วันพฤหัสบดี ที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2568 11:53 น.

การเมือง

สมาคมการบินนภารักษ์ลงขันซื้อ "ชิโนฟาร์ม" ฉีดสมาชิก 30 มิ.ย. นี้

วันศุกร์ ที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2564, 10.40 น.

วันศุกร์ที่ 25 มิถุนายน 2564  ดร.ณพลเดช มณีลังกา นายกสมาคมการบินนภารักษ์ และนักบินประจำสมาคมฯ เปิดเผยว่า สมาคมฯได้รับการจัดสรรควัคซีน ซิโนฟาร์ม (Sinopharm) ระยะที่ 1 จากราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ จำนวน 1,000 โดส จะเริ่มฉีดวันที่ 30 มิ.ย. นี้ โดยสมาคมมีข้อกำหนดว่าจะลงขันซื้อกันเองในระหว่างนักบินด้วยกันในราคาทุน เพื่อที่จะนำไปฉีดให้กับตัวนักบินและครอบครัวรวมถึงบุคคลที่เกี่ยวข้อง หากมีส่วนที่เหลือก็จะจัดให้กลุ่มเสี่ยงอื่นๆ ตามความเหมาะสม สำหรับตัวนักบินเองโดยเฉพาะนักบินพาณิชย์ จะต้องเข้าออกเครื่องบินซึ่งมีผู้โดยสารมากหน้าหลายตาทำให้อาจมีโอกาสมากที่จะทำให้ติดเชื้อโควิด19 โดยเฉพาะสายพันธุ์แปลกใหม่ เช่น สายพันธุ์เดลตา (อินเดีย) กับสายพันธุ์เบตา (แอฟริกาใต้) ได้มาก ในขณะที่คนในครอบครัวซึ่งทำอาชีพอื่นก็อาจจะเป็นพาหะที่นำเชื้อสู่นักบินได้เช่นกัน

ดร.ณพลเดช ยังกล่าวต่อไปอีกว่า ในต่างประเทศที่เจริญแล้วหลายประเทศ ประชาชนมีโอกาสเข้าถึงวัคซีนในหลายๆ ยี่ห้อ โดยรัฐบาลของเขามีการวางแผนและจัดสรรคอย่างรวดเร็ว ในบางประเทศเช่นญี่ปุ่น ที่จัดซื้อวัคซีนบางยี่ห้อ เช่นแอสตราเซเนก้า ภายหลังทราบถึงผลข้างเคียงแม้เพียงปัญหาลิ่มเลือดอุดตัน เขาก็ปฏิเสธที่จะเลือกใช้วัคซีนยี่ห้อเหล่านั้นทันที โดยนำวัคซีนที่มีผลข้างเคียงไปบริจาคกับประเทศที่ 3 ซึ่งไทยคือหนึ่งในนั้น 

ทั้งนี้รัฐบาลญี่ปุ่นเลือกที่จะเปลี่ยนไปซื้อวัคซีนยี่ห้อที่ดีกว่าทันที เพื่อให้ประชาชนของประเทศเขาปลอดภัยที่สุด สิ่งนี้ทำให้เห็นถึงความตั้งใจและใส่ใจกับประชาชนของเขาโดยไร้ประเด็นการคอรัปชัน ในขณะที่มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากว่าประเทศไทยเป็นประเทศเพียงหนึ่งเดียวในเอเชียที่รัฐบาลรับวัคซีนเพียง 2 ยี่ห้อ และวางกรอบให้ประชาชนต้องใช้เพียง 2 ยี่ห้อ สิ่งนี้เป็นสิ่งที่จำกัดสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานตามกรอบรัฐธรรมนูญ แม้ภายหลังรัฐบาลเริ่มเปิดกว้างเพื่อรับวัคซีนยี่ห้ออื่นเข้าประเทศ แต่จะเข้ามาตอนปลายปีเราจะได้ประโยชน์อะไร พอถึงเวลานั้นพี่น้องประชาชนจะติดเชื้อกันไปอีกมาก ผลเสียหายของประชาชนจะมากเพียงใด กว่าถั่วจะสุกงาก็จะไหม้หรือวัวหายแล้วเราถึงจะมาล้อมคอก 

"ความล่าช้าคือการไม่ได้แก้ปัญหา รัฐบาลควรเปิดให้วัคซีนคุณภาพยี่ห้ออื่นเข้าประเทศ อย่างเช่นชิโนฟาร์ม ก็สามารถเข้าประเทศโดยมีผลการอนุมัติเพียงไม่กี่วัน สำหรับประเด็นที่อ้างว่าวัคซีนขาดแคลนสั่งซื้อยากนั้นตนขอตั้งข้อสังเกตว่าทำไมญี่ปุ่นและหลายประเทศเขาซื้อวัคซีนได้เร็ว ทั้งนี้เขายังวางแผนซื้อวัคซีนที่จะฉีดในกลุ่มเด็กที่อายุต่ำกว่า 18 ปีแล้วด้วย แล้วประเทศเราได้วางแผนแล้วหรือยัง สิ่งนี้ตนจึงขอวอนให้รัฐบาลควรวางแผนการบริหารจัดการวัคซีนเสียใหม่โดยดูตัวอย่างจากนานาประเทศบ้าง เพราะเป็นอาวุธเพียงชนิดเดียวที่จะต่อกรกับโควิด19 ก่อนที่ประเทศจะเสียหายไปมากกว่านี้" ดร.ณพลเดช กล่าว

เปิดศูนย์ฉีดวัคซีนตัวเลือกซิโนฟาร์มให้ผู้ด้อยโอกาส ผู้สูงอายุ ผู้พิการ 6,400 ราย

วันนี้(25มิ.ย.) ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เปิดศูนย์ฉีดวัคซีนตัวเลือกซิโนฟาร์ม ณ อาคาร 9 บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) สำนักงานแจ้งวัฒนะ เพื่อให้บริการฉีดวัคซีนตัวเลือก"ซิโนฟาร์ม" สำหรับกลุ่มบุคคลในองค์กรต่างๆ ที่ได้รับการจัดสรรวัคซีนระยะที่ 1 และเลือกโรงพยาบาลจุฬาภรณ์เป็นสถานพยาบาลให้บริการฉีดวัคซีน ซึ่งมีศักยภาพรองรับการฉีดได้ถึง 5,000 คนต่อวัน โดยนำร่องฉีดวัคซีนซิโนฟาร์มพระราชทานใน สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ที่โปรดให้มูลนิธิภัทรมหาราชานุสรณ์ นำเงินทุนมาจัดซื้อวัคซีนตัวเลือกซิโนฟาร์ม และพระราชทานแก่โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ จำนวน 6,400 โดส
          
ในโอกาสที่ทรงเจริญพระชนมายุครบ 64 พรรษา 4 กรกฎาคม 2564 เพื่อนำไปจัดสรรกระจายฉีดให้แก่ประชาชนผู้ด้อยโอกาส ผู้สูงอายุ ผู้พิการ ผู้ที่มีรายได้น้อย และชุมชนในพื้นที่โดยรอบโรงพยาบาลเป็นกลุ่มแรก โดยมีศาสตราจารย์ นายแพทย์นิธิ มหานนท์ เลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ และผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬาภรณ์เป็นประธานในพิธีเปิด
          
จากนั้นเวลา 09.30 น. พลเอกประยุกธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พร้อมด้วยนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย นายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และคณะ เข้าร่วมเยี่ยมชม ศูนย์ฉีดวัคซีนตัวเลือกซิโนฟาร์ม ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ และให้กำลังใจแก่บุคลากรทางการแพทย์และผู้ปฏิบัติงาน
          
สำหรับวัคซีนตัวเลือกจากบริษัทซิโนฟาร์มที่ใช้ในประเทศไทยผลิตโดยสถาบันชีววัตถุแห่งกรุงปักกิ่ง (BIBP) เป็นวัคซีนที่ได้รับการอนุมัติจากองค์การอนามัยโลก (WHO) โดยราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ซึ่งเป็นหน่วยงานที่จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ พ.ศ.2559 ได้รับความเห็นชอบจากนายกรัฐมนตรีให้เป็นตัวแทนของรัฐบาลประเทศไทยในการดำเนินการประสานติดต่อและนำเข้าวัคซีน "ซิโนฟาร์ม" จากสาธารณรัฐประชาชนจีนเข้ามาเพื่อสนับสนุนการทำงานของภาครัฐ ซึ่งราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ได้ประกาศหลักเกณฑ์และข้อกำหนดการจัดสรรวัคซีนตัวเลือกซิโนฟาร์ม ระยะที่ 1 ให้สำหรับองค์กรนิติบุคคลและหน่วยงานเป็นผู้สนับสนุนค่าวัคซีนให้กับกลุ่มบุคคลต่างๆได้เข้ารับการฉีดวัคซีนซิโนฟาร์มโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย โดยกำหนดอัตราค่าวัคซีนอยู่ที่ 888 บาทต่อโดสรวมค่าขนส่ง ค่าเก็บรักษาพร้อมประกันผลข้างเคียงจากเมืองไทยประกันภัย
          
ทั้งนี้ ได้เปิดให้องค์กรได้ยื่นความประสงค์ขอรับการจัดสรรวัคซีนผ่านระบบออนไลน์เข้ามาระหว่างวันที่ 14-18 มิถุนายน 2564 และได้ประกาศการจัดสรรวัคซีนไปแล้วให้กับ 6,437 องค์กร เป็นจำนวน 779,300 คน โดยพิจารณาตามประเภทการดำเนินธุรกิจที่มีผลต่อการขับเคลื่อนประเทศ ระดับความเสี่ยงของโอกาสในการแพร่เชื้อให้กับสังคม และระดับความเสี่ยงบนพื้นที่ของทำเลที่ตั้งสถานประกอบการ
          
ผู้พิการ ผู้สูงอายุ ผู้ด้อยโอกาส และ คนเร่ร่อน เดินทางมาเข้ารับวัคซีนตัวเลือก "ซิโนฟาร์ม" วันแรกจำนวนมาก โดยราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์เปิดฉีดวัคซีนแก่ประชาชนกลุ่มดังกล่าวจำนวน 6400 ราย ที่ ชั้น 1 บมจ. โทรคมนาคมแห่งชาติ ( TOT เดิม) สำนักงานแจ้งวัฒนะ อาคาร 9 ถนนแจ้งวัฒนะ เขตหลักสี่

หน้าแรก » การเมือง

ข่าวในหมวดการเมือง