วันอังคาร ที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2568 15:19 น.

การเมือง

ผู้ตรวจการแผ่นดินยันคำวินิจฉัยแก้ปมอุทยานทับลานไม่เอื้อนายทุน

วันจันทร์ ที่ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2566, 21.04 น.

ประธานผู้ตรวจการแผ่นดินแจงคำวินิจฉัยของผู้ตรวจการแผ่นดินปมปัญหาการถือครองที่ดินของราษฎรพื้นที่อุทยานแห่งชาติทับลานยึดความถูกต้องตรงตามสภาพความเป็นจริง มุ่งหวังระงับความเดือดร้อนและความไม่เป็นธรรมให้แก่ประชาชนในพื้นที่อย่างเหมาะสม ยันไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อน ไม่เอื้อต่อนายทุน

จากกรณีการกล่าวอ้างข้อมูลการแสดงความคิดเห็นหรือข้อห่วงกังวลเกี่ยวกับการดำเนินการแก้ไขปรับปรุงแนวเขตอุทยานแห่งชาติทับลาน จังหวัดนครราชสีมา และจังหวัดปราจีนบุรีที่ผ่านกระบวนการปรับปรุงแผนที่แนวเขตที่ดินของรัฐแบบบูรณาการ มาตราส่วน 1 : 4000 (One Map) เป็นการพิจารณาอย่างเร่งรีบจนผิดปกติ เป็นการเพิกถอนที่ดินในเขตอุทยานแห่งชาติซึ่งเป็นป่าอนุรักษ์ โดยเอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มบุคคลที่ได้ที่ดินมาโดยการซื้อขายเปลี่ยนมือ หรือใช้ประโยชน์ในที่ดินขัดต่อวัตถุประสงค์ของกฎหมาย และอาจส่งผลให้กลุ่มบุคคลที่ถูกดำเนินคดีในข้อหาบุกรุกพื้นที่อุทยานแห่งชาติทับลานหลุดพ้นจากความผิด และระบุมีความเกี่ยวข้องกับคำวินิจฉัยและข้อเสนอแนะของผู้ตรวจการแผ่นดินที่เสนอให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมแก้ไขปรับปรุงแนวเขตอุทยานแห่งชาติทับลานกรณีการแก้ไขปรับปรุงแนวเขตอุทยานแห่งชาติทับลานนั้น

นายสมศักดิ์ สุวรรณสุจริต ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน กล่าวว่าข้อเท็จจริงเรื่องดังกล่าวนี้ประชาชนในพื้นที่อำเภอปักธงชัย อำเภอเสิงสาง อำเภอครบุรี และอำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา และอำเภอนาดี จังหวัดปราจีนบุรี ได้ยื่นเรื่องร้องเรียนต่อผู้ตรวจการแผ่นดินเมื่อปี พ.ศ.2554 และ 2561 ระบุว่าได้รับความเดือดร้อนและความไม่เป็นธรรมจากกรณีที่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืชได้ประกาศแนวเขตอุทยานแห่งชาติทับลานที่ทับซ้อนกับที่ดินที่ประชาชนอยู่อาศัยทำกินมาแต่เดิม และมีการจับกุมดำเนินคดีประชาชนโดยอาศัยเส้นแนวเขตที่บกพร่องคลาดเคลื่อน ซึ่งผู้ตรวจการแผ่นดินได้รับเรื่องร้องเรียนดังกล่าวไว้พิจารณา และแสวงหาข้อเท็จจริงโดยรวบรวมเอกสารหลักฐานต่างๆ พร้อมทั้งแต่งตั้งคณะทำงานในการแก้ไขปัญหาและตรวจสอบข้อเท็จจริงในพื้นที่ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่อง ผลจากการดำเนินงานปรากฏข้อเท็จจริงว่าการกำหนดแนวเขตอุทยานแห่งชาติทับลานทับซ้อนกับที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกินของราษฎรที่ได้ทำกินมาแต่เดิมเนื่องจากอุทยานแห่งชาติทับลานได้จัดตั้งขึ้นมาภายหลังจากที่ประชาชนได้เข้าทำกินในพื้นที่แล้ว ผู้ตรวจการแผ่นดินได้มีคำวินิจฉัยและข้อเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหา ลงวันที่ 6 สิงหาคม 2562 ให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯดำเนินการแก้ไขปรับปรุงแนวเขตให้ถูกต้องตรงตามสภาพความเป็นจริง โดยยึดถือแนวเขตอุทยานแห่งชาติทับลาน ปี พ.ศ.2543 ที่ผ่านการสำรวจรังวัดร่วมกันของทุกภาคส่วนแล้ว และตราพระราชกฤษฎีกาให้เกิดผลใช้บังคับในทางกฎหมาย จากนั้นเมื่อเกิดความชัดเจนของแนวเขตที่ดินของรัฐแล้ว สำหรับพื้นที่ที่ถูกกันออกจากเขตอุทยานแห่งชาติทับลาน ให้กรมป่าไม้ดำเนินการเพื่อยกเลิกเขตป่าสงวนแห่งชาติและพื้นที่ป่าเพื่อการอนุรักษ์ จากนั้นส่งมอบพื้นที่บริเวณดังกล่าวให้ ส.ป.ก.ดำเนินการจัดที่ดินให้ประชาชนเข้าอยู่อาศัยทำกินตามกฎหมายปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ซึ่งต่อมาคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2564 กำหนดแนวทางแก้ไขปัญหาการถือครองที่ดินของราษฎรบริเวณพื้นที่อุทยานแห่งชาติทับลาน โดยมีสาระสำคัญ คือ ให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นหน่วยงานหลักรับข้อเสนอแนะของผู้ตรวจการแผ่นดิน พร้อมความเห็นและข้อสังเกตของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไปพิจารณาดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ให้มีความคืบหน้าและเกิดผลเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น ให้กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เร่งรัด การดำเนินการตาม มาตรา 64 แห่งพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 และให้สำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติเร่งรัดการดำเนินการปรับปรุงแผนที่แนวเขตที่ดินของรัฐแบบบูรณาการ มาตราส่วน 1 : 4000 (One Map) ให้แล้วเสร็จโดยเร็ว คำวินิจฉัยและข้อเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาของผู้ตรวจการแผ่นดินไม่มีผลกระทบต่อทรัพยากรป่าไม้ สิ่งแวดล้อม และระบบนิเวศน์แต่อย่างใด เนื่องจากพื้นที่ที่ราษฎรที่อยู่อาศัยและทำกินในปัจจุบัน มิได้มีสภาพเป็นป่าไม้สมบูรณ์ และไม่เป็นการเอื้อประโยชน์ ต่อกลุ่มบุคคลที่มิได้อยู่อาศัยทำกินมาแต่เดิมหรือใช้ประโยชน์ในที่ดินขัดต่อวัตถุประสงค์ของกฎหมาย รวมทั้งมิได้มีผลกระทบต่อคดีความต่างๆ ทั้งที่อยู่ในชั้นพนักงานสอบสวน อัยการ และชั้นศาล แต่อย่างใด

“คำวินิจฉัยและข้อเสนอแนะของผู้ตรวจการแผ่นดิน กรณีการแก้ไขปัญหาการถือครองที่ดินของราษฎรบริเวณพื้นที่อุทยานแห่งชาติทับลานด้วยการแก้ไขปรับปรุงแนวเขตให้ถูกต้องตรงตามสภาพความเป็นจริง ถือเป็นการดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจของผู้ตรวจการแผ่นดินในการขจัดหรือระงับความเดือดร้อนและความไม่เป็นธรรมให้แก่ประชาชนในพื้นที่ได้อย่างเหมาะสมกับสภาพปัญหาที่เกิดขึ้น และบริบทเฉพาะของพื้นที่มากที่สุดโดยผ่านการพิจารณากลั่นกรองทั้งข้อเท็จจริง และข้อกฎหมายอย่างครบถ้วนรอบด้าน มีการหารือถึงผลดี ผลเสีย ปัญหาและอุปสรรคของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งคำนึงถึงข้อห่วงกังวลในด้านต่างๆด้วยความละเอียดรอบคอบก่อนที่จะมีข้อเสนอแนะ โดยมิใช่การเอื้อประโยชน์ให้แก่บุคคลที่กระทำการฝ่าฝืนกฎหมายหรือกลุ่มบุคคลหนึ่งกลุ่มบุคคลใด หากแต่เป็นการทำเพื่อประโยชน์ของประชาชนและประเทศชาติโดยรวม และดำเนินการโดยยึดถือหลักนิติธรรมและหลักความเสมอภาคเป็นที่ตั้ง” นายสมศักดิ์กล่าวย้ำ

หน้าแรก » การเมือง

Top 5 ข่าวการเมือง