วันศุกร์ ที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2567 08:42 น.

การเมือง

ดร.เอ้ ชวนลงชื่อเสนอ กม. ตั้งองค์กรเพื่อความปลอดภัยสาธารณะ และภัยพิบัติ สร้าง "แก้มลิงใต้ดิน"

วันอังคาร ที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2566, 12.50 น.

เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2566  ศ.ดร. สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อดีตผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. สังกัดพรรคประชาธิปัตย์ เขียนบทความถึงอุบัติเหตุน้ำท่วมอุโมงค์ที่เกาหลี เพื่อเชื่อมโยงเรื่องน้ำท่วมกรุงเทพ พร้อมชวนร่วมลงชื่อให้เกิน 10,000 คน เพื่อเสนอกฎหมายผ่านเว็บไซต์ suchatvee.com โดยบทความระบุว่า

น้ำท่วมกทม. ถึง น้ำท่วมเกาหลี  จาก "แก้มลิงใต้ดิน" ถึง บทบาทองค์กรเพื่อความปลอดภัยสาธารณะ เรามาสร้างการเปลี่ยนแปลงร่วมกัน

สัปดาห์ที่ผ่านมา เกาหลีเจอพายุ ฝนตกหนัก ถึงขนาดท่วมอุโมงค์ทางลอด Cheongju จนมีผู้เสียชีวิต ฟังดูคล้ายกับกรณีของกรุงเทพ ที่ฝนตกหนัก ช่วงนี้ น้ำทะลักท่วมอุโมงค์ เช่น ที่อุโมงค์ดินแดง ซึ่งอันตรายมาก แล้วท่านยังจำได้ไหมว่า เคยมีผู้เสียชีวิต จากน้ำท่วมอุโมงค์ ในกรุงเทพมาแล้ว 

คำถาม เกาหลีจัดการเรื่องนี้อย่างไร และเราจะเรียนรู้จากเขาได้อย่างไร

"องค์กรเพื่อความปลอดภัยสาธารณะ และภัยพิบัติ" ของเกาหลี ที่เกิดขึ้นหลังโศกนาฏกรรมเรือเฟอรี่ล่ม จนมีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก เพื่อดูแลเรื่องการป้องกันภัยพิบัติ ครั้งนั้น เขาได้ถอดบทเรียน และเอาผิดคนประมาท ไม่ให้เป็นเยี่ยงอย่าง และนำไปสู่การป้องกัน และระมัดระวังภัยสาธารณะ ของเกาหลี

"องค์กรเพื่อความปลอดภัยสาธารณะ และภัยพิบัติ"ของเกาหลี ที่เกิดขึ้นหลังโศกนาฏกรรมเรือเฟอรี่ล่มจนมีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก เพื่อดูแลเรื่องการป้องกันภัยพิบัติครั้งนั้น เขาได้ถอดบทเรียน และเอาผิด คนประมาทไม่ให้เป็นเยี่ยงอย่าง และนำไปสู่การ ป้องกันและระมัดระวังภัยสาธารณะ ของเกาหลี

กรณีน้ำท่วมกรุงโซล องค์กรนี้ได้เสนอให้ยกเลิกการอนุญาตให้อาคารมีที่พักอาศัยชั้นใต้ดิน แบบในภาพยนตร์รางวัลออสการ์ "Parasite" ที่ครอบครัวตัวเอก ต้องใช้ชีวิต อย่างลำบาก น้ำท่วม เสี่ยงตาย

เช่นเดียวกัน ได้มีการเสนอ "แก้มลิงใต้ดิน" แก้ปัญหาน้ำท่วมฉับพลัน ซึ่งนายกเทศมนตรีกรุงโซล ได้ประกาศว่า จะเพิ่ม "แก้มลิงใต้ดิน" ขนาดยักษ์ 6 แห่ง เพื่อเก็บพักน้ำท่วมส่วนเกิน ที่ระบายไม่ทัน จะแก้ปัญหาน้ำท่วมได้ เหมือนกรุงโตเกียว ฮ่องกง ที่ประสบความสำเร็จมาแล้ว

"แก้มลิงใต้ดิน" คือ ทางแก้ปัญหาน้ำท่วมในเมือง ที่ไม่มีพื้นที่รับน้ำท่วมฉับพลัน จากฝนตกหนัก เพราะระบบสูบระบายน้ำ ยังไงก็สูบไม่ทันปริมาณน้ำฝน ที่มากขึ้นทุกปี

เป็นบ่อคอนกรีตเสริมเหล็ก สร้างได้ทั้งขนาดเล็กใช้รับน้ำท่วมในซอย หรือขนาดใหญ่รับน้ำท่วมในพื้นที่กว้าง ที่สามารถรับน้ำท่วมที่ระบายไม่ทัน ได้หลายแสนลูกบาศก์เมตร  ก่อสร้างได้ง่าย ไม่เสียพื้นที่บนดิน ซึ่งหาแทบไม่ได้ในใจกลางเมือง เช่น กรุงเทพ กรุงโซล และโตเกียว

ผมเสนอ "แก้มลิงใต้ดิน" มาหลายปี ด้วยประสบการณ์ ที่ได้เรียนรู้จากปัญหาในกรุงเทพ และจากหลายเมืองในต่างประเทศ 


สิ่งที่เราคนไทย น่าเรียนรู้จากเกาหลี คือ สไตล์การทำงานของคนเกาหลี คล้ายคนญี่ปุ่น ซึ่ง "ความรับผิดชอบ" ต้องทำหน้าที่ให้ดีที่สุด และพร้อมรับผิด โดยเฉพาะเรื่อง "ภัยพิบัติ พลาดไม่ได้" เพราะส่งผลถึงการสูญเสียทั้งชีวิต และทรัพย์สิน 


ดังนั้น เกาหลีจึงตั้ง องค์กรเพื่อความปลอดภัยสาธารณะ และภัยพิบัติ ให้มีบทบาทสำคัญในกรณีนี้ คือ

1. ตรวจสอบ หาสาเหตุ ทำไมน้ำท่วมอุโมงค์ได้ ทั้งที่มีระบบสูบน้ำ และทำไมไม่มีการแจ้งเตือนก่อน ทำให้รถติดอยู่ในอุโมงค์หลายคัน และคนต้องเสียชีวิต

2. ต้องมีผู้รับผิดชอบ ผู้สูญเสียได้รับความเป็นธรรม และเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ ทั้งเป็นคนกลางประสานบริษัทประกัน เพื่อชดเชยให้ทั้งหน่วยงานรัฐ และประชาชนผู้เสียหาย

3. ถอดบทเรียน เพื่อนำเสนอทางป้องกัน แก่ทั้งรัฐบาลกลาง และท้องถิ่น ทั้งร่วมวางแผนขั้นตอนป้องกันภัยพิบัติในอนาคต ร่วมกับผู้รับผิดชอบ 

4. ให้ความรู้ และอบรม แก่เจ้าหน้าที่กู้ภัย และประชาชน

หลังเหตุการณ์น้ำท่วมเมือง และความสูญเสียที่เกาหลี จึงเกิดแผนงานสู่การปฏิบัติมากมาย จากองค์กรเพื่อความปลอดภัยนี้ และติดตามการปฏิบัติการของรัฐ แทนประชาชน 

ทำให้ประชาชนมั่นใจว่า ในอนาคตจะไม่เกิดโศกนาฏกรรมเช่นนี้อีกถึงเวลา ประเทศไทยต้องใส่ใจเรื่องปัญหาซ้ำชาก ที่มีผลต่อความปลอดภัย ผมจึงขอเชิญชวนทุกท่านสร้างการเปลี่ยนแปลง ให้คนไทยอยู่อย่างปลอดภัย โดยร่วมลงชื่อ 10,000 คน เพื่อเสนอกฎหมายจัดตั้ง "องค์กรอิสระเพื่อความปลอดภัยสาธารณะ" ร่วมลงชื่อได้ที่เว็บไซต์ suchatvee.com โดยเป็นองค์กรที่ดูแลเรื่องความปลอดภัยสาธารณะโดยอิสระ ด้วยบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถ หลากหลายสาขาที่เกี่ยวข้องกับ มาตรฐานความปลอดภัยสาธารณะ มีความเป็นกลาง นำทางด้วยหลักการทางวิชาการ อย่างเคร่งครัด เหมือนเกาหลี ญี่ปุ่น และประเทศที่เขาห่วงใยประชาชน

มาสร้างการเปลี่ยนแปลงร่วมกันนะครับ

ศ.ดร. สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์
25/7/2566
 

หน้าแรก » การเมือง