วันอาทิตย์ ที่ 27 ตุลาคม พ.ศ. 2567 06:22 น.

การเมือง

“นฤมล” นำทีมไทยแลนด์ พบ รมว.เพาะปลูกมาเลเซีย ขับเคลื่อนการค้าการลงทุนอุตสาหกรรมยางพารา

วันพฤหัสบดี ที่ 11 กรกฎาคม พ.ศ. 2567, 09.55 น.

“นฤมล” ผู้แทนการค้าไทยนำทีมไทยแลนด์ พบ รมว.เพาะปลูกมาเลเซีย ขับเคลื่อนการค้าการลงทุนอุตสาหกรรมยางพารา เผยไทย-มาเลเซีย เตรียมลงนาม MOU เดินหน้าสร้างความเข้มแข็งผู้นำด้านยางพาราของโลก 

เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2567  ณ ที่ทำการ MRB กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย ศาสตราจารย์ นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ ผู้แทนการค้าไทยหารือกับ ดาโต๊ะ เสรี โจฮารี อับดุลกานี่ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการเพาะปลูกและสินค้าโภคภัณฑ์มาเลเซีย และคณะผู้บริหารจาก Ministry of Plantation Industries and Commodities และคณะผู้บริหาร Malaysian Rubber Board โดยมีทีมไทยเลนด์ ประกอบด้วยน.ส.ลดา  ภู่มาศ เอกอัครราชทูตประจำประเทศไทย ณ กรุงกัวลาลัมเปรอ์ ดร. เพิก เลิศวังพง ประธานกรรมการการยางแห่งประเทศไทย นายโกศล บุญคง รองผู้ว่าการด้านบริหารการยางแห่งประเทศไทยพร้อมด้วยผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมเจรจาด้านการค้าการลงทุนในอุตสาหกรรมยางพาราเตรียมพร้อมเดินหน้าจับมือลงนามความร่วมมือเพื่อขับเคลื่อนอุตสาหกรรมยางพารา และสร้างความเข้มแข็งในฐานะผู้นำด้านการผลิตและการส่งออกด้านยางพาราของโลก 
 
ผู้แทนการค้าไทย  กล่าวว่า ด้วยนโยบายของนายกรัฐมนตรีระหว่างประเทศไทยและประเทศมาเลเซีย ที่ต้องการจะพัฒนาอุตสาหกรรมยางพาราของทั้งสองประเทศให้มีประสิทธิภาพ และมีมูลค่าเพิ่มอย่างเป็นรูปธรรม ในฐานะตัวแทนรัฐบาลไทยให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับความร่วมมือระหว่างประเทศและการสร้างความสัมพันธ์อันดี เพื่อพัฒนาการค้ายางและความร่วมมือทางเศรษฐกิจด้านยางพาราของประเทศไทยและประเทศมาเลเซียให้มีความเข้มแข็งและยั่งยืน ปัจจุบันทั้งสองประเทศมีผลิตภัณฑ์ที่จะต้องบังคับใช้ภายใต้กฎระเบียบ EUDR  ทั้งสองประเทศควรจะให้ความร่วมมือทางข้อมูลและขั้นตอนในการตรวจสอบย้อนกลับตามกฎระเบียบดังกล่าว เพื่อให้ภาคเอกชนหรือผู้ประกอบการที่มีการนำเข้าผลิตภัณฑ์สู่สหภาพยุโรปมีความมั่นใจจากสินค้าที่มาจากแหล่งที่มาของทั้งสองประเทศ
 
“ ฝ่ายไทยในฐานะผู้นำด้านการผลิต หรือด้านต้นน้ำของโลก มีความยินดีในการให้การสนับสนุน เพื่อผลักดันอุตสาหกรรมถุงมือยางของมาเลเซียให้มีความยั่งยืนในฐานะผู้นำการส่งออกของโลก และทั้งสองประเทศจะเป็นผู้นำด้านการพัฒนายางพาราของอาเซียน เพื่อแสดงบทบาทในการเจรจาต่อรองกับตลาดโลกได้” ผู้แทนการค้า ย้ำ
 
ทางด้าน ดร.เพิก เลิศวังพง ประธานกรรมการการยางแห่งประเทศ กล่าวว่า ปัจจุบันผลผลิตน้ำยางสดในประเทศไทยมีแนวโน้มลดลง เพราะมีการเปลี่ยนไปผลิตเป็นยางก้อนถ้วยเพิ่มมากขึ้นตามความต้องการของตลาด ดังนั้น ในฐานะที่ประเทศมาเลเซียมีเทคโนโลยีในการผลิตถุงมือ และประเทศไทยก็เป็นแหล่งผลิตน้ำยางที่สำคัญ หากทั้งสองประเทศร่วมมือกัน จะส่งผลต่อห่วงโซ่อุปทาน ทำให้อุตสาหกรรมยางพารามีความเข้มแข็งและมั่นคง ตลอดจนเกษตรกรชาวสวนยางรายย่อยจะมีชีวิตความเป็นที่ดีขึ้น นอกจากนี้ ฝ่ายไทย ได้เสนอนโยบายของรัฐบาลของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ “โครงการโฉนดต้นยาง” เพื่อแก้ปัญหาการตรวจสอบย้อนกลับของพื้นที่ปลูกและการขาดแคลนแรงงาน ซึ่งทางมาเลเซีย มีความสนใจและมีความประสงค์ในการแลกเปลี่ยนแนวทางดังกล่าว เพื่อแก้ปัญหาห่วงโซ่อุปทานยางพาราในระยะยาว
         
“ การพบปะหารือเพื่อเจรจาระหว่างผู้แทนไทยและมาเลเซียในครั้งนี้ มีความสำเร็จอย่างยิ่งในการขับเคลื่อนความร่วมมือด้านยางพาราซึ่งเป็นสินค้าเกษตรที่สำคัญของสองประเทศในการยกระดับเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมให้มีความยั่งยืน โดยจะมีการลงนามความร่วมมือการค้าการลงทุนอุตสาหกรรมยางพาราอย่างเป็นรูปธรรมในเร็วๆ นี้  นอกจากความร่วมมือด้านยางพาราแล้ว ในด้านการค้าปี 2566 มาเลเซียเป็นประเทศคู่ค้าอันดับที่ 4 ของไทย มูลค่ารวม 25,118 ล้านดอลลาร์สหรัฐ   การค้าชายแดนไทย - มาเลเซีย มีมูลค่าสูงที่สุดของการค้าชายแดนไทยกับประเทศเพื่อนบ้านทุกประเทศ คิดเป็นประมาณร้อยละ 31 ของการค้าชายแดนทั้งหมด โดยไทยและมาเลเซียตั้งเป้าหมายการค้าที่ 30,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2568 ส่วนด้านการท่องเที่ยว  ในปี 2566 นักท่องเที่ยวมาเลเซียเดินทางมาท่องเที่ยวที่ไทยทั้งสิ้น 4,563,020 คน นับเป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติที่มาท่องเที่ยวไทยมากที่สุด” ผู้แทนการค้าไทย เปิดเผย

การยางแห่งประเทศไทย เปิดตลาดประมูลยางก้อนถ้วย EUDR  เป็นครั้งแรกในเขตภาคใต้ตอนล่าง 5 จังหวัด 

นายสุบันดริโอ มะเก๊ะ ผู้ช่วยผู้อำนวยการการยางแห่งประเทศไทยจังหวัดนราธิวาส กล่าวว่า สืบเนื่องจากสหภาพยุโรปจะเริ่มบังคับใช้กฎระเบียบ EUDR ในวันที่ 30 ธันวาคม 2567 รัฐบาลได้ให้ความสำคัญถึงกฎ EUDR ที่จะมีผลกระทบต่อเกษตรกรชาวสวนยางโดยตรง จึงได้มอบนโยบายให้การยางแห่งประเทศไทยเร่งดำเนินการให้ถูกต้องตามระเบียบนี้ ล่าสุดที่อำเภอสุคิริน จังหวัดนราธิวาส ได้เปิดตลาดประมูลยางก้อนถ้วย EUDR เป็นครั้งแรกในเขตภาคใต้ตอนล่าง 5 จังหวัด โดยกลุ่มเกษตรกรทำสวนยาง กยท.ชาวสุคิริน

ทั้งนี้ ทางการยางแห่งประเทศไทยจังหวัดนราธิวาส มีแผนที่จะขยาย EUDR ให้ได้ทั้ง 13 อำเภอ เป้าหมายเร็วๆ นี้ จะเริ่มจากกลุ่มที่เคยประมูลยางในระบบปกติก่อน ที่อำเภอเมืองนราธิวาส และอำเภอระแงะ ควบคู่กับการส่งเสริมการผลิตยางคุณภาพ เพื่อให้เกษตรกรได้รับประโยชน์ สร้างรายได้เพิ่มขึ้นและมีคุณภาพชีวิตดีขึ้น

หน้าแรก » การเมือง