วันพฤหัสบดี ที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2568 10:24 น.

การเมือง

เริ่ม 2 พ.ค. นี้! ทดลองยิง Cell Broadcast ทั่วประเทศ 50 ล้านหมายเลข 

วันพุธ ที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2568, 17.56 น.

ปภ. จับมือ 3 ค่ายมือถือ-กสทช.-ดีอี เตรียมทดสอบระบบเตือนภัยพิบัติผ่าน Cell Broadcast แบ่งเป็น 3 ระดับ ทั่วประเทศ เริ่ม 2 พ.ค. นี้ มั่นใจสมาร์ทโฟนรับข้อความใน 10 นาที ขณะที่มือถือสเปคต่ำส่งผ่าน SMS พร้อมขยายช่องส่ง 36 ล้านเบอร์ต่อครั้ง  

เมื่อวันที่ 23 เมษายน 2568 ที่กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย นายภาสกร บุญญลักษม์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) แถลงถึงการเตรียมเปิดระบบทดสอบการแจ้งเตือนภัยแบบเซลล์บอร์ดแคส (Cell Broadcast Service) อย่างเต็มรูปแบบ ร่วมกับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กรมประชาสัมพันธ์ และผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ ประกอบด้วย AIS TRUE และ NT

โดยการทดสอบจะเป็นการส่งข้อความเตือนภัยไปยังผู้รับบริการผ่านทางโทรศัพท์มือถือ 4G 5G ทั้งในระบบ iOS 18 ขึ้นไป (iPhone X ขึ้นไป) จำนวน 50 ล้านหมายเลข โดยผู้รับบริการจะต้องเปิดแจ้งเตือน Amber alert และ Emergency alert และระบบแอนดรอยด์ 11 70 ล้านหมายเลข โดยแบ่งเป็น 3 ระดับ 3 วัน

ได้แก่ วันที่ 2 พฤษภาคม 2568 เวลาประมาณ 13:00 น. ทดสอบระบบขนาดเล็ก ที่ศาลากลางจังหวัดเชียงราย อุบลราชธานี สุพรรณบุรี สงขลา และศูนย์ราชการฯ แจ้งวัฒนะ

วันที่ 7 พฤษภาคม 2568 เวลาประมาณ 13:00 น. ทดสอบระบบขนาดกลาง (อำเภอ) ที่อำเภอเมืองลำปาง อำเภอเมืองขอนแก่น อำเภอเมืองนครสวรรค์ อำเภอเมืองสุราษฎร์ธานี และเขตดินแดง กรุงเทพมหานคร

วันที่ 13 พฤษภาคม 2568 เวลาประมาณ 13:00 น. ทดสอบระบบขนาดใหญ่ (จังหวัด) ที่จังหวัดเชียงใหม่ อุดรธานี พระนครศรีอยุธยา นครศรีธรรมราช และกรุงเทพมหานคร

สำหรับความรวดเร็วในการแจ้งเตือน นายภาสกร ระบุว่า ระบบการแจ้งเตือนจะต้องมีการพูดคุยกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คือกรมอุตุนิยมวิทยา โดยกองเฝ้าระวังแผ่นดินไหว เนื่องจากมีระเบียบปฏิบัติประจำ (SOP) ที่เป็นข้อมูลในการตัดสินใจ จากนั้นจะส่งข้อมูลให้กับผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์ในช่องทางพิเศษ แล้วส่งแจ้งเตือนฉุกเฉินให้กับผู้ใช้งานไม่เกิน 10 นาที ขึ้นอยู่กับการยืนยันความถูกต้องของเหตุ ส่วนหลังจากนั้น กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จะเป็นหน่วยงานกลางในการส่งข้อมูลเพิ่มเติมในกรณีเกิดอาฟเตอร์ช็อก หรือแนวทางการรับมืออื่นๆ นายภาสกร ย้ำว่า กรมอุตุนิยมวิทยาจะเป็นผู้แจ้งเหตุให้กับประชาชนโดยตรง เฉพาะเหตุแผ่นดินไหวเท่านั้น ส่วนสาธารณภัยอื่นจะเป็นหน้าที่ของ ปภ.

ส่วนความสามารถในการส่งแจ้งเตือนให้กับประชาชนนั้น ผู้แทนเครือข่ายโทรศัพท์ ระบุว่า ระบบเซลล์บอร์ดแคส ไม่ได้จำกัดจำนวนผู้ใช้ในการส่งการแจ้งเตือน แต่เป็นการตีกรอบรัศมีพื้นที่ของผู้ที่จะรับข้อมูล ซึ่งระบบก่อนหน้าคือ Short Message หรือข้อความสั้น จะมีอุปสรรคในเรื่องของปริมาณการส่งและจำนวนอักษร ส่วนมือถือระบบ 2G 3G และที่ไม่ใช่สมาร์ทโฟน อีก 2-3 ล้านเลขหมายจะส่งแจ้งเตือนผ่าน Short Message ไม่เกิน 15 นาที ซึ่งก่อนหน้านี้ข้อจำกัดเรื่องปริมาณการส่ง ที่มีเพียงแค่ 200,000 เบอร์/ครั้ง/เครือข่าย ขณะนี้ผู้ให้บริการได้ขยายเป็น 36,000,000 เบอร์/ครั้ง/เครือข่าย ซึ่งจะส่งควบคู่กันไปพร้อมกับระบบเซลล์บอร์ดแคส

ส่วนจะควบคุมสาธารณภัยประเภทไหนบ้างนั้นทาง ปภ. มี 7 ประเภทภัย ทั้งอุทกภัย วาตภัย แผ่นดินไหว สึนามิ ภัยหนาว ฝุ่นพีเอ็ม 2.5 เพราะฉะนั้น การตัดสินใจใช้ Cell Broadcasts เพื่อแจ้งเตือนประชาชน หมายถึงเกณฑ์ต้องเป็นไปตามที่มีก่อน ไม่ใช่แจ้งทุกเหตุประเทศไทยเลย ส่วนในอนาคตจะมีภัยประเภทต่าง ๆ ทั้งภัยไซเบอร์ ด้านความมั่นคงอาชญากรรมต่าง ๆ เราก็จะเปิดในกรณีนี้ด้วยเช่นเดียวกันให้พี่น้องประชาชนรับทราบ

นายภาสกร กล่าวว่า ปภ. เป็นหน่วยงานกลางของประเทศ ไม่ใช่หน่วยงานผู้เชี่ยวชาญในทุกสาธารณภัย โดยจะมีหน่วยงานต่าง ๆ ในเรื่องดินฟ้าอากาศ อีกหลายหน่วยงานที่เป็นส่งข้อมูล ตามระเบียบปฏิบัติประจำ (SOP) ที่ทุกหน่วยงานกำหนดร่วมกันมาให้เรา และเราจะออกการแจ้งเตือนทันที ดังนั้น เราจะเป็นการรับช่วงต่อจากส่วนราชการที่แจ้งเตือนต่อ

สำหรับนักท่องเที่ยวไม่ได้ใช้ซิมในประเทศไทยนั้น นายภาสกร ระบุว่า นักท่องเที่ยวต่างชาติที่เปิดโรมมิ่งมา มือถือจะเกาะสัญญาณภายในประเทศ ไม่ว่าจะเกาะที่เสาสัญญาณไหนก็จะได้รับข้อความดังกล่าวจากระบบเซลล์บอร์ดแคส ซึ่งการทดสอบตั้งแต่ระดับขนาดเล็ก กลาง ใหญ่ คือการทำให้เครือข่ายและผู้ให้บริการได้เห็นถึงปัญหาที่จะเกิดผลกระทบในระดับต่างๆ ซึ่งในช่วงการทดสอบโทรศัพท์แต่ละเครื่องจะได้รับหนึ่งข้อความ หนึ่งครั้งเท่านั้น
 

หน้าแรก » การเมือง

ข่าวในหมวดการเมือง