพร้าว"เดินหน้า แก้ปัญหาคนเร่ร่อน คนไร้ที่พึ่ง และขอทาน อย่างจริงจัง หลัง ปชช.ร้องเรียน เกรงปัญหาอาชญากรรมและโควิด-19

เมื่อเวลา 13.00 น.วันที่ 6 มกราคม 2564  ที่สำนักงานเขตบางกะปิ ส.ส.กลุ่มดาวฤกษ์ พรรคพลังประชารัฐ ประกอบด้วย น.ส.ฐิติภัสร์ โชติเดชาชัยนันต์ ส.ส.กทม.เขตบางกะปิ-วังทองหลาง และ นายศิริพงษ์ รัสมี ส.ส.กทม.เขตหนองจอก ร่วมประชุมจัดระเบียบคนเร่ร่อน คนไร้ที่พึ่ง และขอทานในพื้นที่เขตบางกะปิ กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น ผู้อำนวยการเขตบางกะปิ ผู้กำกับ สน.ลาดพร้าว ผู้อำนวยการกองคุ้มครองสวัสดิภาพและเสริมสร้างคุณภาพชีวิต กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ เพื่อร่วมหาแนวทางแก้ปัญหาแบบบูรณาการทุกภาคส่วน เนื่องจากเขตบางกะปิได้รับการร้องเรียนในเรื่องดังกล่าวเป็นจำนวนมาก รวมทั้งมีจำนวนขอทานและคนไร้ที่พึ่งมากที่สุดใน กทม. 

น.ส.ฐิติภัสร์ ระบุว่า สืบเนื่องจากพี่น้องประชาชนมีการร้องเรียนในเรื่องดังกล่าวจำนวนมาก ส่วนหนึ่งมีความเป็นห่วงเรื่องการแพร่ระบาดของโควิด-19 จากคนกลุ่มนี้ ที่เขาไม่สามารถหาที่ตรวจได้ หรือติดโควิด19 โดยไม่รู้ตัว  อีกส่วนหนึ่งกังวลเรื่องปัญหาอาชญากรรมโดยเฉพาะช่วงกลางคืนที่ต้องเดินทางกลับบ้านเพราะส่วนใหญ่คนเร่รอน คนขอทานมักอยู่ในที่สาธารณะ แต่ที่ผ่านมาไม่ได้รับการแก้ไข ซึ่งบางส่วนเกิดจากความไม่เข้าใจในขั้นตอนการแก้ปัญหา จึงให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ทำงานบูรณาการร่วมกันเพื่อแก้ปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งเขตบางกะปิ เป็นเขตนำร่องในการบูรณาการแก้ปัญหาเรื่องนี้อย่างจริงจัง 

นอกจากนี้หลังรับฟังข้อมูลการประชุมวันนีิจะนำรายละเอียดต่างๆไปศึกษาเพื่อพิจารณาออกกฎหมายสำหรับนำไปบังคับใช้กับกลุ่มเหล่านี้เพิ่มเติม  รวมถึงการเข้าไปดูแลสวัสดิการและการศึกษา เพราะหากสนับสนุนตรงจุดนี้ได้ก็เชื่อว่าคงไม่มีใครอยากมาเป็นคนขอทาน คนเร่รอนไร้ที่พึ่ง ดังนั้นก็จะเร่งผลักดันเรื่องดังกล่าวเข้าสู่สภาโดยเร็ว 

ด้านนายอุเทน ชนะกุล ผอ.กองคุ้มครองสวัสดิภาพฯ ระบุว่า การดำเนินการต้องแยกระหว่างขอทานซึ่งผิดกฎหมาย เมื่อจับกุมได้ต้องสอบสวนข้อเท็จจริงและปรับ  หากไม่มีเงินก็จะส่งเข้ารับการคุ้มครองในสถานคุ้มครองของกองคุ้มครองสวัสดิภาพฯ เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตทั้งตัวขอทานและครอบครัว แต่หากเป็นกระบวนการขอทานก็ต้องสืบสวนหาทั้งกระบวนการ และดำเนินคดีตามกฎหมาย เช่นการค้ามนุษย์ เป็นต้น ส่วนกรณีคนไร้ที่พึ่งและคนเร่ร่อน เราจะเชิญตัวไปคุยเพื่อรับทราบปัญหา เพื่อนำไปสู่การเข้ารับการคุ้มครองและพัฒนาศักยภาพตามทักษะของแต่ละคน ซึ่งต้องยอมรับว่า กรณีของคนเร่ร่อน ไร้ที่พึ่ง ไม่มีกฎหมายใช้บังคับ ดังนั้นก็จะทำให้การดำเนินการยากพอสมควร และไปใช้กฎหมายตัวอื่น เช่น กีดขวางจราจร และความสะอาด ทั้งนี้อยากให้ประชาชนช่วยกันแจ้งเจ้าหน้าที่หากพบเจอคนเหล่านี้ โดยโทรมาที่สายด่วน 1300 

ทั้งนี้หลังการประชุมเสร็จสิ้น น.ส.ฐิติภัสร์ พร้อม ผู้อำนวยการเขตบางกะปิ ผู้อำนวยการกองคุ้มครองสวัสดิภาพฯ และเจ้าหน้าที่ตำรวจ ได้ลงพื้นที่พูดคุย พร้อมนำตัวคนเร่ร่อนเข้าขั้นตอนช่วยเหลือและคุ้มครองต่อไป 

 

หน้าแรก » การเมือง

Top 5 ข่าวการเมือง