วันเสาร์ ที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2567 18:15 น.

การเมือง

อุทาหรณ์ ผอ.แก้รายงานการประชุม ศาลสั่งจำคุก 1 ปี ไม่รอลงอาญา

วันเสาร์ ที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2564, 12.31 น.

อุทาหรณ์ ผอ.วิทยาลัยสารพัดช่างฯ แก้รายงานการประชุม ศาลฎีกาฯพิพากษาจำคุก 1 ปี ไม่รอลงอาญา จำนนหลักฐานชดใช้กรรมข้อหาปฏิบัติหน้าที่มิชอบ มีความผิด ม.157

วันที่ 16 ม.ค. นายโกศลวัฒน์ อินทุจันทร์ยง โฆษกและรองอธิบดีอัยการปราบปรามทุจริต ภาค 9 เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 14 มกราคม 2564 ที่ผ่านมา มีคำพิพากษาคดีหมายเลขแดงที่ อท 24/2561 จำเลย ขณะเกิดเหตุรับราชการในตำแหน่งผู้อำนวยการวิทยาลัยสารพัดช่างนราธิวาส อันเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐและเป็นเจ้าพนักงานตามกฎหมายและเป็นข้าราชการที่ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ผู้อำนวยการระดับต้นหรือเทียบเท่าขึ้นไป ซึ่งอยู่ในอำนาจไต่สวนและวินิจฉัยของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีอำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบบังคับบัญชาบุคลากรในสถานศึกษา บริหารกิจการของสถานศึกษา การวางแผนการปฏิบัติงาน การควบคุม กำกับ ดูแล เกี่ยวกับการบริหารงานวิชาการ งบประมาณ การบริหารงานบุคคล การบริหารทั่วไป มีอำนาจหน้าที่บริหารกิจการของสถานศึกษาให้เป็นไปตามกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ นโยบาย และวัตถุประสงค์ของสถานศึกษา และตามคำสั่งมอบอำนาจจากเลขาธิการคณะกรรมการอาชีวศึกษา ตามระเบียบสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ว่าด้วยการบริหารสถานศึกษา พ.ศ.2552 และในฐานะผู้บริหารสูงสุดของสถานศึกษา และในฐานะประธานการประชุมของวิทยาลัยสารพัดช่างนราธิวาส เรื่อง ครุภัณฑ์ชุดทดลองดิจิตอลลอจิกแบบเมนบอร์ดชนิดมีตัวแสดงสถานะลอจิกพร้อมแผงโมดูลต่างชนิดกันไม่น้อยกว่า 17 ชนิด จำนวน 1 ชุด ครั้งที่ 1/2559 เมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2559 มีหน้าที่ในการตรวจสอบความถูกต้องของรายงานการประชุมที่เจ้าหน้าที่ผู้จัดทำบันทึกรายงานการประชุมนำเสนอให้ถูกต้องตามความเป็นจริง

พฤติการณ์แห่งคดีกล่าวคือ เมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2559 วิทยาลัยสารพัดช่างนราธิวาสจัดการประชุม เรื่อง ครุภัณฑ์ชุดทดลองดิจิตอลลอจิกแบบเมนบอร์ดชนิดมีตัวแสดงสถานะลอจิกพร้อมแผงโมดูลต่างชนิดกันไม่น้อยกว่า 17 ชนิด จำนวน 1 ชุด ครั้งที่ 1/2559 จำเลยในฐานะผู้อำนวยการวิทยาลัยสารพัดช่างนราธิวาส เป็นประธานการประชุม มีผู้เข้าร่วมประชุม 12 คน รวมทั้งนายเรืองเดช ตันติวุฒิพงศ์ ประธานกรรมการตรวจรับพัสดุ และนางสุริภรณ์ สังข์ทอง ผู้บันทึกการประชุม ในการประชุมวาระที่ 1 เรื่องที่ประธานแจ้งให้ที่ประชุมทราบ นายเรืองเดช ตันติวุฒิพงศ์ กล่าวในตอนหนึ่งว่า “หลังจากนี้บันทึกของผมไว้ด้วยนะครับ ด้วยนายเรืองเดช  ตันติวุฒิพงศ์ รองผู้อำนวยการ นะฮะ ช่วยบันทึกไว้ด้วยนะครับ การบันทึกนะครับ ขอแจ้งว่า นายเรืองเดช  ตันติวุฒิพงศ์ เนี่ย ไม่ชอบพฤติกรรมในการจัดซื้อหรือจัดจ้างของที่นี่ตลอดมานะฮะ ช่วยแจ้งด้วยนะครับ ไม่สบายใจในทุกๆเรื่อง ครับ และพร้อมที่จะแฉทุกเรื่องที่เป็นเรื่องการลงทุน การผิดสเปคงาน โดยเอาตำแหน่งของราชการเป็นเดิมพัน ไม่เป็นไรครับ”

นางสุริภรณ์ได้บันทึกการประชุมเสนอจำเลยเพื่อตรวจพิจารณาตามอำนาจหน้าที่ว่า “นายเรืองเดชฯ ไม่ลงนามให้ผู้บันทึกการประชุมบันทึกไว้ด้วยว่า ข้าพเจ้านายเรืองเดชฯ ไม่ชอบ พฤติกรรมการจัดซื้อจัดจ้างของวิทยาลัยสารพัดช่าง โดยเฉพาะงบลงทุนและพร้อมจะแฉทุกเรื่อง” ระหว่างวันที่ 13 พฤษภาคม 2559 เวลากลางวัน ถึงวันที่ 16 พฤษภาคม 2559 เวลากลางวัน วันเวลาใดไม่ปรากฏชัด จำเลยซึ่งมีหน้าที่ตรวจพิจารณารายงานการประชุมให้ถูกต้องตามความจริงได้ปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติอย่างใดในตำแหน่งหรือหน้าที่ หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหรือหน้าที่โดยมิชอบ แก้ไขรายงานการประชุมที่นางสุริภรณ์บันทึกไว้ดังกล่าวเป็น “นายเรืองเดช  ตันติวุฒิพงศ์ จึงพูดสวนขึ้นว่าให้บันทึกไว้ด้วยว่าที่นายเรืองเดช ตันติวุฒิพงศ์ ไม่เซ็นเพราะว่าเรื่องนี้ผู้อำนวยการวิทยาลัยสารพัดช่างนราธิวาส ทุจริต คอรัปชั่น และจะแฉพฤติกรรมให้หมดในเรื่องจัดซื้อจัดจ้าง งบลงทุน” ซึ่งไม่ตรงกับความจริง เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่นายเรืองเดช เหตุเกิดที่ตำบลโคกเคียน อำเภอเมืองนราธิวาส จังหวัดนราธิวาส

การที่จำเลยได้กระทำเป็นความผิดต่อกฎหมายและบทมาตรา ดังนี้ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๕๗ พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ.๒๕๐๒ มาตรา ๑๓ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.๒๕๔๒ มาตรา ๑๒๓/๑ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๕๕๔ มาตรา ๖๕ ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 9 พิพากษาเมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2561 ว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 (เดิม) พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.๒๕๔๒ มาตรา ๑๒๓/๑ การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.๒๕๔๒ มาตรา ๑๒๓/๑ ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 2 ปี จำเลยยื่นอุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาของศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 9

ศาลอุทธรณ์ แผนกคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ พิพากษาเมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2562 ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 9 อ่านคำพิพากษาเมื่อวันที่ 29 เมษายน 2562 ว่า พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง

พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีปราบปรามการทุจริต 1 ภาค 9 ยื่นคำร้องขออนุญาตฎีกา และยื่นฎีกา คัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ แผนกคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2562

ศาลฎีกาพิพากษาเมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2563 ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 9 อ่านคำพิพากษาเมื่อวันที่ 15 มกราคม 2564 ว่า พิพากษากลับเป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 (เดิม) พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.๒๕๔๒ มาตรา ๑๒๓/๑ การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.๒๕๔๒ มาตรา ๑๒๓/๑ ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 1 ปี

หน้าแรก » การเมือง