การเมือง
บทความวิชาการ เทศบาลนครปากเกร็ด : การสื่อสารเพื่อสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชน
ติดตามข่าวด่วน กระแสข่าวบน Facebook คลิกที่นี่

บทความวิชาการ เทศบาลนครปากเกร็ด : การสื่อสารเพื่อสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชน The Pakkret Municipality : Participatory Communicationof Public โดยนางสาวพัชรินทร์ รัตนวิภา ผู้อำนวยการสำนักประชาสัมพันธ์ สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง
บทคัดย่อ (Abstract)
การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อการศึกษาแนวทางการกำหนดความสำคัญและวิธีการสื่อสารเพื่อสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนในการพัฒนาของเทศบาลนครปากเกร็ด เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative research) ด้วยวิธีการสัมภาษณ์เชิงลึก (In depth Interview) เพื่อสอบถามข้อมูลเกี่ยวกับ แนวทางการกำหนดความสำคัญ และวิธีการสื่อสารเพื่อสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชน และภาคีเครือข่ายจากผู้ให้ข้อมูลหลักในฐานะผู้รับผิดชอบงานยุทธศาสตร์ งานงบประมาณและงานเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ของเทศบาลนครปากเกร็ด
ผลการวิจัยพบว่า 1) เทศบาลนครปากเกร็ด ให้ความสำคัญกับการสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนในการพัฒนาเทศบาลทั้งในระดับนโยบายของผู้บริหารสูงสุด วิสัยทัศน์และยุทธศาสตร์การพัฒนาเทศบาล 2) เทศบาลนครปากเกร็ดมีแนวทางและวิธีการสื่อสารเพื่อสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนในการพัฒนาเทศบาล โดยกำหนดให้มีแผนแม่บทเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ระยะ 5 ปีพ.ศ. 2564 - 2568 กำหนดยุทธศาสตร์ครอบคลุม 3 ด้าน ได้แก่ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร การพัฒนาและการบูรณาการระบบสารสนเทศและการสร้างศักยภาพในการพัฒนาคน จัดให้มีระบบประชาสัมพันธ์และบริการข้อมูลข่าวสารของเทศบาลผ่านช่องทางหรือสื่อที่ใช้ในการสื่อสารแบบผสมผสาน ทั้งช่องทางตามแนวทางแบบเดิมและตามแนวทางเทคโนโลยีสารสนเทศสมัยใหม่ เพื่อสื่อสารไปยังกลุ่มเป้าหมายที่เกี่ยวข้องที่หลากหลายกลุ่ม หลายระดับ ทั้งภายในและภายนอกเทศบาล
บทนำ
การดำเนินงานหรือการพัฒนาใดๆ ปัจจัยแห่งความสำเร็จที่สำคัญมากประการหนึ่ง คือ การมีส่วนร่วมของสมาชิกที่เกี่ยวข้องในการร่วมคิด ร่วมทำ และร่วมรับผิดชอบ เทศบาลเป็นหน่วยการปกครองท้องถิ่นรูปแบบหนึ่ง ที่มีฝ่ายบริหารและสภาเทศบาลมาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชนในเขตพื้นที่มีวาระการดำรงตำแหน่ง 4 ปี ซึ่งจะมีโครงสร้างองค์การ รูปแบบและเทคนิคการบริหารงานการพัฒนาชุมชนที่แตกต่างจากหน่วยงานปกติทั่วไปของรัฐที่ผู้บริหารมาจากการแต่งตั้ง โดยเฉพาะเทศบาลขนาดใหญ่และมีทำเลที่ตั้งอยู่ในเขตปริมณฑลกรุงเทพมหานคร ดังเช่น เทศบาลนครปากเกร็ด จำเป็นต้องมีนโยบาย ยุทธศาสตร์ แผนแม่บทการพัฒนาเทศบาลที่ชัดเจน เหมาะสม สอดคล้องกับสภาพชุมชน และความต้องการของประชาชน รวมทั้งต้องสามารถแปลงไปสู่การปฏิบัติได้อย่างเป็นรูปธรรมโดยเร็วภายในสมัยวาระการดำรงตำแหน่งของฝ่ายบริหาร เพื่อสร้างสรรค์การเจริญก้าวหน้าของเทศบาล เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของประชาชนในพื้นที่ และเป็นผลงานเพื่อการหาเสียงเลือกตั้งในสมัยต่อไป
การสื่อสารเพื่อสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชน จึงเป็นเครื่องมือที่สำคัญที่ฝ่ายบริหารต้องนำมาใช้เพื่อขับเคลื่อนพันธกิจหลักของเทศบาล ให้กลุ่มเป้าหมายที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายทั้งภายในและภายนอกเทศบาล ได้รับรู้ เข้าใจ และพร้อมเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาเทศบาลร่วมกับฝ่ายบริหารสภาเทศบาล และพนักงานประจำของเทศบาล เพื่อสัมฤทธิ์ผลในการพัฒนาเทศบาล ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ประสิทธิผล ประชาชนในเขตเทศบาลมีคุณภาพชีวิตที่ดียิ่งขึ้น ชุมชนมีความเข้มแข็งและยั่งยืนต่อไป
วัตถุประสงค์ของการวิจัย
1. เพื่อศึกษาถึงแนวทางการกำหนดความสำคัญของการสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนในการพัฒนาเทศบาลนครปากเกร็ด
2. เพื่อศึกษาถึงแนวทางและวิธีการสื่อสารเพื่อสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนในการพัฒนาเทศบาลนครปากเกร็ด
นิยามศัพท์
การมีส่วนร่วมของประชาชน หมายถึง การเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาเทศบาลนครปากเกร็ดของบุคคลที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย ผู้บริหารเทศบาล สมาชิกสภาเทศบาล พนักงานลูกจ้างเทศบาล ประธานชุมชน สมาชิกในชุมชนของเทศบาลนครปากเกร็ด และภาคีเครือข่ายภายนอกเทศบาลนครปากเกร็ด ในช่วงปี พ.ศ. 2564 - 2566
ทบทวนวรรณกรรม
แนวคิดการมีส่วนร่วม
United Nations (1981) ได้กล่าวว่า การมีส่วนร่วม หมายถึง การเข้าร่วมอย่างกระตือรือร้นและมีพลังของประชาชนในด้านต่างๆ ได้แก่ การตัดสินใจ เพื่อกำหนดเป้าหมายของสังคมและการจัดสรรทรัพยากรเพื่อให้บรรลุเป้าหมายและปฏิบัติตามแผนงานหรือโครงการต่างๆด้วยความเต็มใจ
ปาริชาต วลัยเสถียรและคณะ (2543) ได้อธิบาย การมีส่วนร่วม หมายถึงการมีส่วนร่วมของประชาชน กลุ่มองค์กร เครือข่ายและภาคีการพัฒนาในการดำเนินงานตามข้อเสนอโครงการ เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชน
Cohn and Uphoff (1997) ได้กล่าวถึงรูปแบบการมีส่วนร่วมของประชาชนใน 4 ลักษณะ คือ 1) การมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ (Decision making) 2) การมีส่วนร่วมในการปฏิบัติการ (Implementation) 3) การมีส่วนร่วมแบ่งปันในผลประโยชน์ (Benefit) และ 4) การมีส่วนร่วมในการประเมินผล (Evaluation)
แนวคิดการสื่อสาร
David K.Berlo (1960) ได้อธิบายว่า การสื่อสารประกอบด้วย 1) แหล่งสารหรือผู้ส่งสาร (Source/Sender) 2) เนื้อหาสาร (Message) 3) ช่องทางการสื่อสาร (Channel) และ 4) ผู้รับสาร (Receiver)
แนวคิดการสื่อสารแบบมีส่วนร่วม
Arcroft (1987) การสื่อสารแบบมีส่วนร่วม คือ กระบวนการที่กลุ่มบุคคลต่างๆ ที่มีความตั้งใจ และมีความเกี่ยวข้องกับประเด็นและปัญหาหนึ่ง ๆ ได้เข้ามามีบทบาทในกระบวนการแลกเปลี่ยนความรู้และสร้างความเข้าใจร่วมกัน
Jacobson (1944) การสื่อสารแบบมีส่วนร่วมเกี่ยวกับการเข้าร่วม (Involvement) ของประชาชนในโครงการต่างๆที่เกี่ยวข้องกับการสื่อสารในทุกระดับ โดยมีความไว้วางใจกันเป็นสำคัญที่อยู่เบื้องหลังกระบวนการสื่อสารและพัฒนาต่างๆ
กาญจนา แก้วเทพ และคณะ (2543) ได้กล่าวถึงระดับของการสื่อสารแบบมีส่วนร่วมไว้ 3 ระดับ เรียงจากน้อยไปหามาก ดังนี้ 1) การมีส่วนร่วมในฐานะผู้รับสาร/ผู้ใช้สาร (Receiver/Users) 2) การมีส่วนร่วมในฐานะผู้ส่ง/ ผู้ผลิต/ ผู้ร่วมแสดง (Sender/ Producer/ performance) และ 3) การมีส่วนร่วมในฐานะผู้วางแผนและกำหนดนโยบาย (Planner/Policy Maker)
มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช (2549) กล่าวถึง เทคนิคการสื่อสารเพื่อสร้างการมีส่วนร่วมโดยแบ่งตามลักษณะช่องทางหรือสื่อที่ใช้ในการสื่อสาร ได้แก่ ช่องทางหรือสื่อตามแนวทางแบบเดิมและช่องทางหรือสื่อตามแนวทางเทคโนโลยีสารสนเทศสมัยใหม่
แนวคิดการจัดการการสื่อสารเครือข่าย
พัชรินทร์ รัตนวิภา (2565) ได้อธิบายหลักการสำคัญของการจัดการสื่อสารเครือข่ายให้มีประสิทธิภาพต่อองค์กรมากยิ่งขึ้น ดังนี้ 1) P (Participation) คือ ความร่วมมือในการนำความคิดการมีส่วนร่วมของเครือข่าย มาใช้ 2) R (Relationship) คือ การสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับคนในเครือข่าย สร้างแรงจูงใจในการเผยแพร่ข่าวสารภายในเครือข่าย 3) N (Network) คือการใช้กลยุทธ์ในการจัดการการสื่อสารภายในเครือข่ายและ4) E (Efficiency) คือ การเพิ่มประสิทธิภาพขององค์กรเกี่ยวกับแนวคิดและนโยบายการจัดการสื่อสารเครือข่าย
เทศบาลนครปากเกร็ด
1.สภาพทั่วไป เทศบาลนครปากเกร็ด ตั้งอยู่ในอำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี ด้านฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา ห่างจากตัวจังหวัดนนทบุรีประมาณ 10 กิโลเมตร ทำเลที่ตั้งเป็นปริมณฑล กรุงเทพมหานคร มีพื้นที่ปกครอง 36.04 ตารางกิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่ 5 ตำบล ได้แก่ ตำบลปากเกร็ด ตำบลบางตลาด ตำบลบางพูด ตำบล บ้านใหม่ และตำบลคลองเกลือ มีชุมชนทั้งหมด 66 ชุมชนเทศบาลนครปากเกร็ด เป็นหน่วยการปกครองท้องถิ่นรูปแบบหนึ่ง ประกอบด้วย ฝ่ายบริหาร (นายกเทศมนตรี) และฝ่ายนิติบัญญัติ (สมาชิกสภาเทศบาล 24 คน) มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชนในพื้นที่ วาระดำรงตำแหน่ง 4 ปี มีนายวิชัย บรรดาศักดิ์ ดำรงตำแหน่งนายกเทศมนตรีนครปากเกร็ด (ดำรงตำแหน่งติดต่อกันหลายสมัยจนถึงปัจจุบัน) ในส่วนของพนักงาน ลูกจ้างเทศบาล มีปลัดเทศบาล เป็นผู้บังคับบัญชา ทำหน้าที่ในการบริหารงานภายในเทศบาล ให้เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาล นโยบาย ฝ่ายบริหาร และกฎหมาย ระเบียบแบบแผนของทางราชการ
2.แผนพัฒนาท้องถิ่น เทศบาลนครปากเกร็ด พ.ศ. 2566 - 2570 (ต่อเนื่องจากแผนพัฒนาท้องถิ่น เทศบาลนครปากเกร็ด พ.ศ. 2561 - 2565) 2.1 วิสัยทัศน์ “แหล่งการศึกษาชั้นดี ที่อยู่อาศัยชั้นนำ ถิ่นวัฒนธรรมดั้งเดิม ประชาชนร่วมเสริมการพัฒนา” 2.2 พันธกิจ 1) ด้านการจัดการศึกษา บำรุงรักษาศาสนา จารีตประเพณีและวัฒนธรรมท้องถิ่น 2) ด้านการจัดการปรับปรุงรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พื้นที่สาธารณะและถิ่นที่อยู่อาศัย 3) ด้านการพัฒนา ปรับปรุง บำรุงรักษาเส้นทางคมนาคม การจราจร และสาธารณูปโภคในพื้นที่ 4) ด้านส่งเสริมและพัฒนาบริการสาธารณสุข สวัสดิการสังคม และส่งเสริมคุณภาพชีวิต 5) ด้านส่งเสริมและพัฒนาเศรษฐกิจและชุมชน การประกอบอาชีพ และการท่องเที่ยว 6) ด้านการส่งเสริมการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน และภาคส่วนต่าง ๆ ในพื้นที่ 7) ด้านการพัฒนาคุณภาพการบริหารจัดการเพื่อประโยชน์ของประชาชน 2.3 ยุทธศาสตร์การพัฒนา (สอดคล้องกับพันธกิจของเทศบาลฯ) 1) ด้านการศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม 2) ด้านทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม 3) ด้านการพัฒนาระบบคมนาคม และสาธารณูปโภค 4) ด้านสาธารณสุข และสวัสดิการสังคม 5) ด้านเศรษฐกิจชุมชน และการท่องเที่ยว 6) ด้านการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน และประสานาความร่วมมือกับทุกภาคส่วน 7) ด้านการบริหารและการบริการ
3. แผนแม่บทเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร พ.ศ.2564-2568 3.1 วิสัยทัศน์ “มุ่งสู่ความเป็นเมืองอัจฉริยะ ยกระดับชุมชนด้วยนวัตกรรม เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น” 3.2 พันธกิจ 1) การต่อยอดโครงสร้างพื้นฐานเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร 2) การดูแลทรัพยากรคอมพิวเตอร์ ระบบสารสนเทศและการสื่อสารในสำนักงาน 3) การขับเคลื่อนเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารสู่การเป็นเมืองอัจฉริยะ (Smart City) 3.3 ยุทธศาสตร์ 1) การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ และการสื่อสาร เพื่อมุ่งสู่เมืองอัจฉริยะ 2) การพัฒนาและบูรณาการระบบสารสนเทศ เพื่อการบริหารและกระบวนการบริการ 3) การสร้างศักยภาพในการพัฒนาคน เพื่อการเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัล
4. รางวัลความสำเร็จในการพัฒนาเทศบาลนครปากเกร็ด พ.ศ. 2564 - 2566 1) รางวัลองค์กรปกครองท้องถิ่นที่มีผลการปฏิบัติงานดีเด่น ปี พ.ศ. 2564 (ด้านสิ่งแวดล้อม) 2) รางวัลโครงการขับเคลื่อนการพัฒนาท้องถิ่นดิจิทัล ปี พ.ศ. 2564 3) รางวัลรับรองมาตรฐานการให้บริการของศูนย์ราชการสะดวก GECC ปี พ.ศ. 2564 (ระดับพื้นฐาน) 4) รางวัลเมืองสิ่งแวดล้อมยั่งยืน ปี พ.ศ. 2565 5) รางวัลองค์กรปกครองปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีการบริหารจัดการที่ดี ปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ฯลฯ
วิธีการดำเนินการวิจัย
การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) โดยการสัมภาษณ์เชิงลึก (In – Depth Interview) ผู้ให้ข้อมูลหลัก ประชากร คือตัวแทนของเทศบาลนครปากเกร็ดที่มีส่วนเกี่ยวข้องเพื่อสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนในการพัฒนาเทศบาลนครปากเกร็ด ระหว่างปี พ.ศ. 2564 - 2566 กลุ่มตัวอย่าง ใช้วิธีการกำหนดแบบเจาะจง (Purposive Sampling) ผู้ให้ข้อมูลหลักในฐานะผู้รับผิดชอบงานยุทธศาสตร์ งานงบประมาณ และงานเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ของเทศบาลนครปากเกร็ด เครื่องมือการวิจัย ใช้การสัมภาษณ์แบบเชิงลึก (IN- depth interview) ตามแนวคำถามในรูปแบบ กึ่งโครงสร้าง(Semi-Structured interview)
การเก็บรวบรวมข้อมูล ผู้วิจัยได้ดำเนินการดังนี้ 1) นัดหมายผู้ให้ข้อมูลหลักเป็นการล่วงหน้าก่อน การสัมภาษณ์เชิงลึก 2) จัดส่งแนวคำถามล่วงหน้าให้กับผู้ให้ข้อมูลหลัก 3) จัดเตรียมและตรวจสอบอุปกรณ์ ความพร้อมต่างๆในการสัมภาษณ์เชิงลึก 4) ก่อนสัมภาษณ์เชิงลึก จะเป็นการสนทนาสร้างความเป็นกันเอง กับผู้ให้ข้อมูลหลัก 5) ระหว่างการสัมภาษณ์ ถามคำถามตามแนวคำถามในแบบสัมภาษณ์ที่ได้จัดส่งให้ล่วงหน้า หากคำถามยังไม่ชัดเจนหรือครบถ้วน ดำเนินการถามซ้ำและให้ผู้ให้ข้อมูลหลักอธิบายชี้แจงเพิ่มเติมอีกครั้ง 6) ภายหลังการสัมภาษณ์เสร็จสิ้น ดำเนินการถอดเทปการสัมภาษณ์เปรียบเทียบกับข้อมูลที่ได้บันทึกเสียงและภาพวิดีโอไว้ระหว่างการสัมภาษณ์ และ 7) จัดทำรายงานผลการสัมภาษณ์เชิงลึกผู้ให้ข้อมูลหลัก
การวิเคราะห์และนำเสนอข้อมูล เมื่อดำเนินการเก็บรวบรวมข้อมูลที่ได้จากการสัมภาษณ์เชิงลึกแล้ว นำมาตรวจสอบความถูกต้องครบถ้วนของข้อมูล จากนั้นแบ่งข้อมูลตามประเภทหัวข้อ เรื่องที่ศึกษา ตามประเด็นที่ค้นพบ และนำข้อมูลดังกล่าวมาทำการวิเคราะห์เนื้อหา (Content Analysis) สังเคราะห์เนื้อหา (Synthesis) แล้วนำเสนอข้อมูลเชิงพรรณนา (Descriptive Analysis) ตามประเด็นหัวข้อที่กำหนดไว้
ผลการวิจัย
สรุปได้ดังนี้ 1. เทศบาลนครปากเกร็ด ได้ให้ความสำคัญกับการสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนในการพัฒนาเทศบาลทั้งในระดับนโยบายของผู้บริหารสูงสุดของเทศบาล วิสัยทัศน์และยุทธศาสตร์การพัฒนาเทศบาล 1.1 คำแถลงนโยบายของนายวิชัย บรรดาศักดิ์ นายกเทศมนตรีนครปากเกร็ดต่อที่ประชุมสภาเทศบาลนครปากเกร็ด ก่อนเข้ารับหน้าที่ ปรากฏดังนี้ “พัฒนาเทศบาลนครปากเกร็ดอย่างต่อเนื่องและยั่งยืนเป็นนครแห่งความสุข โดยอาศัยการมีส่วนร่วมของชุมชนที่เข้มแข็ง และการประสานความร่วมมือกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง”
1.2 แผนพัฒนาท้องถิ่น พ.ศ. 2566 - 2570 ของเทศบาลนครปากเกร็ด ได้ประกาศอนุมัติใช้ตั้งแต่วันที่ 28 ตุลาคม 2564 กำหนดวิสัยทัศน์ของเทศบาลนครปากเกร็ดไว้ว่า “แหล่งการศึกษาชั้นดี ที่อยู่อาศัยชั้นนำ ถิ่นวัฒนธรรมดั้งเดิม ประชาชนร่วมเสริมการพัฒนา” และกำหนดให้มียุทธศาสตร์การพัฒนาด้านการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน และประสานความร่วมมือกับทุกภาคส่วน (จากยุทธศาสตร์การพัฒนาของเทศบาลทั้งหมด 7 ด้าน)
2. เทศบาลนครปากเกร็ด มีแนวทางและวิธีการสื่อสารเพื่อสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนในการพัฒนาเทศบาล ดังนี้
2.1 กำหนดให้มีแผนแม่บทเทคโนโลยีสารสนเทศ และการสื่อสาร ระยะ 5 ปี พ.ศ. 2564 - 2568 (ต่อเนื่องจากแผนแม่บทเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารระยะ 5 ปี พ.ศ.2559 - 2563) โดยกำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาของแผนแม่บทฯ ไว้ 3 ด้าน คือ 1) ยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเพื่อมุ่งสู่เมืองอัจฉริยะ 2) ยุทธศาสตร์การพัฒนาและบูรณาการระบบสารสนเทศเพื่อการบริหารและกระบวนการบริหาร และ 3) ยุทธศาสตร์การสร้างศักยภาพในการพัฒนาคนเพื่อการเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัล
2.2 จัดให้มีระบบประชาสัมพันธ์และบริการข้อมูลข่าวสารของเทศบาลผ่านช่องทางหรือการสื่อสารในรูปแบบต่างๆ ได้แก่ ป้ายประชาสัมพันธ์ เคาท์เตอร์ประชาสัมพันธ์ โทรศัพท์ สายด่วน 1132 คู่มือการปฏิบัติงาน คู่มือการติดต่อเทศบาล เอกสารแผนงานโครงการต่างๆ สรุปรายงานกิจการเทศบาล เสียงตามสาย เว็บไซต์ เพจ แอปพลิเคชั่นข่าวสารเทศบาล สื่อบุคคล และระบบ E-Service 24 ชั่วโมง อาทิ จองคิวทำบัตรประชาชนออนไลน์ การขอเลขที่บ้านออนไลน์ การตรวจสอบค่าฝุ่น P.M 2.5 การดูสภาพจราจรออนไลน์ สายตรงเทศบาล E-OSNS แผนที่สาธารณูปโภคออนไลน์ กระดานถามตอบ (Q&A) และ E-Book เป็นต้น
2.3 การสื่อสารเพื่อสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนในการพัฒนาเทศบาลนครปากเกร็ดมีบุคคล ที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ 1) กลุ่มบุคคลภายในสำนักงานเทศบาล ได้แก่ ผู้บริหารที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรง ของประชาชน (นายกเทศมนตรี) และคณะ สมาชิกสภาเทศบาลที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน (24 คน) พนักงานลูกจ้างเทศบาล และอาสาสมัครช่วยงานเทศบาล 2) กลุ่มประชาชนในเขตชุมชนเทศบาล ได้แก่ ประธานชุมชน และสมาชิกในชุมชน และ 3) กลุ่มภาคีเครือข่ายภายนอกที่เกี่ยวข้องการสื่อสารเพื่อสร้างการมีส่วนร่วมของสมาชิกภายในกลุ่มและระหว่างกลุ่มใช้วิธีการผ่านช่องทางหรือสื่อที่ใช้ในการสื่อสารที่หลากหลายผสมผสานกัน ทั้งแบบทางการและไม่ทางการ ในกรณีที่เกิดปรากฏการณ์ข่าวสารบิดเบือนหรือคลาดเคลื่อน สับสน (Fake News) เทศบาลนครปากเกร็ด ดำเนินการมอบหมายให้พนักงานเทศบาลผู้มีหน้าที่รับผิดชอบงานนั้น ๆ โดยตรง เป็นผู้ตรวจสอบข้อเท็จจริงทันที และดำเนินการชี้แจงประชาสัมพันธ์ข้อมูลที่เป็นจริง ให้ชุมชนและภาคีเครือข่ายทราบผ่านช่องทางและสื่อต่างๆของเทศบาลต่อไป
การอภิปรายผลการวิจัย
1. ผลการศึกษาที่พบว่า เทศบาลนครปากเกร็ดให้ความสำคัญกับการสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนในการพัฒนาเทศบาล ทั้งในระดับนโยบายของผู้บริหารสูงสุดของเทศบาล วิสัยทัศน์ และยุทธศาสตร์ การพัฒนาเทศบาลนั้น แสดงให้เห็นว่า เทศบาลนครปากเกร็ด ให้ความสำคัญสูงสุดกับแนวคิดการสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชน ในการพัฒนาเทศบาล โดยสื่อสารให้ปรากฏต่อสาธารณะ เป็นลายลักษณ์อักษรในรูปแบบของนโยบายที่แถลงต่อสภาเทศบาล แผนพัฒนาท้องถิ่นระยะ 5 ปี ที่กำหนดวิสัยทัศน์และยุทธศาสตร์การพัฒนาเทศบาล อันสะท้อนให้เห็นถึงผู้บริหารสูงสุดของเทศบาลที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน ย่อมตะหนักและให้ความสำคัญในระดับสูงสุดต่อแนวคิดการสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชน รวมทั้งยังเป็นการแปลงแนวคิดดังกล่าวให้เป็นรูปธรรม มีความชัดเจน และสื่อสารไปยังกลุ่มเป้าหมายทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องให้เกิดการรับรู้ ความเข้าใจร่วมกัน และสร้างพลังในการแปลงไปสู่แผนงาน โครงการและกิจกรรมต่างๆในการพัฒนาเทศบาลต่อไป
2. ผลการศึกษาที่พบว่า เทศบาลนครปากเกร็ดมีแนวทางและวิธีการสื่อสารเพื่อสร้างการมีส่วนร่วม ของประชาชน ดังนี้ 2.1 แผนแม่บทเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ระยะ 5 ปี พ.ศ. 2564 - 2568 เทศบาลนครปากเกร็ด นั้น แสดงให้เห็นว่า เทศบาลนครปากเกร็ด ได้เห็นความสำคัญของเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเป็นอย่างมากและยังดำเนินการต่อยอดจากแผนแม่บทฯ 5 ปี พ.ศ. 2559 - 2563 เพื่อให้เกิดความต่อเนื่องในการใช้แผนแม่บท ดังกล่าวเป็นกลยุทธ์และเครื่องมือสำคัญในการขับเคลื่อนพันธกิจยุทธศาสตร์การพัฒนาและแผนแม่บท ด้านอื่น ๆ ของเทศบาล ให้ดำเนินไปอย่างเป็นระบบมีประสิทธิภาพ และประสิทธิผล โดยกำหนดยุทธศาสตร์ของแผนแม่บทเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารไว้ครอบคลุมทั้ง 3 ด้าน คือ
1) ยุทธศาสตร์การพัฒนา โดยสร้างพื้นฐานของระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเพื่อมุ่ง สู่เมืองอัจฉริยะ มีแผนงาน โครงการสำคัญ รองรับ ได้แก่ โครงการเครือข่ายอัจฉริยะ Smart city โครงการพัฒนาความปลอดภัยเมืองอัจฉริยะ โครงการสนับสนุนการจัดทำระบบข้อมูลพื้นฐานด้านต่างๆ เป็นต้น
2) ยุทธศาสตร์การพัฒนาและบูรณาการระบบสารสนเทศเพื่อการบริหารและกระบวนการบริการมีแผนงานโครงการสำคัญรองรับ ได้แก่ โครงการ Smart Asset โครงการพัฒนาระบบบริหารจัดการแบบฟอร์มอิเล็กทรอนิกส์ โครงการแผนที่ภาษีบนอุปกรณ์โมบาย โครงการยกระดับการให้บริการอิเล็กทรอนิกส์แบบจุดเดียวเบ็ดเสร็จ โครงการ School Information System โครงการระบบข้อมูลสำหรับบริหารเมืองอัจฉริยะ โครงการเฝ้าระวังทางสังคมและขนส่งผ่านกล้อง CCTV เป็นตัน
3) ยุทธศาสตร์การสร้างศักยภาพในการพัฒนาคนเพื่อการเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัลมีแผนงาน โครงการสำคัญ รองรับ ได้แก่ โครงการประเมินสมรรถนะดิจิทัลบุคลากร โครงการพัฒนาสมรรถนะดิจิทัลบุคลากร โครงการส่งเสริมสมรรถนะดิจิทัลของประชาชนเทศบาล ( Digital Citizen ) โครงการพัฒนา E-Service ด้วย Design Thinking เป็นต้น
2.2 เทศบาลนครปากเกร็ด จัดให้มีระบบประชาสัมพันธ์และบริการข้อมูลข่าวสารผ่านช่องทางหรือสื่อประชาสัมพันธ์ในรูปแบบต่าง ๆ นั้น แสดงให้เห็นว่าเทศบาลนครปากเกร็ด มีเทคนิคการสื่อสารเพื่อสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนโดยแบ่งตามลักษณะช่องทางหรือสื่อที่ใช้ในการสื่อสาร ได้แก่ ช่องทางหรือสื่อตามแนวทางแบบเดิม เช่น ป้ายประชาสัมพันธ์ เคาน์เตอร์ประชาสัมพันธ์ คู่มือการปฏิบัติงาน คู่มือการติดต่อเทศบาล โทรศัพท์ เสียงตามสาย การประชุมสนทนา เป็นต้น และช่องทางหรือสื่อตามแนวทางเทคโนโลยีสารสนเทศสมัยใหม่ เช่น เว็บไซต์ เพจ ไลน์ สายด่วน 1132 ระบบ E-Service 24 ชั่วโมง เป็นต้น ซึ่งเหมาะสมและครอบคลุมกับสภาพแวดล้อมและบริบทต่าง ๆ ของเทศบาลนครปากเกร็ดที่เป็นเทศบาลขนาดใหญ่ และมีทำเลที่ตั้งอยู่ในเขตปริมาณของกรุงเทพมหานคร และสอดคล้องกัน แนวคิดของมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช (2549)
2.3 การสื่อสารเพื่อสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนในการพัฒนาเทศบาลนครปากเกร็ด มีกลุ่มบุคคลที่เกี่ยวข้องทั้งภายในสำนักงานเทศบาล และภายนอกเทศบาล และใช้ช่องทางหรือสื่อที่ใช้ในการสื่อสาร ที่หลากหลายทั้งตามแนวทางเดิม และตามแนวทางเทคโนโลยีสารสนเทศสมัยใหม่ นั้น แสดงให้เห็นว่าเทศบาลนครปากเกร็ด มีเครือข่ายการสื่อสารหลายกลุ่ม หลายระดับ ทั้งที่อยู่ภายในสำนักงานเทศบาล และภายนอกเทศบาล การใช้เทคนิคการสื่อสารที่ผสมผสานกันช่องทางหรือสื่อในการสื่อสาร ตามแนวทางแบบเดิม หรือตามแนวทางเทคโนโลยีสารสนเทศสมัยใหม่ ประกอบกับผู้ส่งสารโดยเฉพาะผู้บริหารสูงสุดของเทศบาลที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน ที่มีทักษะ การสื่อสารที่ดี มีความใกล้ชิดผูกพันกับผู้รับสารกลุ่มต่าง ๆ รวมทั้งกำหนดเนื้อหาของสารที่ต้องการสื่อออกไปให้มีความชัดเจน กระชับตรงประเด็นสอดคล้องกับความต้องการ ความสนใจของผู้รับสาร สามารถสร้างความสัมพันธ์อันดีและจูงใจให้ผู้รับสารเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาเทศบาลได้เป็นอย่างดี จนกระทั้ง สามารถได้รับความไว้วางใจจากประชาชนในเขตชุมชนเทศบาล ได้รับการเลือกตั้งให้ดำรงตำแหน่งนายกเทศมนตรีเทศบาลนครปากเกร็ดติดต่อกันหลายสมัยจนถึงปัจจุบันซึ่งสอดคล้องกับแนวคิดของ Jacobson (1994)
3. เทศบาลนครปากเกร็ด มีแนวคิด กระบวนการสื่อสารและการจัดการการสื่อสารเครือข่ายทั้งภายในและภายนอกเทศบาล เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชน ในการพัฒนาเทศบาลที่สอดคล้องกับแนวคิดของ David K. Berlo (1960) และหลักการสำคัญของการจัดการการสื่อสารเครือข่าย ของ พัชรินทร์ รัตนวิภา (2565) ดังแผนภาพต่อไปนี้
ข้อเสนอแนะ
สังคมยุคดิจิทัล จะมีการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็ว มีการกระจายข่าวสารที่ทันต่อสถานการณ์นั้นๆ ซึ่งจะส่งผลโดยตรงต่อการรับรู้ ความรู้สึก ความเข้าใจของสมาชิกในสังคมเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะเมืองขนาดใหญ่ที่มีประชากรจำนวนมากหลากหลายความคิด และมีทำเลที่ตั้งอยู่ติดชิดกับเมืองหลวงศูนย์กลางแห่งอำนาจของประเทศ ดังนั้นเทศบาลนครปากเกร็ดจำเป็นต้องมีการติดตามและประเมินผลยุทธศาสตร์และกลยุทธ์การสื่อสารของเทศบาลให้เท่าทันสอดคล้องกับบริบทการเปลี่ยนแปลงของสังคมดิจิทัล และมีประสิทธิผลมากยิ่งขึ้นการวิจัยครั้งต่อไป ควรมีการศึกษาถึงประสิทธิภาพและประสิทธิผลของการสื่อสาร เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนในการพัฒนาเทศบาล เพื่อทราบผลสัมฤทธิ์ของการดำเนินงานตามแผนพัฒนาท้องถิ่น 5 ปี
พ.ศ. 2566 - 2570 ของเทศบาลนครปากเกร็ดต่อไป
เอกสารอ้างอิง
กาญจนา แก้วเทพ. (2543). สื่อสารมวลชน : ทฤษฎีและแนวทางการศึกษา .(พิมพ์ครั้งที่ 2). กรุงเทพฯ : บริษัท เอดิสัน เพรส โพรดักส์ จำกัด.
ปาริชาติ วิลัยเสถียร และคณะ. (2543). กระบวนการและเทคนิคการทำงานของนักพัฒนา.กรุงเทพฯ : สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย.
มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช. (2549). เอกสารการสอนชุดวิชาการสื่อสารเพื่อการพัฒนา (Communication and Development หน่วยที่ 1-8 กมลรัฐ อินทรทัศน์. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช.
อัจฉรา ศรีพันธ์. (2554 ตุลาคม-2555 มีนาคม). กลยุทธ์การสื่อสารแบบการมีส่วนร่วมเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของประเทศไทย. วารสารวิทยาการจัดการและสารสนเทศ. 7(1): 5-19
พัชรินทร์ รัตนวิภา. (2565). การจัดการสื่อสารเครือข่ายร่วมปฏิบัติงานของสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง. (ดุษฎีนิพนธ์หลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต) สาขาวิชานิเทศศาสตร์ แขนงวิชา
นวัตกรรมการสื่อสารทางการเมืองและการปกครองท้องถิ่น. มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช.
เทศบาลนครปากเกร็ด. (2564). แผนพัฒนาท้องถิ่น (พ.ศ.2566-2570).
เทศบาลนครปากเกร็ด. (2564). แผนแม่บทเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร พ.ศ.2564-2568.
Ascroft, J.(1987).Communication in Support of development :Lessons From theory and practice. Paper presented at the seminar on Communication and Change East-West Center, Honolulu Hawaii.
Berlo, D.K. (1960) The Process of Communication. New York: Holt, Rinehart and Winston, Inc.
Cohen, J.M., and Uphoft, N.T (1997). Rural Development Participation : Concept and Measures for Project design , Implentation and Evaluation. London : Rural Development Committee, Center for International Studies, Cornell University.
Jacobson,T.L. (1994). Modernization and post- modernization approaches to participatory communication for development. Participative communication as a part of building the participative society. In S.N. White, K.S.Nair, R.J. Ascroft (Eds.), participatory Communication : Working For Change and Development. (pp. 60-75) Thousand Oaks, CA : Sage.
United Nations. (1983). Popular participation as a strategy for promoting community level action and nation development New York : United Nations.
ติดตามข่าวด่วน กระแสข่าวบน Facebook คลิกที่นี่
หน้าแรก » การเมือง
Top 5 ข่าวการเมือง ![]()
- นายกฯ แจง "เอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์" ไม่ใช่แค่กาสิโน แต่เป็นโอกาสใหม่ของไทย 4 พ.ค. 2568
- รัฐบาลจัดงานสโมสรสันนิบาต เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในวันฉัตรมงคล 4 พฤษภาคม 2568 4 พ.ค. 2568
- "สมช." ประณามผู้ก่อเหตุรุนแรงภาคใต้เป็นการกระทำที่ไร้อารยะ 4 พ.ค. 2568
- ก.ค.นี้ "เซลล์บรอดแคสต์" มาแน่ ระบบเตือนภัยแผ่นดินไหว แม่นยำรวดเร็วสุด 4 พ.ค. 2568
- "พิพัฒน์" สั่งพิจารณาข้อเรียกร้องวันแรงงาน ยันเดินหน้าสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีเพื่อผู้ใช้แรงงาน 4 พ.ค. 2568
ข่าวในหมวดการเมือง ![]()
รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นประธานเปิดการแข่งขันกีฬา "เทพกระษัตรีสัมพันธ์ ครั้งที่ 4" จังหวัดภูเก็ต 19:26 น.
- "ประเสริฐ" สั่งเดินหน้า "โคราชโมเดล" ขับเคลื่อน Learn to Earn ช่วย "เยาวชน" ทุกกลุ่มให้มีโอกาสศึกษา เสมอภาค 18:56 น.
- เสวนาเสรีภาพสื่อ "เสรีภาพสื่อ VS AI Surveillance : ผลกระทบ โอกาส และความท้าทาย" 18:46 น.
- "สมาคมนักข่าวฯ" จัดงานวันเสรีภาพสื่อมวลชนโลก ชี้สื่อไทยเสรี-สังคมอ่วมข่าวลวง 18:33 น.
- กสม.ออกแถลงการณ์ประณามผู้ไม่หวังดีกราดยิงกลุ่มเปราะบางตากใบเสียชีวิตและบาดเจ็บ ชี้ขัดกับทุกหลักศาสนา 17:56 น.